ยานวดคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไร...ให้ถูกต้อง
ยานวดคลายกล้ามเนื้อ ที่หลายคนเลือกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว จากการนั่งทำงานนาน ออฟฟิศซินโดรม ทำให้เกิดปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง อย่างไรก็ตาม ยานวดคลายกล้ามเนื้อ มีหลายประเภท แล้วเราจะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง
ภญ.ณัฐพร ลิขิตสกุลชัย งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เกี่ยวกับยานวดคลายกล้ามเนื้อที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนใช้งานเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ผ่าน รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า ยานวดคลายกล้ามเนื้อ ที่ส่วนใหญ่รู้จักกัน คือ แบบร้อนและแบบเย็น แต่ความจริงยังมี ยาแบบเจล ที่ผสมยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ที่ช่วยต้านการอักเสบ หรือ เจลพริก ในอีกรูปแบบที่เป็นเจลแบบร้อน ที่บรรเทาอาการชา ปวดแสบปวดร้อน
- หากออกกำลังกาย จนกลับบ้านมารู้สึกปวดขา การใช้ยานวดแบบร้อนสามารถช่วยได้ เพราะจะช่วยเรื่องการผ่อนคลาย ช่วยให้เลือดเลี้ยงบริเวณนั้น ทำให้อาการปวดหายได้เร็วมากขึ้น
- การบาดเจ็บรุนแรง เอ็นฉีก ข้อเท้าพลิก การนวด มักจะไม่ตอบโจทย์ อาจต้องใช้การประคบก่อน คือ ประคบเย็น 24 ชั่วโมงแรก และประคบร้อนหลังจากนั้น รวมถึง อาจใช้ยาทาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือให้แพทย์ประเมินและรับประทานยาร่วมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 ท่าบริหาร ป้องกัน 'ออฟฟิศซินโดรม' ง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งยา
'ออฟฟิศซินโดรม' โรคประจำคนวัยทำงาน แก้ได้ด้วยศาสตร์สมุนไพร
'กายภาพ' บำบัดออฟฟิศซินโดรม ลดปวดคอบ่าไหล่
ยานวดแบบร้อน แบบเย็น ต่างกันอย่างไร
- แบบร้อน หากสังเกตจะเห็นว่าเป็นครีมสีขาวๆ กลุ่มนี้จะผสมตัวยา เมทิลซาลิไซเลต หรือ บางยี่ห้อ ผสมเมนทอล ทำให้เกิดการร้อน เพิ่มเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ทา นวดเพื่อผ่อนคลาย เหมาะกับแก้ปวดเมื่อย นั่งผิดท่า ปวดเมื่อยทั่วไป
- แบบเย็น มักจะทำเป็นเจลใส เป็นตัวยาเมนทอลค่อนข้างเยอะ สามารถทาเฉยๆ ไม่ต้องนวดได้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ
โดยทั่วไป อยู่ที่ว่าชอบแบบไหน เพราะบางคนชอบนวดแบบร้อน กลิ่นผ่อนคลาย หรือบางคนทนความร้อนไม่ได้ อยากแค่ให้เย็นๆ สบาย ก็เลือกใช้แบบเย็นได้
"หากเป็นแบบร้อน ที่เป็นครีมขาวๆ สามารถทาแล้วถู นวด ได้ แต่หากเป็นแบบเจล หากทาแล้วนวดไปด้วย เจลจะถลอกออกมาเป็นขุยๆ ยิ่งถู ยิ่งนวด ก็จะเป็นขุย หรือเจลบางชนิด เช่น เจลพริก หากเรายิ่งถูนวดก็จะยิ่งแสบร้อน ดังนั้น แบบเจลมักจะไม่แนะนำให้นวดร่วมด้วย"
ยานวด + ประคบ ได้ผลดีกว่าจริงหรือ
ภญ.ณัฐพร อธิบายว่า อันดับแรกต้องดูก่อนว่าสาเหตุที่ต้องใช้ยามาจากอะไร หากแค่ปวดเมื่อยทั่วไป ก็สามารถทายานวดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องประคบ แต่หากมีข้อเท้าพลิก ปวด บวด บาดเจ็บในช่วงแรก 24 ชั่วโมงแรก สามารถประคบเย็นก่อน โดยไม่ต้องทายานวด หรือทาเจลเย็น ผสมตัวยาแก้ปวดอักเสบกลุ่ม NSAIDs ได้ กลุ่มนี้ทาเฉยๆ ไม่ต้องนวด ร่วมกับการประคบเย็น และหลังจาก 24 ชั่วโมงแรก ค่อยประคบร้อน แต่ไม่จำเป็นต้องนวดร่วมกับประคบร้อน
ทายานวดบ่อยๆ มีผลข้างเคียงหรือไม่
ภญ.ณัฐพร อธิบายต่อไปว่า อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ แสบ ระคายเคือง แดง ร้อนบริเวณที่ทา หากเกิดขึ้นให้ล้างออกทันที และหากล้างน้ำเปล่ามักจะไม่ออก อาจจะต้องล้างด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด
อาการการแพ้ คล้ายกับการแพ้ยา มักจะมีอาการผื่น ปาก ตา หน้าบวม ร่วมด้วย โดยผืนที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดในบริเวณที่ทาเสมอไป อาจเกิดบริเวณอื่นได้ ดังนั้น หากมีอาการแพ้ ปาก หน้า บวม เป็นอาการที่รุนแรง แนะนำให้พบแพทย์ทันทีที่มีอาการ
การใช้ต่อเนื่องอันตรายหรือไม่
ยากลุ่มนี้ค่อนข้างใช้ได้อย่างปลอดภัย สามารถใช้ได้เรื่อยๆ แต่หากใช้นานเกินไป อาจจะมีเรื่องของผิวหนังคล้ำ ดังนั้น ให้ดูตามความเหมาะสม แต่ที่สำคัญ หากมีอาการปวดบริเวณนั้นบ่อยๆ มีอาการเจ็บบ่อยๆ ต้องปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพราะอาจจะไม่ใช่แค่อาการปวดเมื่อยทั่วไป แต่อาจมีโรคหรือปัญหาอย่างอื่นซ่อนอยู่
"การปวดเมื่อยเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอปัญหาเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ ด้วยการนั่ง การเดินแบบถูกวิธี และที่สำคัญ ตัวยาบางตัวที่เห็นว่าคนอื่นสามารถใช้ได้ แต่เราอาจจะมีอาการแพ้ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ยาหรือเลือกซื้อยาอะไรให้ปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา" ภญ.ณัฐพร กล่าวทิ้งท้าย