เปลี่ยนพฤติกรรมการกินป้องกัน ‘กรดไหลย้อน’ โรคยอดฮิตช่วง ‘ปีใหม่’ 

เปลี่ยนพฤติกรรมการกินป้องกัน ‘กรดไหลย้อน’ โรคยอดฮิตช่วง ‘ปีใหม่’ 

“กรดไหลย้อน” โรคใกล้ตัวที่มาบ่อยช่วง “ปีใหม่” ที่มีการฉลองสังสรรค์กินยันดึก จัดเต็มอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักและมีอาการแสบร้อนกลางอก จนมีคำเรียกว่า “Holiday Heartburn” 

กำลังเข้าสู่เทศกาลแห่งความสุข “หยุดยาวปีใหม่” เราต่างส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยปาร์ตี้ให้เต็มคราบ ดื่มกินให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งปี ก่อนจะต้องกลับไปทำงานในปีใหม่ แต่พฤติกรรมกินหนักดื่มหนัก มักทำให้เกิดอาการ “กรดไหลย้อน” และมักพบได้บ่อยในช่วงวันหยุดยาวที่คนมักจะกินดื่มจนดึกดื่นแล้วเข้านอนเลย เปิดปาร์ตี้หมูกระทะที่มีแต่ของมัน ๆ จนมีคำเรียกว่า “Holiday Heartburn” 

 

  • กรดไหลย้อน โรคน่ารำคาญใจ

โรคกรดไหลย้อน” หรือ GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ได้แก่ เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก จุกแสบลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว ไอแห้ง มีอาหารย้อนขึ้นมาในลำคอ มีอาการเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ รวมถึงแน่นหน้าอกได้ 

อาการเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดรำคาญให้ผู้ป่วย แต่ก็ไม่ได้จัดการปัญหาเหล่านี้ที่ต้นตอ และคิดว่าเดี๋ยวอาการเหล่านี้จะหายไปเอง โดยไม่ได้คำนึงว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งสัญญาณเตือนถึงปัญหาที่ร้ายแรง

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคกรดไหลย้อน เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ หย่อนยาน หรือเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถกั้นน้ำย่อย กรดหรืออาหารต่าง ๆ ในกระเพาะไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ 

จากการศึกษาล่าสุดของวิทยาลัยระบบทางเดินอาหารอเมริกัน พบว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีผู้เป็นโรคกรดไหลย้อนถึง 21.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ซึ่งเป็นผลมาจาก ประชากรสูงวัยขึ้น มีน้ำหนักเกิน และการซื้อหายาแก้อาการจุก เสียด แน่นท้องตามร้านขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดแบรนด์จำหน่ายยาลดกรดและรักษาโรคกรดไหลย้อนเป็นจำนวนมากทั้งในไทยและสหรัฐ สิ่งทำให้ประชาชนรู้จักโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น และหาซื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ก่อน ทำให้ยอดขายยารักษาอาการกรดไหลย้อนในสหรัฐมีมูลค่าเป็นประมาณ 440 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 40% โดย Information Resources Inc. บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและสำรวจตลาด ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1995 ยาลดกรดที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ทำยอดขายเพิ่มขึ้น 22% ด้วยมูลค่า 1,570 ล้านดอลลาร์ 

โจเอล ริกเตอร์ แพทย์และหัวหน้าแผนกระบบทางเดินอาหารของ Cleveland Clinic Foundation ชี้เห็นว่าประชาชนตระหนักรู้ถึงโรคกรดไหลย้อน สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาอาจจะไม่รู้ว่านี่เป็นสัญญาณเตือนของโรคที่ร้ายแรงกว่านี้

 

  • โรคแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน

ชาวอเมริกันประมาณ 44% มีอาการแสบร้อนกลางอกและโรคกรดไหลย้อน มีสาเหตุมาจากอาหารรสเผ็ด คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต หรือกินมากเกินไป กินแล้วนอนเลย ซึ่งหลายครั้งเพียงแค่การซื้อตามร้านขายยามากินเองอาจช่วยได้แค่บรรเทาอาการเท่านั้น เพราะโรคกรดไหลย้อน อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคหอบหืด กล่องเสียงอักเสบ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง และปัญหาทางทันตกรรม 

10% ของคนที่เสียงหายหรือเสียงแหบอยู่บ่อย ๆ เป็นเพราะผลข้างเคียงของการเป็นโรคกรดไหลย้อน อีกทั้งกรดไหลย้อยยังเป็นสาเหตุหลังอันดับที่ 3 ที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ในบางครั้งผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายหัวใจวายได้อีกด้วย รวมไปถึงเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หลอดอาหารถูกกัดกร่อนจนทำให้เป็นแผล จนกลืนอาหารได้ลำบาก 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่อาจขึ้นจากการเป็นกรดไหลย้อน ประมาณ 5% ของผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรังจะมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดอาหาร (Barrett's esophagus) โดยเยื่อบุของหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงไปจนคล้ายกับเยื่อบุของลำไส้เล็กมากกว่าหลอดอาหาร ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

ดังนั้นหาก มีอาการแสบร้อนกลางอกมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือใช้ยาลดกรดเป็นประจำ ประกอบกับอาการนอนไม่หลับ เนื่องจากรู้สึกมีกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ นอนราบไม่ได้ กลืนอาหารได้ลำบาก เสียงแหบ หายใจลำบาก หรือน้ำหนักเริ่มลด อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดหรือสารสีดำในอุจจาระ ควรต้องปรึกษาแพทย์

 

  • เปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเป็นกรดไหลย้อนช่วงหยุดยาว

โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์และสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบการกิน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่มีการสังสรรค์ต้องกินหนักดื่มหนักกว่าปรกติ สามารถเริ่มต้นด้วยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อแบ่งเบาการทำงานของกระเพาะอาหาร 

เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับกินบุฟเฟ่ต์เป็นกินเอาอิ่มไม่ใช่เอาคุ้ม ไม่กินอาหารแต่พอดี เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนี้ ไม่ควรนอนทันทีหลังจากกินอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เพื่อดูดซึมต่อไป

รวมถึงไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ ของทอด อาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ เช่น นม เนย ชีส คุกกี้ เป็นต้น อาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊ส ได้แก่ ของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด รวมถึงอาหารที่ทำจากถั่ว รวมถึงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ในปริมาณมากเกินไป เพราะทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ทั้งสิ้น


ที่มา: Baylor Scott & White HealthCBS NewsThe Wall Street Journal