'กรดไหลย้อน' โรคใกล้ตัวที่ใครก็เป็นได้ กินแล้วนอน เสี่ยง 2 เท่า

'กรดไหลย้อน' โรคใกล้ตัวที่ใครก็เป็นได้ กินแล้วนอน เสี่ยง 2 เท่า

'กรดไหลย้อน' เป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย สาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต พบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยผู้ที่มีความเสี่ยง คือ ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานแล้วนอนทันที ดื่มสุรา น้ำอัดลม สูบบุหรี่ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน เป็นต้น

Key Point : 

  • หลายคนคงเคยได้ยินว่า หากเรากินแล้วนอน จะทำให้เป็น 'กรดไหลย้อน' แต่ความจริงแล้ว กรดไหลย้อนเกิดจากหลายสาเหตุ 
  • นอกจากนี้ ยังเป็นโรคใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง คือ ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานผลไม้เปรี้ยวจัด สูบบุหรี่ โรคอ้วน เบาหวาน และผู้ที่ทานยาบางชนิด
  • การรักษา มีตั้งแต่การปรับพฤติกรรม การทานยา ไปจนถึง การตัดเย็บหูดรูดหลอดอาหาร 

 

รู้จัก กรดไหลย้อน 

ข้อมูลจาก รพ.ศิครินทร์ อธิบายว่า กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนต่อการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร

 

โรคกรดไหลย้อน เป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง โดยจะทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ หลังจากทานอาหารมื้อหนัก และมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว

 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  • หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่กลืนอาหาร
  • ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
  • พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานเสร็จแล้วนอนทันที การรับประทานของมันๆ มากเกินไป
  • ภาวะความเครียด โดยผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
  • ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม การรับประทานยาบางชนิด เป็นต้น

 

 

ความเสี่ยง กรดไหลย้อน 

โรคกรดไหลย้อน มักพบในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ไม่เพียงเท่านั้น โรคกรดไหลย้อนสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เป็นโรคใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ มีความเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

  • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานแล้วนอนทันที
  • ชอบรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ
  • ดื่มสุรา น้ำอัดลม
  • สูบบุหรี่
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า เป็นต้น

 

กินแล้วนอน ทำไมเป็นกรดไหลย้อน

หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ก็คือ พฤติกรรม “รับประทานแล้วนอน” ซึ่งการนอนจะทำให้หูรูดมีการทำงานที่ไม่ดี เกิดอาการกรดไหลย้อนขึ้นไปได้ รวมไปถึงท่านอนราบยังทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้แล้ว การรับประทานอาหารและนอนทันที ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนถึง 2 เท่า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

อาการสำคัญของกรดไหลย้อน

ทั้งนี้ โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หรือก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดอาหารขึ้น ข้อมูล จาก รพ.รามาธิบดี อธิบายอาการสำคัญของกรดไหลย้อน ไว้ดังนี้ 

  • ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ อาการนี้จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย
  • การมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก อาการเหล่านี้พบได้บ่อยในคนตะวันตก แต่ในคนไทยส่วนใหญ่อาการแสบร้อนที่บริเวณหน้าอกพบได้ไม่บ่อย และไม่รุนแรงเท่าชาวตะวันตก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอ และมีน้ำเปรี้ยวขึ้นมาในปาก ในผู้ป่วยที่มีการขย้อนน้ำและอาหารขึ้นมาขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด จนเกิดอาการปอดอักเสบได้
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ อาการหืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียงทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง

 

โรคกรดไหลย้อน กับ โรคกระเพาะอาหาร ต่างกันอย่างไร

ผู้ป่วยที่เป็น โรคกระเพาะอาหาร มักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดได้

 

ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอ เหมือนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้างหลังทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ทำให้เกิดความลำบากในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยบางราย

 

การวินิจฉัย

สำหรับ การวินิจฉัย โรคกดไหลย้อน รพ.บำรุงราษฎร์ อธิบายว่า เป็นการซักประวัติและการตรวจร่างกายทั่วไป โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนโดยใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก หากผู้ป่วยมีอาการทางหลอดอาหารเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อนสามารถวินิจฉัยโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม

การตรวจเพิ่มเติม หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำหรือรับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเตือนอื่นๆ เช่น กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อาเจียนบ่อยๆ หรือมีประวัติอาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระดำ มีอาการซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม เช่น

  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร
  • การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร

 

การรักษา

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทานอาหาร
  • ทานยาตามแพทย์สั่ง
  • การเย็บหูรูดหลอดอาหารโดยไม่ต้องผ่าตัดด้วยเทคนิค TIF
  • การตัดเย็บหูดรูดหลอดอาหาร

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากฤทธิ์ของกรดทำให้หลอดอาหารระคายเคืองจนอาจเกิดการอักเสบ เป็นแผลรุนแรงจนตีบ ทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แต่ในปัจจุบันยังพบได้น้อยมาก

 

เมื่อรักษาแล้วจะกลับมาเป็นอีกหรือไม่?

ข้อมูลจาก รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า โดยทั่วไป แพทย์จะให้ทานยาลดการหลั่งของกรดเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะมีโอกาสกลับมามีอาการได้อีก ดังนั้น การรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะให้ยาในกลุ่มเดิมเป็นระยะๆ 4-8 สัปดาห์ หรือให้ยาตามอาการ

 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องการตรวจความเป็นกรด ด่างในหลอดอาหาร หรือตรวจการทำงานของหลอดอาหาร

 

อ้างอิง : รพ.ศิครินทร์ , รพ.รามาธิบดีรพ.บำรุงราษฎร์ , รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์