'นวดผิด' ชีวิตเปลี่ยน เช็กจุดไม่ควรนวด และกลุ่มที่ต้องระวัง

'นวดผิด' ชีวิตเปลี่ยน เช็กจุดไม่ควรนวด และกลุ่มที่ต้องระวัง

หลายคนมักนิยม 'นวดไทย' หรือ 'นวดแผนโบราณ' เพื่อผ่อนคลายอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่หลายครั้งที่นวดเสร็จ กลับมีอาการระบม หรือคล้ายจะมีไข้ อาการดังกล่าวเกิดจากอะไร และจุดไหนที่ไม่ควรนวด กลุ่มไหนที่ต้องระวัง

Key Point :

  • การนวดแผนไทย หรือ นวดแผนโบราณ ช่วยให้อาการปวดส่วนต่างๆ นั้นมีอาการปวดลดลงหาย หรือดีขึ้น แต่บางครั้งกลับมาอาการไม่พึงประสงค์
  • อาการไม่พึงประสงค์หลังการนวดที่พบบ่อยได้ เช่น อาการกล้ามเนื้อระบมหลังการนวด มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไม่มีแรงหลังการนวด เป็นต้น 
  • นอกจากนี้ การนวดยังมีข้อควรระวัง ไม่ว่าจะจุดที่ห้ามนวดเด็ดขาด หรือข้อควรระวังในกลุ่มต่างๆ เช่น เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด บริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ ฯลฯ

 

การนวดไทย หรือ นวดแผนโบราณ เป็นศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทยโดยจะเน้นในลักษณะการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง และการอบ ประคบ ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ 'นวดแผนโบราณ' เพื่อการรักษา ฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น เป็นการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรค

 

บทความของ พท.ป.พิมพ์วิภา แพรกหา โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยหลังการนวด ว่า หลายครั้งที่เราจะรู้สึกว่า หลังรับการนวดแล้วอาการปวดส่วนต่างๆ นั้นมีอาการปวดลดลงหาย หรือดีขึ้น รู้สึกร่างกายได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดตึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รู้สึกถึงความสบายกาย และสบายใจหลังการรับการรักษา ซึ่งนับว่าล้วนแต่เป็นข้อดีของการนวดทั้งสิ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

อย่างไรก็ตาม บางครั้งหลังการนวด พบว่า มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการรักษาด้วยการนวด ซึ่งที่พบบ่อย คือ อาการระบม หลังการนวด

 

สาเหตุอาการระบมหลังการนวด 

1. ผู้มารับการนวดมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะมีไข้ แล้วมานวด มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ แล้วมานวด หมอนวดจึงต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายค่าความดันโลหิต ชีพจร อุณหภูมิ และอัตราการหายใจการนวดเพื่อเป็นการคัดกรองโรค หรืออาการต้องห้ามนวดเพื่อลดความรุนแรงหลังการนวด

 

2. อาการอักเสบของร่างกายผู้ถูกนวด คือ จะมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน เช่น อาการกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบเฉียบพลัน หรือในขณะที่มีอาการอักเสบของอวัยวะภายในร่างกายไม่ควรนวดรุนแรง ควรใช้เพียงการการประคบเย็นใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ และหลังจากนั้นควรใช้การประคบร้อนเพื่อลดอาการปวด ตึงของกเกินไปกล้ามเนื้อ

 

3. จากสาเหตุการกดนวด ด้วยน้ำหนักมือ แรงเกินไป โดยผู้ถูกนวดสามารถแจ้งหมอนวดว่า แรงเกินไป มีอาการเจ็บจากการนวดในขณะที่กำลังนวด เพื่อที่หมอนวดจะได้ทราบว่าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บจะได้ผ่อนน้ำหนักมือให้เบาลง

 

4. การนวดรักษาลดอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ มักจะพบอาการระบมหลังการนวดได้ง่ายกว่าการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และมักพบบ่อยในผู้ที่มารับการนวดเป็นการนวดครั้งแรก หรือห่างหายจากการนวดมานาน กล้ามเนื้อไม่คุ้นชินกับการนวด เนื่องจากผู้รับการนวดแต่ละคน มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อไม่เท่ากัน ดังนั้น หมอนวดควรต้องประเมินกล้ามเนื้อของผู้ถูกนวด ว่าควรใช้น้ำหนักมือลงแรงกด หรือควรเลือกการกดนวดแบบไหนที่เหมาะสมแก่ผู้มารับบริการการนวดแต่ละรายต่างกัน

 

 

หากระบมหลังนวด ดูแลตัวเองอย่างไร

อาการไม่พึงประสงค์หลังการนวดที่พบบ่อยได้ คือ

  • อาการกล้ามเนื้อระบมหลังการนวด
  • มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว
  • มีไข้หลังการนวด
  • รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไม่มีแรงหลังการนวด

 

โดยปกติอาการพวกนี้สามารถเกิดขึ้นได้และหายได้เองภายใน1-2 วันหลังการนวด โดยไม่ต้องรับประทานยาบรรเทาปวด อาจใช้เพียงการประคบ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆประคบบริเวณที่ปวด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

ลดการใช้งานกล้ามเนื้อ ลดการทำงานหนัก หลีกเลี่ยงการตากแดดตากฝนตากลม เพื่อป้องกันการเป็นไข้อาการก็จะสามารถหายได้เอง

แต่หากมีมีอาการรุนแรงและเป็นอยู่หลายวัน ควรรับประทานยาบรรเทาปวดได้ ถ้ายังไม่หายควรไปรับการปรึกษากับแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด หรือควรทำการส่งต่อแพทย์แผนปัจจุบัน

 

ข้อควรระวังในการนวด

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า การเข้ารับบริการการนวดแผนไทย ผู้ให้บริการนวดไทยในสถานพยาบาลต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพ สำหรับในสถานประกอบการผู้ให้บริการต้องได้รับการอบรมการนวดแผนไทยตามมาตรฐานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

 

ทั้งนี้ ตามมาตรฐานแล้วก่อนให้บริการนวดรักษาหรือนวดผ่อนคลายต้องซักประวัติและตรวจประเมินผู้มารับบริการก่อนว่า มีอาการป่วยหรือผ่านการรักษาใดๆ มาบ้าง วัดความดันโลหิตเพื่อประเมินแนวทางการรักษาหรือการนวด

 

ซึ่งหากพบว่า มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ความดันสูงเกิน 140 มิลลิเมตรปรอทและชีพจรมากกว่า 80 ครั้ง จะไม่สามารถให้บริการนวดได้ เพราะการนวดจะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้ความดันสูงขึ้น ขณะที่ความร้อนในร่างกายจะสูงขึ้นด้วย ทำให้คนเป็นไข้ยิ่งตัวร้อนขึ้น เกิดอาการอ่อนเพลีย

 

จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาด

  • ตามแนวกระดูกและหลอดเลือด
  • แนวกระดูกต้นคอ
  • แนวกระดูกสันหลัง
  • บริเวณซี่โครง
  • บริเวณข้างคอ
  • ใต้หู หลังหู
  • ต่อมน้ำเหลืองใต้คาง
  • การนวดบริเวณหลังจะเป็นการนวดตามแนวสันกล้ามเนื้อไม่ใช่บริเวณกระดูกสันหลัง

 

จุดที่ต้องระวัง

  • การกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียวไม่เกิน 45 วินาที
  • จุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆเช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา

 

ข้อควรระวังอื่น

  • กลุ่มเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้
  • โรคกระดูกพรุนรุนแรง
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กและข้อเทียม หรือจุดที่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง
  • บริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ
  • กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน
  • โรคหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง
  • โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ
  • โรคมะเร็ง
  • แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท
  • หลอดเลือดดำอักเสบ เป็นต้น

 

บีบนวดผิดวิธีเสี่ยงเป็นโรคเก๊าต์

หลายๆคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุชอบที่จะนวดคลายเส้น หรือนวดแผนโบราณต่างๆ เพื่อความผ่อนคลายหรืออาจจะเพื่อสุขภาพ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า หากทำการบีบนวดอย่างผิดวิธีอาจจะส่งให้เป็นโรคเก๊าต์ได้แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากๆ ก็ตาม

 

โรคเก๊าต์ เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดข้อ ข้อบวม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนมากจะเกิดบริเวณข้อโคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า และยังสามารถเกิดขึ้นกับข้ออื่นๆ ในร่างกายได้

 

การอักเสบของโรคเก๊าต์ 

การอักเสบในโรคเก๊าต์เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีระดับกรดยูริคในเลือดสูง หรือสูงขึ้นอย่างทันที เช่น การรับประทานเหล้าเบียร์หรืออาหารที่มีปริมาณกรดยูริคสูง หรือการลดกรดยูริคในเลือดด้วยการรับประทานยาลดกรดยูริคก็อาจทำโรคกำเริบได้

 

ส่วนการนวดนั้นหากเป็นการบีบนวดธรรมดา ปกติแล้วไม่ทำให้เกิดการกำเริบของโรค เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับกรดยูริคในเลือด เว้นแต่ถ้าการบีบนวดนั้นทำด้วยความรุนแรงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบบริเวณข้อ จนทำให้เกิดการกำเริบได้

 

หรือการบีบนวดนั้นไปโดนบริเวณที่มีการสะสมของกรดยูริคใต้ผิวหนังเป็นก้อนที่เรียกว่า ก้อนโทฟัส (Tophus) ก็อาจทำให้มีกรดยูริคเข้ามาในเลือดหรือกรดยูริคสะสมไปที่ข้อทำให้เกิดการอักเสบของข้อได้

 

 

อ้างอิง : คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , รพ.รามาธิบดี , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก