ยิ่งมาตรฐานสูง ชีวิตก็ยิ่งแย่? เสพติด 'ความสมบูรณ์แบบ' ทำให้ความสุขลดลง
เรื่องงานต้องเก่งที่สุด ชีวิตต้องดีที่สุด ชอปปิงก็ต้องคุ้มที่สุด เมื่อโลกนี้เรียกร้องความสมบูรณ์แบบ และเต็มไปด้วยการจัดเรตติ้งกับทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้ผู้คน "ความสุขลดลง" และเสี่ยง "ซึมเศร้า" ง่ายขึ้น
Key Points:
- คนเราต้องการ "ตั้งปณิธานปีใหม่" เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้ไปถึงไหน? ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การเป็นเราทุกวันนี้อาจจะดีอยู่แล้วก็ได้
- นักจิตวิทยา ชี้ การรู้สึกว่า "ดีพอแล้ว" อาจดีต่อสุขภาพจิตใจมากกว่าตั้งหน้าตั้งตาที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบในทุกอย่าง
- คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ และทุ่มเทสุดชีวิตกับทุกอย่าง มักจะมีความสุขในชีวิตน้อยลง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และเกิดการเปรียบเทียบทางสังคมในเชิงลบมากกว่า
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาสำนักข่าว The Guardian ได้รายงานเกี่ยวกับประเด็น “การตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution)” ที่หลายๆ คนนิยมทำเป็นประจำในแต่ละปี ซึ่งได้ตั้งคำถามชวนคิดไว้ว่า คนเราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นกว่านี้ไปถึงไหน? ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วการเป็นเราทุกวันนี้อาจจะดีอยู่แล้วก็ได้
- ผู้คนเสพติดการจัดอันดับ - จัดเรตติ้ง จนเครียดกับการเลือกสิ่งของทุกอย่างที่จะต้องให้คุ้มที่สุด
แบร์รี ชวาตซ์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนในยุคนี้กำลังติดหล่มของความสมบูรณ์แบบกับทุกอย่างในชีวิตจนทำให้ความสุขลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งการชอปปิง!
ยกตัวอย่างในแง่ของการชอปปิง แบร์รีพบว่าเรากำลังเผชิญกับทางเลือกของผู้บริโภคที่ไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ใดๆ ก็ตาม มักจะมีผู้ซื้ออยู่ 2 ประเภทคือ
1. ถ้าดีก็ซื้อเลย : คนกลุ่มนี้จะ “พึงพอใจ” และยินดีเลือกซื้อสินค้าที่ดีเพียงพอ และจะไม่เสียเวลาอ่านบทวิจารณ์ผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายการ
2. ต้องซื้อให้คุ้มที่สุด : คนกลุ่มนี้ต้องการ “ความพึงพอใจสูงสุด” ไม่ว่าของจะถูกจะแพง ก็ต้องดูคะแนนเรตติ้ง และเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ ร้านก่อนซื้อ พวกเขารู้สึกว่าถูกบังคับให้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อเปรียบเทียบผู้ซื้อทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะพบว่ากลุ่มหลังเกิดความหมกมุ่นมากกว่ากลุ่มแรก ยิ่งพวกเขามีตัวเลือกให้เลือกมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเครียดมากเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องตัดสินใจยากขึ้น และหากเลือกผิดก็จะเสียใจกับผลลัพธ์นั้นมากขึ้น
แม้เราจะไม่อยากให้ตัวเองเป็นแบบนักช้อปกลุ่มที่สอง แต่น่าเสียดายที่โลกยุคนี้เต็มไปด้วย “การจัดอันดับหรือจัดเรตติ้ง” ให้แก่สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “พรมเช็ดเท้าที่ดีที่สุดปี 2023” หรือ “แปรงขัดห้องน้ำที่ดีที่สุด” รวมไปถึงการจัดอันดับหนัง, เพลง, ร้านอาหาร, โรงแรม, บริษัท, หุ้น, ศูนย์การค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ทุกอย่างจะต้องดีที่สุดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
- การทำงานที่มุ่งสู่การเป็นคนเก่งที่สุด ดีที่สุด บางครั้งทำให้กลายเป็น Perfectionist จนไม่มีความสุขในชีวิต
ขณะเดียวกัน ในแง่ของการทำงานก็พบว่าคนเราถูกผลักให้ต้องอยู่ในโลกแห่งความสมบูรณ์แบบเช่นกัน มีผลการศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ทำงานทุ่มเท และมีประสิทธิภาพมักจะทำงานได้ดีกว่า และก้าวหน้าในอาชีพได้มากกว่า ซึ่งการมี “มาตรฐานสูง” ของพวกเขาก็ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี แต่ถึงอย่างนั้น.. พวกเขากลับรู้สึกแย่กับชีวิต คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ และทุ่มเทสุดๆ มักจะมีความสุขในชีวิตน้อยลง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และเกิดการเปรียบเทียบทางสังคมในเชิงลบมากกว่า
อีกทั้งหลายคนมักวัดผลคุณภาพชีวิตของตัวเอง ด้วยการติดตามจำนวนก้าวเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจวัดการนอนหลับ ตรวจสอบน้ำหนักและ ค่า BMI ประเมินการมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงหมกมุ่นอยู่กับตัวชี้วัดประสิทธิภาพในที่ทำงาน (KPI) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความต้องการที่จะเพิ่มศักยภาพตนเองให้สูงที่สุด ได้ซึมซับเข้าไปในเกือบทุกแง่มุมของชีวิตเรา มันกำหนดวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และการอยู่รอดในสังคม
ณ จุดๆ หนึ่งความปรารถนาที่จะเป็นคนที่ดีที่สุด และได้รับสิ่งที่ดีที่สุด อาจกลายเป็นความเข้าใจผิด และเป็นกับดักชีวิตได้ แล้วจะทำอย่างไรให้คนเรากลับมาใช้ชีวิตได้สมดุล และมีความสุขมากขึ้นโดยไม่ติดกับดักความสมบูรณ์แบบ?
ประเด็นนี้ อัฟราม อัลเพิร์ต ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Good-Enough Life ที่เผยแพร่ในปี 2022 ได้สะท้อนมุมมองความคิดเห็นไว้ว่า ความทะเยอทะยานของบุคคล และระบบสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นตัวการขับเคลื่อนให้โลกนี้เรียกร้องความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นต้นตอของแนวคิดแบบผิดๆ มากมายในโลก มันผลักดันให้เกิดการบริโภคมากเกินไป ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง ซ้ำเติมความไม่เท่าเทียม และยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้ผู้คนมากขึ้น (ถูกขังอยู่ในการแข่งขันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด)
- การปรับมุมมองความคิดให้สมดุล ยอมรับว่าตนเองดีพอแล้ว ช่วยสร้างความสุขในชีวิตได้มากขึ้น
ดังนั้น แทนที่คนเราจะแย่งชิงตำแหน่งสูงสุดที่มีอยู่เพียงไม่กี่ตำแหน่ง แต่อัลเพิร์ตให้คำแนะนำว่า เราทุกคนจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ หากลดความสำคัญของลำดับชั้นทางสังคมเหล่านั้น และไม่ปลูกฝังแนวคิดผิดๆ ให้ผู้คนวิ่งไล่ตามความมั่งคั่ง ชื่อเสียง หรืออำนาจอีกต่อไป แต่หันมาให้ความสำคัญกับความสามารถเฉพาะของแต่ละบุคคล
“ตามหลักการแล้ว คุณสมบัติต่างๆ เช่น ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ จะต้องได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าพอๆ กับความฉลาดทางวิทยาศาสตร์หรือความคิดสร้างสรรค์”
ในแง่ของหน้าที่การงาน เราควรทำความเข้าใจว่าการทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งได้สำเร็จ ย่อมไม่ใช่ความสำเร็จของซีอีโอเพียงคนเดียว แต่มันคือ ชัยชนะของทุกคนในองค์กรที่มีทักษะ และความสามารถที่แตกต่างกันเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นเราจึงควรพึงระลึกไว้ว่า ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวไม่ใช่ของเราเพียงผู้เดียว
ขณะที่ในแง่การใช้ชีวิต หากลองนึกถึงเวลาที่เราชื่นชมหรือชอบใครสักคน เราอาจไม่ได้ชอบเขาด้วยเหตุผลที่ว่าเขาดีที่สุด เก่งที่สุด เพอร์เฟกต์ที่สุด แต่แค่เป็นคนที่ดีพอแล้วสำหรับเรา ดังนั้น เราควรมองตัวเองในแง่นั้นด้วยเช่นกัน ยอมรับว่าตัวเราเองก็ไม่ต้องเพอร์เฟกต์หรือสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่างก็ได้ นั่นน่าจะทำให้หลายๆ มีเป้าหมายการใช้ชีวิตในปีนี้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ดังนั้นในปีใหม่ 2567 นี้ คุณอาจจะไม่ต้องการ “ปณิธานปีใหม่” ที่ต้องทำสิ่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกปี เพียงแต่ค้นหาว่าสิ่งใดที่ตนเองรู้สึก “ดีพอแล้ว” ก็ให้คงสิ่งนั้นไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะหันมาตั้งเป้าหมายอื่นๆ ให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น (เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น รับประทานอาหารดีขึ้น มีงานอดิเรกเพื่อการพัฒนาตนเอง ฯลฯ) ยังคงทำได้เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องไม่รู้สึกเครียดที่จะต้องทำมันแค่นั้นเอง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์