เผยเคล็ดลับตั้ง ‘ปณิธานปีใหม่’ ให้สำเร็จไม่ล้มเลิกกลางคันทำไม่สำเร็จ
เคยเป็นไหม? ตั้ง “ปณิธานปีใหม่” ไว้อย่างดีแต่กลับทำไม่สำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญเผยเป็นเพราะ “เป้าหมาย” ใหญ่เกินไป ทำได้ยาก จนไม่อยาก “เปลี่ยนแปลงตัวเอง” พร้อมเผยเคล็ดลับที่จะทำให้ทำตามปณิธานได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ล้มเหลวไปกลางทาง
เข้าสู่ ปี 2024 เรียบร้อยแล้ว หลายคนตั้งปณิธานเอาไว้ว่า “ปีใหม่” จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ (New Year’s Resolution) อะไรไม่ดีทิ้งมันไปในปีเก่า ปีใหม่ทั้งทีต้องทำอะไรดี ๆ ให้ตัวเอง ออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น เลือกกินแต่ของดี ๆ หมายมั่นจะเป็น “New Year New Me” แต่ทำไปได้แป๊บเดียว ไม่ถึงสัปดาห์ บางคนยังไม่ได้ทำด้วยซ้ำ ก็ล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว กลับไปเป็นคนเก่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร (มั้ง ?)
“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนไขข้อสงสัยอะไรที่ทำให้คนเราล้มเลิกเป้าหมายปีใหม่ที่แพลนไว้อย่างง่ายดาย และพอจะมีทางไหนที่ให้มีกำลังใจทำมันให้ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ?
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราควรหาคำตอบให้ได้ก่อนว่า เราตั้ง “ปณิธานปีใหม่” กันทำไมทุกปี
- ปีใหม่ ปณิธานใหม่
เจนนิเฟอร์ โควอลสกี ที่ปรึกษามืออาชีพกล่าวกับ Verywell Mind เว็บไซต์ให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพจิต ว่า “ปีใหม่คือการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งผู้คนต่างต้องการบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสัญญาณว่าถึงช่วงเวลาที่ต้องกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อช่วงสิ้นปีมาถึง การตั้งเป้าหมายในปีใหม่จึงเป็นเหมือนประตูแห่งการเริ่มต้นใหม่”
ขณะที่ เคที มิลค์แมน ศาสตราจารย์จาก Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ชี้ให้เห็นว่า การตั้งปณิธาน เป็นตัวอย่างสำคัญของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง” (Fresh Start Effect) เพราะการเปลี่ยนปีทำให้ผู้คนรู้สึกถึงการเริ่มต้นใหม่และกระตุ้นให้พวกเขาทำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
อันที่จริงวันหยุดอื่น ๆ วันเกิด และแม้แต่วันจันทร์ก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ เพราะให้ความรู้สึกเหมือนกับได้หยุดพักไปช่วงเวลาหนึ่ง และพลังแห่งการเริ่มต้นจะทำให้มนุษย์มีแรงจูงใจเพิ่มเติมในการติดตามการเปลี่ยนแปลง
การตั้งปณิธานปีใหม่มีจุดเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่ดี การมองโลกในแง่ดี หาสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง แต่ผลสำรวจของ Forbes Health/OnePoll ในเดือนตุลาคม 2023 พบว่า 61% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลับรู้สึกกดดันที่จะต้องตั้งปณิธานปีใหม่ มากกว่าแค่อยากจะท้าทายตัวเอง
- ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
เทอร์รี บลาย นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่าปณิธานของปีใหม่มักจะล้มเหลวในเวลาไม่นาน เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป เช่น กินให้น้อยลง ออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน
“สิ่งที่เรามักทำผิดพลาดเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายในปีใหม่ คือ เรามักจะตั้งเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่เอาไว้ก่อน เพราะมันฟังดูเซ็กซี่ แต่ในฐานะมนุษย์แล้ว เราไม่พร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
เมื่อเรารู้สึก “ไม่พร้อม” ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นั่นก็หมายความว่าปณิธานปีใหม่ได้ล้มเหลวไปแล้ว
“การเปลี่ยนแปลงตัวเอง” เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้าเราตั้งเป้าหมายขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่ได้มี “เหตุผล” รองรับว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะยิ่งทำได้ยากเข้าไปอีก ดังนั้นปณิธานปีใหม่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย ถ้าเราไม่มีเหตุผลมากพอที่ทำให้ตัวเองเชื่อว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอีกปีที่เราลงเอยด้วยความล้มเหลว
“ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอะไร แต่ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราต้องทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร เราก็จะไม่อยากทำ สุดท้ายเราก็จะได้แต่เจ็บปวดที่เห็นเป้าหมายไม่สำเร็จไปอีกปี” บลายกล่าวสรุป
- ตั้งเป้าหมายเล็กทำตามได้ง่าย
การตั้งเป้าหมายปีใหม่ที่ดีจะต้องไม่ใหญ่จนเกินไป และสามารถเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่อยากทำ และควรแน่ใจว่าถ้าได้ทำสิ่งนั้นแล้ว ชีวิตของเราจะดีขึ้น คุ้มค่ากับการลงมือทำ
การสำรวจของ YouGov บริษัทวิจัยตลาดและวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อปี 2019 พบว่า มีชาวสหรัฐเพียง 16% ที่สามารถทำตามเป้าหมายปีใหม่ได้สำเร็จตลอดปี ขณะที่อีกประมาณ 44% ของคนที่ตั้งปณิธานปีใหม่ ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ไม่ครบทุกข้อ หมายความว่าราว 60% สามารถทำตามเป้าหมายได้ โดยยึดเอาปณิธานที่ตั้งไว้มาปรับปรุงการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ
มิลค์แมนกล่าวว่า “ปณิธานปีใหม่ไม่ได้ต่างจากการตั้งเป้าในชีวิตครั้งอื่น ๆ ซึ่งปณิธานที่ดีจะสามารถทำให้คุณก้าวไปข้างหน้าได้มากกว่าปรกติเล็กน้อย และไม่ฝืนให้คุณทำในสิ่งที่ไม่อยากทำมากเกินไป”
- เคล็ดลับที่จะทำให้ปณิธานปีใหม่เป็นไปได้จริง
อายเล็ต ฟิชบาค ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์และการตลาด แนะนำตั้งปณิธานปีใหม่ในเวลาที่เหมาะสม โดย ฟิชบาช กล่าวว่า เมื่อเราวางแผนสำหรับอนาคต มักเกิด “ช่องว่างแห่งความเห็นอกเห็นใจ” (Emphaty Gap) เพราะเรานึกไม่ออกว่าเมื่อเราสถานการณ์หรือความรู้สึกนั้น เราจะทำตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ดังนั้นฟิชบาชแนะนำให้ตั้งปณิธานตอนที่เรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่
“พอเราอิ่ม เราไม่รู้หรอกว่าตอนหิวรู้สึกอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันเหนื่อยขนาดไหน ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกาย ดังนั้นถ้าคุณจะตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายให้หนักขึ้น คุณควรวางแผนตอนที่คุณกำลังกายดู”
ขั้นต่อมา คือ จัดทำแผนที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายของคุณ รวมไปถึงการหาวิธีขจัดอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และหาแรงจูงใจเพิ่มเติม สมมติว่าปณิธานของคุณคือออกกำลังกายให้มากขึ้น ให้คิดไว้เลยว่าควรจะออกกำลังกายวันไหน สถานที่ไหน และจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร
รวมไปถึงหาวิธีทำให้เป้าหมายสนุกมากขึ้น เพราะถ้าเราสนุกกับสิ่งที่ทำ หรือเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ก็จะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยหนึ่งในวิธีที่จะสร้างแรงจูงใจในการทำตามปณิธานได้ง่ายขึ้น คือการมัดรวมสิ่งล่อใจ (Temptation Bundling)
ถ้าคุณอยากออกกำลังกายมากขึ้น แต่เป็นคนไม่ชอบออกกำลังกายเลย ลองเอาสิ่งที่คุณชอบมาทำร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น ออกกำลังกายไปปพร้อมกับฟังเพลงโปรด ดูซีรีส์ไปด้วย หรือถ้าเป้าหมายคือการกินอาหารสุขภาพ ลองทำอาหารกินเอง หรือจัดปาร์ตี้เมนูสุขภาพกับเพื่อน
เมื่อได้ปณิธานใหม่แล้ว ก็ลบสิ่งต่าง ๆ ออกจากชีวิต เช่น กิจกรรมที่คุณไม่ได้มุ่งมั่นอีกต่อไป เพื่อให้คุณมีพื้นที่สำหรับเป้าหมายใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรคิดว่าตัวเองล้มเหลว ถ้าหากทำตามเป้าหมายไม่ได้ 100% และหันมาเฉลิมฉลองกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณทำได้ เพราะไม่มีอะไรที่ได้มา โดยไม่มีอุปสรรคเสียเลย
ที่มา: Chicago Tribune, TIME, Unilad, Wall Shington Post