ชวนพ่อแม่! เช็กพัฒนาการลูก 'ศูนย์Tele consult' ลดเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
‘เทศกาลวันเด็ก’ ปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 สธ.ได้มอบของขวัญวันเด็ก '‘เปิดศูนย์ Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ’ การแพทย์ทางไกล เพื่อสร้างพัฒนาการสมวัยของเด็กไทยทุกคน ลดปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
Keypoint:
- สธ.มอบของขวัญวันเด็ก 'เปิดศูนย์ Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ' ส่งเสริมสร้างพัฒนาการสมวัยให้แก่เด็กไทย แก้ปัญหาเด็กเกิดยาก เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
- ปัจจัยที่มีผลบวกต่อสถานะพัฒนาการของเด็ก ต้องได้รับคู่มือ DSPM มีการอ่านและใช้คู่มือ พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก เป็นเด็กเลี้ยงง่าย และความสัมพันธ์ของพ่อแม่ของเด็ก พ่อแม่อยู่ด้วยกัน
- 3 เรื่องที่เด็กไทยต้องได้รับพัฒนาการ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นภาษาที่สอง ความคิดริเริ่ม และเสริมภาวะผู้นำ
‘กระทรวงสาธารณสุข’ อีกหนึ่งกระทรวงที่มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของเด็กไทยทุกคน ได้ ‘เปิดศูนย์ Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ’ การแพทย์ทางไกล เพื่อสร้างพัฒนาการสมวัยของเด็กไทยทุกคน
สถานการณ์ของเด็กไทยที่มีพัฒนาการล่าช้านั้น จากข้อมูลการคัดกรองตั้งแต่ปี 2014 -2018 พบว่าเด็กไทยที่มีพัฒนาการล่าช้าลดลงอย่างมีนัยนะสำคัญ ซึ่งปี 2014-2015 จะเป็นช่วงปีแรกที่พิจารณาเด็กในช่วง 0-6 ปี ซึ่งมีจำนวนเด็กพัฒนาการล่าช้า 27.2%
ส่วนปี 2015- ปี 2018 จะพิจารณาเด็กในช่วง 0-5 ปี พบว่า
- ปี 2015 มีเด็กพัฒนาการล่าช้า 19.51%
- ปี 2016 มีเด็กพัฒนาการล่าช้า 22.75%
- ปี 2017 มีเด็กพัฒนาการล่าช้า 21.20%
- ปี 2018 มีเด็กพัฒนาการล่าช้า 12.14%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding
เปิดศูนย์ Tele consult ของขวัญวันเด็กปี 67 จากสธ.
วันนี้ (11 มกราคม 2567) ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ,พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารสธ. ได้มาร่วมมอบของขวัญมอบของขวัญวันเด็ก 2567 การแพทย์ทางไกล เพื่อสร้างพัฒนาการสมวัยของเด็กไทยทุกคน ‘เปิดศูนย์ Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ’ และการประชุมวิชาการพัฒนาการเด็กแห่งชาติ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ในปีนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็ก ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ซึ่งถือเป็นคำขวัญที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีคิด วิธีมองโลกอย่างสร้างสรรค์ และเคารพความแตกต่างของมนุษยชาติ
ดังนั้น การมอบของขวัญวันเด็ก ในปี 2567 และ ‘เปิดศูนย์ Tele consult พัฒนาการเด็กแห่งชาติ’ เพื่อพัฒนาการสมวัยของเด็กไทยทุกคน ถือเป็นของขวัญวันเด็กที่ล้ำค่า เพราะเป็นหลักประกันในการดูแลสุขภาพของเด็กไทย ให้มีพัฒนาการสมวัย ปลอดภัยจากโรค
“เด็กทุกคนที่เกิดบนโลกใบนี้ ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถทำให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ ด้วยการฝังซิปให้เป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี และมีมายเซตที่ทันสมัย การที่เด็กไทยเก่ง มีศักยภาพ มีความคิดทันสมัย จะเป็นพลัง แรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวหน้า มีความมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการทำให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในตนเอง” นพ.ชลน่าน กล่าว
พัฒนาเด็กให้สมวัย แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
รมว.สธ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สธ. จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมการเพิ่มเด็กไทยให้เกิดอย่างมีคุณภาพ จึงได้มีการผลักดันส่งเสริมการมีบุตร เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่มุ่งหวังดูแลลูกหลาน ดูแลประชากร การพัฒนาคุณภาพประชากร โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ส่งเสริมสร้างพัฒนาการสมวัย การเฝ้าระวัง พัฒนาคัดกรองเด็กในการใช้คู่มือ DSPM ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก
“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กได้รับการคัดกรองพัฒนาการแล้วเฉลี่ยมากกว่า 7,000 คน ต่อปี ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาเด็กเกิดยาก เกิดน้อย และด้อยคุณภาพ ที่สำคัญเป็นการทำให้ทุกคนตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น และเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว จะเป็นการช่วยให้เด็กที่มีพัฒนาการล้าช้าในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และศูนย์ดังกล่าวจะเป็นที่ปรึกษาให้แก่รพ.ต่างๆ เชื่อว่าศูนย์ Tele consult จะทำให้เด็กสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีพัฒนาการสมวัย” รมว.สธ. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถให้ทุกที่ทุกแห่งอยู่ใกล้กันได้ แนวคิดที่สธ.ใช้บัตรประชาชนใบเดียวในทุกที่ จึงเกิดมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ การดูแลพัฒนาการของเด็กก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดเดิมๆ และเพิ่มมิติการดูแลเด็กได้มากขึ้น
ดูแลเด็กพัฒนาการล่าช้า ต้องบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ
ด้าน นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะที่รายงานข้อมูลการติดตามช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ ด้วย TEDA4I ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2562 พบว่า เด็กที่มีภาวะออทิสติก จะไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ซึ่งการใช้เครื่องมือDSPM และTEDA4I เมื่อพบเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ด้าน RL (Receptive Language หรือ พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา)EL (Expressive Language หรือพัฒนาการด้านการใช้ภาษา) และPS (Personal and Social หรือพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม) จะถือว่าเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงภาวะออทิสซึม
“ในการดูแลเด็กพัฒนาการล่าช้านั้น ต้องมีการบูรณาการพัฒนาการเด็กไทยไร้รอยต่อ เป็นกระบวนการดูแล เฝ้าระวัง และส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการดูพัฒนาการเด็กในอนาคต ควรจะมีการเพิ่มเติมเรื่องของประสบการณ์เริ่มแรกที่มีผลต่อสุขภาพและการเรียน โดยแนวคิดใหม่ต้องเน้นการป้องกันและส่งเสริม”นพ.วัลลภ กล่าว
3 เรื่องที่เด็กไทยต้องได้รับพัฒนาการอย่างเร่งด่วน
นพ.วัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ต้องมีการใช้กระบวนการ Executive Function in Early Childhood Period หรือการพัฒนาทักษะการคิดเชิงจัดการความคิด หรือการทำงานสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตนเองต้องการสำเร็จ จะมีการดำเนินการคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย(DSPM) มีการฝึกทักษะ EF 30 ข้อ สำหรับพ่อแม่ ผู้ช่วยเหลือ เพื่อส่งเสริม และสร้างตความท้าทายโดยการเพิ่มความยากทีละน้อย ซึ่งEF ความเฉลียวฉลาดจำเป็นสำหรับความสำเร็จจั้งแต่โรงเรียน ทำให้ได้คนดีของครอบครัว ชุมชน และประเทศ
“3 เรื่องที่เด็กไทยต้องได้รับพัฒนาการ คือ1. ภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นภาษาที่สอง 2.ความคิดริเริ่ม และ3.เสริมภาวะผู้นำ โดยปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาเด็กนั้น ทุกภาคส่วนต้องรักเด็ก อยากเห็นประเทศไทยก้าวหน้า บูรณาการในการทำงานกันจริงๆ” นพ.วัลลภ กล่าว
ระบบเพื่อดูแลเด็กไทย ต้องทำทั้งระดับนโยบายและปฎิบัติการ
พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า DSPM มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจะการหาค่าเกณฑ์ปกติ(Norm) ของเด็กไทย และเป็นคู่มือกลางสำหรับเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยทุกคนของกระทบ
เริ่มใช้คู่มือดังกล่าวอย่างเป็นระบบเมื่อปี 2558 ซึ่งมีการส่งเสริมเกี่ยวกับ EF 30 ข้อ และอยู่ในมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กแห่งชาติ มีการพัฒนาระบบการลงรายงานใน HDC (Health Data Center) และทดสอบความไว และความจำเพาะ เทียบกับแบบทดสอบพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Denver II)
สำหรับกระบวนการพัฒนาระบบเพื่อดูแลเด็กไทยนั้น จะมีการบูรณาการทั้งระดับนโยบายและระดับปฎิบัติการของแต่ละหน่วยงาน โดยมีกิจกรรมตั้งแต่การเฝ้าระวัง ส่งเสริม คัดกรอง(ประเมิน) ส่งต่อ การดูแล/รักษา และการฟื้นฟู ทั้งนี้ ผลการประเมินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2563 ผู้เลี้ยงดูหลักได้รับคู่มือ DSPM 62% และไม่ได้รับคู่มือ 38%
เด็กไทยมีพัฒนาการปกติ 46.9% สงสัยล่าช้า 53.1%
พญ.ศิริพร กล่าวต่อไปว่าจากการจำแนกเด็กตามสถานพัฒนาการและกลุ่มอายุ จำนวน 3,970 ราย พบว่า มีพัฒนาการปกติ 46.9% สงสัยล่าช้า 53.1% โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ ดังนี้ เด็กอายุ 9 เดือน (780 ราย) มีพัฒนาการปกติ 70% สงสัยล่าช้า 30% อายุ 18 เดือน (823 ราย) มีพัฒนาการปกติ 47.4% สงสัยล่าช้า 52.6% อายุ 30 เดือน(809) มีพัฒนาการปกติ 37.8% สงสัยล่าช้า 62.2% อายุ 42 เดือน(794) มีพัฒนาการปกติ 38.2% สงสัยล่าช้า 61.8% และ อายุ 60 เดือน (764)มีพัฒนาการปกติ 41.6% สงสัยล่าช้า 58.4%
โดยในจำนวนเด็ก 3970 มีเด็กที่มีพัฒนาการล้าช้าทุกด้าน 215 คน แบ่งเป็นอายุ 9 เดือน 5 คน (2.4%) อายุ 18 เดือน 11 คน (5.1%) อายุ 30 เดือน 99 คน (46%) อายุ 42 เดือน 59 คน (27.4%) และอายุ 60 เดือน 41 คน (19.1%)
ปัจจัยที่มีผลบวกต่อพัฒนาการของเด็ก
ปัจจัยที่มีผลบวกต่อสถานะพัฒนาการของเด็ก คือ
- การได้รับคู่มือ DSPM มีการอ่านและใช้คู่มือดังกล่าว
- พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก เป็นเด็กเลี้ยงง่าย
- ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ของเด็ก พ่อแม่อยู่ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปีงบประมาณ 2566 พบว่า เด็กที่มีพัฒนาการสมวัย มีประมาณ 82.1% ส่วนเด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า มีประมาณ 22.5% และพัฒนาการที่สงสัยล่าช้า จะเป็นด้าน EL และRL
“แนวทางในการดำเนินการพัฒนาการของเด็ก จะมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีการใช้คู่มือ DSPM และเครื่องมือ TDAS ให้มากขึ้น เพื่อการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรก และตรวจการได้ยินด้วย OAF รวมถึงสื่อสารให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก เข้าใจ ตระหนัก และดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย การประเมินการได้ยินและการมองเห็นของเด็กตั้งแต่หลังคลอด เฝ้าระวังพัฒนาต่อเนื่องโดยพ่อแม่ ครอบครัว และผู้ดูแลเด็ก อีกทั้งมีการนำคู่มือดังกล่าวเข้าไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อดูแลพัฒนาการของเด็กไทย”พญ.ศิริพร กล่าว