'รพ.จุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' อันดับ 5 สุดยอดองค์กรแห่งปี กลุ่มรพ.รัฐ
รพ.จุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับการจัดอันดับ 5 ของกลุ่มโรงพยาบาลรัฐ จากผลสำรวจของ 2023-2024 Thailand’s Most Admired Company สุดยอดองค์กรแห่งปี พร้อมมุ่งมั่นสร้างการแพทย์เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยตามพระปณิธาน
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับการจัดอันดับติด 1 ใน 5 สุดยอดองค์กรแห่งปีกลุ่มโรงพยาบาลรัฐจากผลสำรวจของ 2023-2024 Thailand’s Most Admired Company ซึ่งเป็นโครงการงานวิจัยที่นิตยสาร BrandAge จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยศึกษาทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายต่อ 24 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ท่ามกลางการดำเนินชีวิตของคนเมืองต่อปัจจัยในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทหรือองค์กรจนเป็นที่ยอมรับ
โดยใช้หลักเกณฑ์การชี้วัดความชื่นชอบของผู้บริโภคที่มีต่อองค์กรที่มีความสามารถโดดเด่นใน 6 ด้าน ได้แก่ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ภาพลักษณ์องค์กร การบริหารการจัดการ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการบริการ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 6.67 อยู่อันดับที่ 5 ในกลุ่มโรงพยาบาลรัฐ (ที่มา: https://www.brandage.com/article/37557)
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผู้รับบริการในทุกมิติเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การให้บริการวิชาการและวิชาชีพสู่สังคม การสื่อสาร เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยและการแพทย์ที่เป็นเลิศในระดับสากลและเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยตามพระปณิธาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน ! เช็ก 5 สัญญาณเตือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
"ประกันสังคม - รพ.จุฬาภรณ์" ดูแลผู้ประกันตน ป่วยหัวใจและหลอดเลือด
รพ.จุฬาภรณ์ รักษาการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 จากพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่จะช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ ต่อมาด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชน ทรงมีพระดำริให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง
ส่วนต่อขยายเพิ่มเติมการให้บริการทางการแพทย์เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกโรคให้กับประชาชน พร้อมทั้งทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีภารกิจด้านการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ
เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ที่เป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งสอดคล้องตามพันธกิจหลักของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั้งในด้านการจัดการศึกษา การวิจัยสร้างนวัตกรรม การบริการด้านสุขภาพที่เป็นเลิศ โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี
เปิดบริการทางการแพทย์ครอบคลุมกลุ่มโรคเฉพาะทาง
ปัจจุบัน รพ.จุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยจากทั่วทุกภูมิภาคครอบคลุมทุกกลุ่มโรคเฉพาะทางด้านต่าง ๆ โดยเปิดให้บริการทางแพทย์ทั้งหมด 4 อาคาร ประกอบด้วย
1. อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ
2. อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 เขตหลักสี่ ซึ่งเน้นให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งครบทุกมิติ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานในระดับสากล
3. อาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ (ขณะนี้ปิดปรับปรุงอาคาร แต่ยังคงเปิดให้บริการเฉพาะในส่วนของ ARI Clinic ด้านหน้าอาคารเพื่อให้บริการสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและโควิด-19)
4. อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เริ่มเปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นมา
มุ่งเน้นการให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง ณ ปัจจุบันมีศูนย์การรักษาที่เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) ประกอบด้วย ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา หัวใจและหลอดเลือด ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู อายุรกรรม เบาหวานและโรคเมตาบอลิก ศัลยกรรม ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และหลอดเลือด กุมารเวชกรรม ผิวหนังและเลเซอร์ ตรวจสุขภาพ อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
ในปี 2567 ภายใต้การบริหารดำเนินงานโดยทีมแพทย์ผู้บริหารที่มากประสบการณ์ นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ปักหมุดขยายบริการทางการแพทย์ใน อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ที่นับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการรักษาระดับตติยภูมิ
โดยมีแผนเปิดให้บริการเพิ่มเติมในชั้น 4 ส่วนของห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 3 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (CCU) ศูนย์โรคไต ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและตับ และชั้น 5 ในส่วนของห้องผ่าตัด ห้องผ่าตัดไฮบริด และหอผู้ป่วยวิกฤต เพื่อรองรับการให้บริการทางการแพทย์ของศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมรักษา โรคยาก ซับซ้อน รวมทั้งการเปิดหอผู้ป่วยใน ชั้น 8 ขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยค้างคืน (IPD)
พร้อมทั้งนำนวัตกรรมการรักษาและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย อาทิ การนำนวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยคลื่นหัวใจชนิดระนาบเดี่ยว เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยคลื่นหัวใจชนิด 2 ระนาบ เพื่อรองรับศักยภาพการทำหัตถการกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกสิทธิการรักษาได้อย่างครอบคลุม ทั้งในกลุ่มการรักษาทางห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดหน้าอก
รวมถึงการดำเนินโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกเทียมผ่านสายสวน ด้วยเทคโนโลยีการทำหัตถการ TAVR โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกที่สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและพิการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง และเพิ่มศักยภาพด้านการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรงด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง การนำนวัตกรรมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดสองระนาบติดตั้งที่ห้องผ่าตัดไฮบริด พร้อมด้วยเครื่องควบคุมแขนกลเพื่อช่วยในการผ่าตัดส่องกล้อง Robotic Intervention Machine ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคเนื้องอกในสมองและระบบประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ รพ.จุฬาภรณ์ มุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีที่เป็นเลิศเข้ามารักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมสากล ตลอดจนสืบสานพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนด้วยความเพียรและจิตเมตตา ซึ่งเป็นพันธกิจที่บุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทุกคนยึดถือ เพื่อมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยในทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกโรคด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นหมุดหมายที่พึ่งทางสุขภาพของกรุงเทพมหานครและของสังคมไทยต่อไป