‘ศึกซักฟอก’ปี 68 วัดฝีมือส้ม บทพิสูจน์ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ เท้งเต้ง?
‘ศึกซักฟอก’ปี 68 วัดฝีมือส้ม บทพิสูจน์ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ เท้งเต้ง? เช็กเสียง 6 พรรคแตกแถว จับตาจุดไม้ขีด - ขยายแผลรัฐบาล เปิดช่องเคลื่อนเกมนอกสภาฯ
KEY
POINTS
- เปิดศักราชปี 2568 การเมืองยังต้องจับตาหลายฉากหลายตอนของเกมการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างงัดทุกกระบวนท่าเพื่อชิงไหวชิงพริบ
-
บทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผ่านฉายา “เท้งเต้ง” ที่ไร้แนวร่วม เป็นฝ่ายค้านโดดเดี่ยว
-
“พรรคประชาชน” ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน และ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมาถูกมองว่า “ตัดบัวยังเหลือเยื่อใย” ในบางกรรม บางวาระ ทว่าเมื่อแผนรวมกันเฉพาะกิจส้ม-แดง ถูกดับฝันเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้พรรคส้มเผชิญเกมโดดเดี่ยวในสภาฯ
-
จับตาเกมเอาคืนจากฝั่ง “พรรคส้ม” ที่ประโคมโหมโรงมาตั้งแต่ไก่โห่เปิดศักราชปี2568 มีไม้เด็ดที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน ถึงที่สุดจะเป็น“มวยจริง”หรือ“มวยล้ม” ลุ้น
เปิดศักราชปี 2568 การเมืองยังต้องจับตาหลายฉากหลายตอนของเกมการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างงัดทุกกระบวนท่าเพื่อชิงไหวชิงพริบ โฟกัสที่เกมในสภา สารพัดวาระร้อนที่รออยู่ในปีหน้า ไม่ต่างจากบทบาทการทำหน้าหน้าที่ของฝ่ายค้าน สะท้อนผ่านการตั้ง “ฉายาสภา” ประจำปี 2567 ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาสะท้อนถึงการทำงานตลอดปี
โฟกัสบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผ่านฉายา “เท้งเต้ง” อันเนื่องมาจากการทำงาน พฤติกรรมของผู้นำฝ่ายค้าน ป้ายแดง ที่ถูกมองว่าไม่โดดเด่นเท่าลูกพรรคหลายคน “ดูเคว้งเท้งเต้ง” ซ้ำยังเหมือนฝ่ายค้านพรรคเดียว
แม้จะมี “ลุง” มาเสริมทัพ กลับไร้แนวร่วม เป็นฝ่ายค้านโดดเดี่ยว ที่ไม่โดดเด่น เน้นรุกเสนอกฎหมาย มากกว่าตรวจสอบ จนถูกปรามาสว่าสภาฯ ไร้ฝ่ายค้าน
ประกอบกับบทบาทหัวหน้าพรรคมือใหม่ ที่ขาดเสน่ห์ ไร้บารมีผู้นำ ถูกเทียบชั้นกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หนำซ้ำป้ายหาเสียง อบจ.ยังมีแต่ภาพพิธา ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงมากกว่ารูป “หัวหน้าเท้ง” จึงเป็น “เท้งเต้ง” ลอยไปลอยมา
ท่ามกลางการจับตาสัมพันธ์ของ 2 พรรคคือ “พรรคประชาชน” ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน และ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา “ตัดบัวยังเหลือเยื่อใย” ในบางกรรม บางวาระ อาทิ ประเด็นนิรโทษกรรมพ่วง ม.112 ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดจริยธรรม หรือการเสนอกฎหมายสกัดรัฐประหาร ก่อนหน้านี้มีเค้าลางการจับมือรวมกันเฉพาะกิจ ระหว่างส้ม-แดงแบบกลายๆ
จากปัจจัยดังกล่าวนี้เอง ทำให้ที่ผ่านมามีการจับตาไปที่บทบาทการทำหน้าที่ฝ่ายค้านกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนผ่านจากพรรคก้าวไกลสู่พรรคประชาชน ท่ามกลางคำถามที่ว่า เป็นมวยที่ต่อยสุดหมัด มากน้อยเพียงใด
ทว่า เมื่อพรรคเพื่อไทย เผชิญกับเกม “รุมกินโต๊ะ” ทั้งจากภายในขั้วรัฐบาล รวมไปถึงสัญญาณนอกสมการการเมืองที่คอยสกัดขัดขวาง แผนรวมกันเฉพาะกิจส้ม-แดง เป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้พรรคประชาชนเผชิญเกมโดดเดี่ยวในสภาฯ ไปโดยปริยาย
วัดฝีมือเปิดศักราช 68 ซักฟอกรัฐบาล
จึงต้องจับตาเกมเอาคืนจากฝั่ง “พรรคส้ม” ที่ประโคมโหมโรงมาตั้งแต่ไก่โห่เปิดศักราชปี 2568 มีไม้เด็ดที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะท่าทีของ “ณัฐพงษ์” ที่พูดถึงฉายา “เท้งเต้ง” ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภามอบให้ว่าหมายถึง 2 เรื่อง พรรคประชาชนโดดเดี่ยวในสภาฯ อยากจะยืนยันอีกครั้งว่าพรรคประชาชนไม่เคยคิดว่าถูกให้โดดเดี่ยว เราพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคในการเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราพร้อมที่จะสนับสนุน
ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเรื่องการตรวจสอบ ต้นปี 2568 จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทุจริตคอร์รัปชัน เห็นว่ามีการทุจริตเชิงนโยบาย พรรคประชาชนพร้อมที่จะเป็นตัวกลาง เป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องประชาชน สามารถส่งข้อมูลมาได้
ต้นปีหน้านอกจากจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พรรคประชาชนมีทิศทางชัดเจนในการเสนอปณิธานพรรคประชาชนปี 2568 เราจะเสนอชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศมากกว่า 6 ชุด ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม ปลดล็อกที่ดิน การปฏิรูปกองทัพ ทำยังไงให้เดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นครั้งสุดท้าย หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจ และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
สำหรับความเป็นห่วงเรื่องกระแสนิยม ที่มีการเปรียบเทียบกับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคคนก่อน ไม่ห่วง กระแสความนิยมมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา ส่วนตัวชี้แจงในหลายเวทีแล้วว่า ไม่อยากเปรียบเทียบกับอดีตแกนนำคนไหน
สนาม อบจ.บทพิสูจน์ “พรรคส้ม”
ณัฐพงษ์ เชื่อมั่นว่า สนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงในวันที่ 1 ก.พ.2568 จะเป็นอีกหนึ่งสนามที่พรรคประชาชนจะได้พิสูจน์ให้เห็น ขอโอกาสพี่น้องกับประชาชนให้เราเข้าไปบริหาร อบจ. เพื่อแสดงผลงาน
“บริบทการตรวจสอบ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เบาแน่นอน สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตคือ ฝ่ายค้านทำงานสร้างสรรค์เชิงรุก พรรคประชาชนมีข้อเสนอกฎหมายมากที่สุดในรัฐสภา ร่างกฎหมายอื่นที่มีประโยชน์ต่อประชาชน เราก็พร้อมที่จะโหวตให้” ผู้นำฝ่ายค้านการันตี
ส่วนการใช้กลไกสภาในการตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะกระทู้ถามในการประชุมแต่ละสัปดาห์ ในการการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.“ผู้นำฝ่ายค้าน” มีการหารือต่อสภา กรณีที่ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ไม่ยอมมาตอบกระทู้สด ของฝ่ายค้านในสภาฯ เรียกร้องประธานสภา มอบหมายนโยบาย หรือสั่งการคณะ กมธ.กิจการสภาฯ ทบทวน ปรับปรุง ข้อบังคับการประชุมสภาฯให้ฝ่ายบริหารมีความรับผิดชอบต่อสภาฯ
"วันนี้นายกฯ หลีกเลี่ยง เงียบ ตีกรรเชียง ไม่มาตอบ ไม่รับผิดชอบต่อสภาฯ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณาแก้ไขข้อบังคับ ตั้งหลักเกณฑ์เงื่อนไขว่านายกฯ หรือรัฐมนตรีสามารถเลื่อนตอบได้กี่ครั้ง"
ประเด็นนี้ “ภราดร ปริศนานันทกุล” รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม อธิบายว่า ตามข้อบังคับการประชุม สมาชิก สามารถเข้าชื่อเพื่อดำเนินการแก้ไขข้อบังคับกันได้อยู่แล้ว
เช็กเสียงฝ่ายค้านวัดใจ “ชกสุดหมัด”
เช็กเสียงฝ่ายค้านในสภาเวลานี้ ประกอบไปด้วย 6 พรรค แบ่งเป็น พรรคประชาชนมี 141 เสียง พลังประชารัฐ 19 เสียง ไทยสร้างไทย 6 เสียง เป็นธรรม-ไทยก้าวหน้า-เสรีรวมไทย พรรคละ 1 เสียง
ทว่าจากสัญญาณในเวลานี้ ถึงเวลาจริงพรรคฝ่ายค้านอาจเหลือเพียงแค่ 3 พรรค 143 เสียง คือ พรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม และพรรคไทยก้าวหน้า เท่านั้น ส่วนพรรคที่เหลือหากเทียบเคียงกับผลโหวตในรอบที่ผ่านๆ มา จะเห็นว่าแยกไปคนละทิศละทางอย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งไปกว่านั้น เสียงฝ่ายค้านที่ “ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง” ของสภาฯ แน่นอนว่า ยังไม่อาจจะเขย่าหรือสั่นคลอนรัฐบาลผ่านกลไกในสภาฯ ได้ หากรัฐบาลไม่เพลี่ยงพล้ำพลาดท่าเสียทีในเชิงการเมืองเสียก่อน แต่อาจมีผลในแง่ของการขยี้แผลรัฐบาล เปิดช่องสู่การเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ต่อจากนี้
ต้องจับตาเปิดศักราชปี 2568 ศึกชิงไหวชิงพริบในสภาฯ ยังมีหลายฉากหลายตอนให้ต้องจับตา ไม่ต่างจากบทบาทฝ่ายค้านที่จะต้องพิสูจน์ว่า ถึงเวลาจะเป็น “มวยจริง” หรือ “มวยล้ม” กันแน่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์