'ยาแก้แพ้' กินแล้วทำไมง่วงซึม เลือกใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

'ยาแก้แพ้' กินแล้วทำไมง่วงซึม เลือกใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

ยาแก้แพ้ ใช้บรรเทาอาการแพ้ต่างๆ บางคนกินแล้ว เกิดอาการง่วงซึม หรือบางคนใช้เพื่อบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ นอนไม่หลับ แล้วเราจะใช้อย่างไรให้ถูกต้องและถูกวิธี

Key Point : 

  • ปัจจุบัน คนที่เป็นโรคภูมิแพ้มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ไม่ว่าจะแพ้นมวัว แพ้ข้าวสาลี ฯลฯ
  • ทำให้มีการใช้ยาแก้แพ้ในการแก้อาการต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ และยาแก้แพ้บางกลุ่มทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงควรเลือกใช้ให้ถูกต้อง
  • อย่างไรก็ตาม เวลาที่มีอาการภูมิแพ้ ควรไปพบแพทย์ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนจะกินยาด้วยตัวเองเพื่อความปลอดภัย

 

ภญ.เบญญาภา เพชรปวรรักษ์ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel ว่า อาการแพ้ เกิดจาก สารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในร่างกายของเรา พบได้ในเนื้อเยื่อแทบทุกชนิด รวมถึงพลาสม่าและของเหลวในร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะสังเคราะห์และเก็บไว้ในเซลล์

 

"อาการแพ้จะเกิดขึ้นเมื่อ ฮีสตามีน ถูกหลั่งออกมาจากเซลล์ การที่ได้รับสิ่งกระตุ้น อาจจะเป็นไรฝุ่น ความร้อน ความเย็น เมื่อฮีสตามีนหลั่งออกมา จะไปจับกับตัวรับที่อยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้ ดังนั้น ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮีสตามีน จะไปป้องกันไม่ให้ฮีสตามีนจับกับตัวรับ ช่วยบรรเทาอาการแพ้ลงได้"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ยาแก้แพ้ มีกี่ชนิด

ยาแก้แพ้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ยาแก้แพ้ ทำให้ง่วงซึม เหมาะกับคนไข้ที่ใช้เพื่อช่วยลดน้ำมูก จะมีฤทธิ์ดีกว่า รวมทั้งคนไข้ที่ต้องการการพักผ่อน ไม่ต้องทำงาน เมื่อ ยาแก้แพ้ ทำให้ง่วงซึม ผ่านเข้าสู่สมองได้มาก ทำให้มีอาการง่วง นอกจากนี้ อาการอื่นที่พบบ่อย คือ

  • คอแห้ง
  • ปากแห้ง
  • จมูกแห้ง
  • ตาพร่า
  • เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่ได้รับยาขนาดสูงๆ อาจจะเกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายได้

 

2. ยาแก้แพ้ ไม่ทำให้ง่วง ออกฤทธิ์นานกว่า อาการข้างเคียงน้อยกว่า เนื่องจากพัฒนามาจากกลุ่มแรก เหมาะกับคนทำงาน คนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และคนไข้ที่ไม่ชอบรับประทานยาบ่อยๆ เพราะออกฤทธิ์ได้นานขึ้น การกินยาก็จะลดลง เนื่องจาก ยาแก้แพ้ ไม่ทำให้ง่วง ผ่านเข้าสู่สมองได้ลดลง อาการข้างเคียง ที่เกิดขึ้นได้ แต่น้อยกว่ากลุ่มแรก เช่น

  • ตาพร่า
  • ปากแห้ง
  • คอแห้ง

 

ข้อควรระวัง ยาแก้แพ้

ภญ.เบญญาภา อธิบายว่า โดยทั่วไป ยาแก้แพ้ ใช้กินแบบตามอาการ โดยบางกลุ่ม บางตัว การกินยาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นอกจากจะมีฤทธิ์ในการรักษาแล้ว ยังช่วยในการป้องกัน ก่อนที่คนไข้จะไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ได้

 

หากมีอาการ แล้วคนไข้ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ไม่มีข้อห้าม สามารถใช้ยาได้ตามปกติ แต่หากคนไข้ในโรคประจำตัวบางชนิด หรือมีความบกพร่องของบางอวัยวะ เช่น ตับ ไต รวมถึง ในบางกลุ่ม เช่น เด็ก สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก อาจจะต้องพิจารณาให้ยาเป็นรายๆ ไป

 

"ในคนท้อง หรือคุณแม่ที่ให้นมลูก การกินยาสามารถกินได้ แต่ก่อนกิน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพราะยาแก้แพ้บางตัวมีข้อมูลว่าทำให้ทารกที่คลอดออกมาผิดปกติ หรือสามารถหลั่งมาในน้ำนม ทำให้เกิดอาการข้างเคียงในลูกได้”

 

ดังนั้น ต้องใช้ยาแก้แพ้ที่มีข้อมูลความปลอดภัยเพียงพอ การใช้ยาแก้แพ้ที่ไม่ตรงข้อบ่งชี้ที่ได้รับการรับรอง นอกจากประโยชน์ที่เราหวังไม่ชัดเจน อาจจะเสี่ยงให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาได้

 

ใช้ยาตอนเมารถ เมาเรือ นอนไม่หลับ ได้หรือไม่

  • ยาแก้แพ้บางตัวที่มีข้อบ่งชี้รับรองให้ใช้ในอาการเมารถ เมาเรือได้ คนไข้สามารถใช้ยาเหล่านี้มารักษาอาการดังกล่าวได้
  • หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้หาสาเหตุเพื่อแก้ไข หากไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงจุดจะดีกว่า

 

หากแพ้ยาแก้แพ้ ทำอย่างไร

ภญ.เบญญาภา อธิบายต่อไปว่า ข้อมูลการแพ้ข้ามกันในกลุ่มยาแก้แพ้ยังไม่ชัดเจนมาก โดยทั่วไป จะใช้การเปลี่ยนไปใช้ยาแก้แพ้ที่มีโครงสร้างต่างไปจากเดิมที่เคยแพ้

ปัจจุบัน โรคภูมิแพ้ พบได้ในเด็ก ในผู้ใหญ่ การใช้ยาเป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คนไข้ ควรสังเกตตัวเอง หลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้ ซึ่งเป็นการรักษาที่สาเหตุ จะช่วยลดการใช้ยา และอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้