ชอบกัดเล็บตัวเอง ต้องรู้ ! อาการแบบไหน เข้าข่ายโรคจิตเวช
นิสัยที่ชอบกัดเล็บตัวเองเวลาเครียดหรือกำลังคิดอะไรอยู่จนทำให้เล็บผิดรูปผิดร่าง ไม่สวย ไม่น่ามอง จนเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง และถ้าหากเป็นเรื้อรังกัดเล็บบ่อย ๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้อาจจะเสี่ยงเป็นโรคทางจิตเวชได้
Key Point :
- นิสัยชอบกัดเล็บตัวเองเวลาเผลอ เหม่อ เครียด หรือแม้กระทั่งเวลาว่าง หลายคนคิดว่าเป็นความเคยชินและไม่ส่งผลต่อร่างกาย
- ความจริงแล้วการติดนิสัยกัดเล็บตัวเองอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากสิ่งสกปรก รูปร่างของเล็บผิดรูปผิดร่างไป และอาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจที่เรียกว่าโรคจิตเวชได้
- เล็บจากการสัมผัสสิ่งของในชีวิตประจำวันแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา
ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เกี่ยวกับ นิสัยที่"ชอบกัดเล็บตัวเอง" ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด รู้สึกเบื่อ วิตกกังวล หรืออุปนิสัยส่วนตัวที่ชอบกัดเล็บนอกจากนี้พันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการกัดเล็บได้
พบในเพศหญิงมากกว่าชาย
พฤติกรรมชอบกัดเล็บที่พบเห็นบ่อยจะเป็นช่วงวัยเด็ก แต่ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ก็พบได้บ่อยเช่นกัน โดยนิสัยชอบกัดเล็บจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพฤติกรรมชอบกัดเล็บอาจเกิดขึ้นจากนิสัยของคนที่เสพติดความสมบูรณ์แบบ มีความกดดันในตัวเองสูง จึงทำให้แสดงความเครียดออกมาทางพฤติกรรม เช่น กัดเล็บ ดึงผม การดึงหรือถูผิวหนังที่บริเวณต่าง ๆ เช่น จมูกเล็บ ริมฝีปาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- กลัวแค่ไหน ถึงเข้าข่าย 'โรคกลัว' หรือ Phobia
- คุณมี ความสุข ครั้งล่าสุดเมื่อไร? สำรวจ 'ภาวะสิ้นยินดี' เร่งฟื้นใจให้ฟู
- ได้กลิ่นไปเอง ได้ยินเสียงแปลกๆ เห็นภาพหลอน ไม่ใช่ผีหลอก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ
สาเหตุ
- เพื่อจัดการอารมณ์ เช่น เศร้า กังวล เบื่อ
- พฤติกรรมคุ้นชินเวลาใช้สมาธิ เช่น อ่านหนังสือ คิดงาน
- มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า สมาธิสั้น โรควิตกกังวล
คนชอบกัดเล็บ เขารู้สึกอย่างไร
- ไม่สบายใจหรือวิตกกังวล
- เครียดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว การเรียนและการทำงานรู้สึกโล่งใจ มีความสุขหลังจากได้กัดเล็บ
- ละอายใจ รู้สึกผิดเมื่อมองเห็นสภาพผิวหนังและเล็บของตัวเอง
- กลัวคนอื่นเห็นเล็บ
ความเสี่ยงของการกัดเล็บ
เล็บผิดรูปร่าง
- การกัดเล็บทำให้เนื้อเยื่อของเล็บเสียหาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อที่สร้างมาใหม่มีรูปแบบผิดปกติ ผิดรูปไปจากเดิม
ติดเชื้อ
- การกัดเล็บอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เพราะเล็บเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่เกิดจากการใช้มือหยิบจับสิ่งของในชีวิตประจำวัน การกัดเล็บจึงเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้การกัดเล็บอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเล็บหลุดหรือเกิดแผลทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน
ฟันเสียหาย
- การกัดเล็บอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพฟัน เช่น ฟันร้าว ฟันบิ่น หรือแตกหัก นอกจากนี้อาจส่งผลให้กรามหรือกระดูกขากรรไกรเกิดความผิดปกติได้
บุคลิกภาพต่อบุคคลรอบข้าง
- ทำให้สูญเสียความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดีต่อบุคคลรอบข้าง
กัดเล็บบ่อย ๆ เสี่ยงติดเชื้อโรค
การกัดเล็บนอกจากจะทำให้เล็บไม่สวย ยังมีความเสี่ยงทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียที่มาจากช่องปากรวมไปถึงเชื้อโรคที่ติดอยู่รอบ ๆ เล็บจากการสัมผัสสิ่งของในชีวิตประจำวันแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น เชื้อราที่เล็บ ปัญหาช่องปากและลำคออักเสบจากการติดเชื้อ และเนื้อบริเวณนิ้วอักเสบติดเชื้อได้
กัดเล็บแบบไหนเข้าข่ายโรคจิตเวช
การกัดเล็บตัวเองหากไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือทำเป็นประจำ จนทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ติดเชื้อ มีการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวหรือคนรอบข้างก็ไม่มีอันตรายอะไร เพียงแค่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่หากเกิดการกัดเล็บตัวเองจริงจังเกินไป ห้ามตัวเองไม่ได้ และกัดเล็บจนก่อให้เกิดผลเสียตามมา อาการแบบนี้อาจเข้าข่ายภาวะของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้นได้ หรือโรคกัดเล็บ (onychophagia) เป็นคำใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมชอบกัดเล็บเป็นประจำหรือเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้
- กัดเล็บขณะเหม่อลอย
- ไม่รู้ตัวว่ากำลังกัดเล็บตัวเองอยู่
- กัดเล็บจนผิดรูป หรือเป็นแผล
- รู้สึกอายเล็บตัวเอง พยายามไม่ให้ใครเห็นเล็บมือ
- มีอาการอื่นแสดงร่วมกับการกัดเล็บ เช่น ดึงผม แกะเกาผิวหนัง กัดริมฝีปาก หรือเขย่าขา
- ต้องทะเลาะกับผู้อื่นบ่อย เนื่องมาจากพฤติกรรมกัดเล็บของตัวเอง
วิธีป้องกันการ กัดเล็บตัวเอง
- ตัดเล็บให้สั้น
- ทาครีมหรือเจลเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมือ
- ทาบอระเพ็ดหรือวัตถุดิบที่มีรสขมบริเวณนิ้ว
- ทาเล็บ แต่งตกเล็บ
- ติดพลาสเตอร์แปะแผล
- สวมถุงมือ
- เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อช่วยให้ปากไม่ว่าง
- รับมือกับภาวะอารมณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
- ผ่อนคลายสมองและอารมณ์ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และทำสมาธิ
- หากมีปัญหาด้านอารมณ์อย่างรุนแรงควรปรึกษาแพทย์
- ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อย
พฤติกรรมการกัดเล็บตัวเองจนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ควรสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองให้ดี หากไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ประเมินอาการ และรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี