กลัวแค่ไหน ถึงเข้าข่าย 'โรคกลัว' หรือ Phobia
ทำความรู้จัก 'โรคกลัว' หรือ โฟเบีย (Phobia) หนึ่งในอาการทางจิตที่ควรระวัง ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายโรคแพนิก ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน และเวียนหัวตาลาย ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน
Key Point :
- ความกลัว เป็นสิ่งที่คนเรามีไม่เหมือนกัน บางคนกลัวที่แคบ กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์ ฯลฯ หากมีความรุนแรง อาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจจนถึงขั้นเป็น โรคกลัว หรือ โฟเบีย (Phobia)
- ทั้งนี้ โฟเบีย เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง มีอาการกลัวขั้นรุนแรงต่อสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่างโดยจะไม่ค่อยมีเหตุผลแต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้
- ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ดังนั้น หากมีอาการกลัวของโรคกลัวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา
ความกลัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเกิดได้กับทุกคน ถือว่าเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ เพราะเมื่อเกิดความกลัวก็สามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับตัวเองลงด้วย แต่อาการกลัวหากมีความรุนแรงอาจจะส่งผลเสียกับร่างกายและจิตใจจนเกิดเป็นโรคที่ชื่อว่า โรคกลัว (Phobia) ที่หลายคนยังไม่เคยรู้จัก
ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย โรคกลัว หรือ Phobia ว่า เป็นหนึ่งในอาการทางจิตที่ควรระวัง คนทุกคนมีความกลัวไม่เหมือนกัน กลัวในเรื่องแปลก ๆ เช่น กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวความสูง หรือกลัวสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งความกลัวเหล่านี้ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีระดับความรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคที่เรียกว่า โรคกลัว อย่างจำเพาะเจาะจง หรือ Specific Phobia ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
- ต้องกังวลแค่ไหน? เสี่ยงเป็น “โรควิตกกังวล”
- “ชอบเก็บของ-ไม่อยากทิ้ง” อันตรายกว่าที่คิด อาจเข้าข่าย “โรคชอบสะสมของ”
‘โรคกลัว’ เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่จะมีอาการกลัวขั้นรุนแรงต่อสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่างโดยจะไม่ค่อยมีเหตุผลแต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจจะมีอาการคล้ายโรคแพนิก ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน และเวียนหัวตาลาย ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน แต่พบว่าอาจเกิดจาก
- เคยมีปัญหาหรือเรื่องราวในอดีตที่ฝังใจ
- พบเจอ ได้ยิน หรือเห็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ
- พันธุกรรม
- ความผิดปกติของสมอง
- ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ
โรคกลัว มีอาการอย่างไร ?
- ตื่นกลัว
- วิตกกังวลรุนแรง
- ควบคุมตัวเองไม่ได้
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันเลือดสูง
- หายใจถี่
- เหงื่อออก
- ปวดหัว เวียนหัว
- พูดติดขัด
- ปากแห้ง
- คลื่นไส้
- มือ เท้า ตัวสั่น
- เป็นลมหมดสติ
- กล้ามเนื้อตึงชา
กลัวแบบไหนถึงจะเข้าข่าย โรคกลัว
อาการกลัวของโรคกลัวติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนมากจะมีอาการทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบาก เช่น
- ต้องหลีกเลี่ยงบางสถานที่
- ไม่สามารถเดินทางโดยยานพาหนะบางประเภท
- หรือถ้าต้องไปก็อาจมีความเครียด-กังวลอย่างมาก
โดยหากมีลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานานควรไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับคำปรึกษา
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคกลัว
- กระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ทั้งเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก
- ขาดโอกาสในการเข้าสังคม
- เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีความสุข
- โรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
- อาจใช้วิธีจัดการกับความเครียดอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โรคกลัวอย่างจำเพาะเจาะจงมีกี่ประเภท
- กลัวสัตว์ เช่น สุนัข แมว นก แมลงต่าง ๆ กลัวในบางสถานการณ์ เช่น ที่แคบ ที่สูง การโดยสารยานพาหนะ เช่น เครื่องบิน เรือ การดำน้ำ
- ภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว
- การพบเห็นเลือด เช่น เกิดอุบัติเหตุเลือดออก การฉีดยา การเจาะเลือด ให้เลือด
- กลัวสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น สิ่งของต่าง ๆ เสียงดัง
โรคกลัว ที่พบได้บ่อย
- กลัวที่แคบ (claustrophobia) จะมีอาการอึดอัด ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อต้องอยู่ในที่แคบ ๆ ไม่ปลอดโปร่ง
- กลัวเลือด (hemophobia) ความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเห็นเลือด จะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- กลัวเครื่องบิน (aerophobia) หวาดกลัวหรือกังวลว่าเครื่องบินจะตก พื้นฐานของคนที่กลัวเครื่องบินมาจากการกลัวความสูงหรือกลัวที่แคบมาก่อน
- กลัวความสูง (acrophobia) มีความรู้สึกกลัวใจสั่น มือขาสั่น ไม่กล้ามอง เมื่อต้องอยู่บนที่สูง ๆ บางคนอาจกลัวจนเกิดอาการช็อกได้
- กลัวเชื้อโรค (mysophobia) มีความกลัวและกังวลเกี่ยวกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ กลัวที่จะสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ โรคนี้จะทำให้คนที่เป็นรักความสะอาดมาก ๆ ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
- กลัวเข็ม (needle phobia) ความกลัวเมื่อเห็นเข็มส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเข็มฉีดยา ทำให้มีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
การวินิจฉัย
สำหรับการวินิจฉัย โรคกลัว นั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกลัวได้จากการซักประวัติและพูดคุยกับผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องเล่าอาการต่างๆ ให้แพทย์ฟังให้มากที่สุด และตอบคำถามที่แพทย์ถามเพิ่มเติมอย่างละเอียดและตรงไปตรงมาเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคกลัวจะกลัวบางสิ่งบางอย่างอย่างรุนแรง ไม่สมเหตุสมผล โดยที่ผู้ป่วยรู้ตัวดีว่าไม่จำเป็นจะต้องกลัวขนาดนั้นแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อพบเจอสิ่งที่กลัวก็จะมีอาการดังกล่าวข้างต้นจนก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลให้คิดทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น พยายามฆ่าตัวตาย โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันมาอย่างน้อย 1 เดือน
การรักษาโรคกลัว
- ปรับพฤติกรรมและฝึกจิตใจ เช่น การออกกำลังกายหรือการนั่งสมาธิ ค่อย ๆ ฝึกเผชิญจากสิ่งที่กลัวเล็กน้อยไปสิ่งที่กลัวมาก
- ฝึกปรับความคิด เช่น การให้กำลังใจตัวเอง คิดเรื่องผ่อนคลายสบายใจเมื่อเผชิญ
- พบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาแบบจิตบำบัด
- ใช้ยา เช่น ยาคลายเครียด ยารักษาโรควิตกกังวล
- ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
การป้องกันโรคกลัว
สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคกลัว คือ การค่อย ๆ ฝึกที่จะเผชิญกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวนั้น ๆ ฝึกการผ่อนคลายตัวเองเมื่อเกิดความเครียดขึ้น ผู้คนรอบข้างคอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้เผชิญกับสิ่งที่ทำให้เขากลัว
เมื่อเป็นโรคกลัวควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- กล้าเผชิญกับสิ่งที่กลัว
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล เช่น การออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และดีต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มีปฏิสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในสังคม
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์