‘โรคกลัวคนสวย’ ไม่ใช่อาการตกหลุมรัก แต่เป็นอาการทางจิต

‘โรคกลัวคนสวย’ ไม่ใช่อาการตกหลุมรัก แต่เป็นอาการทางจิต

เจอคนสวยแล้วเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เวียนหัว ไม่ได้เป็นเพราะเขินหรือว่าตกหลุมรัก ความจริงแล้วเป็นอาการของ “โรคกลัวคนสวย” จำเป็นต้องรักษา

Key Points:

  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น เหงื่อออก เวลาเจอคนสวย ไม่ใช่อาการตกหลุมรักหรือเขินแต่อาจเข้าข่ายโรคกลัวคนสวย
  • โรคกลัวคนสวยเป็นหนึ่งในโรคตระกูล Phobia ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความกลัวและพฤติกรรมของตัวเองได้
  • การรักษาโรคกลัวคนสวยสามารถทำได้หลายทาง แต่ต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น

ใครที่รู้สึกว่าเวลาตัวเองต้องพบเจอหรือเข้าใกล้ผู้หญิงสวยแล้วมีอาการแปลกๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น เหงื่อออก ไปจนถึงใจสั่น ไม่ได้แปลว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเขินหรือมีอาการตกหลุมรัก แต่อาการเหล่านี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าผู้ที่มีอาการอาจกำลังป่วยเป็น “โรคกลัวคนสวย” หรือ “โรคกลัวผู้หญิงสวย” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรคตระกูล Phobia หรือโรคเกี่ยวกับอาการกลัวอะไรบางอย่างมากผิดปกติ และนับเป็นอาการทางจิตเวชที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มแยกตัวออกจากสังคม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลัว หรือ Phobia นั้นจะมีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสถานการณ์เฉพาะ โดยแสดงอาการกลัวออกมาอย่างไร้เหตุผลและจะกลัวเป็นบางอย่างเท่านั้น ซึ่งเป็นความกลัวที่คนทั่วไปไม่กลัวกัน เช่น โรคกลัวเจ้านาย (Bossophobia) หรือ โรคกลัวการตัดสินใจ (Decidophobia) นอกจากนี้ หากมีอาการหนักมากจะมีอาการกลัวแม้กระทั่งได้ยินการเอ่ยถึงสิ่งนั้น หรือพบเจอสิ่งที่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่ตัวเองกลัว

‘โรคกลัวคนสวย’ ไม่ใช่อาการตกหลุมรัก แต่เป็นอาการทางจิต

 

  • โรคกลัวคนสวยคืออะไร อันตรายหรือไม่

สำหรับ โรคกลัวคนสวย มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “Venustraphobia” ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้หญิงสวยจะมีความกลัวแบบเฉพาะเจาะจง โดยที่ไม่มีเหตุผลและไม่สามารถควบคุมความกลัวหรือพฤติกรรมของตนเองได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตัวสั่น หน้ามืด เหงื่อออก ใจสั่น เป็นต้น ความกลัวนี้หากมีในปริมาณมาก เพียงแค่คิดหรือจินตนาการถึงผู้หญิงสวยก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้ไม่ได้เจอหน้ากันก็ตาม

ความหวาดกลัวเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการควบคุมอารมณ์ ความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยบางคนที่มีอาการรุนแรงจะเลือกแยกตัวออกจากสังคม และพยายามใช้ชีวิตเก็บตัวอยู่คนเดียว เพราะไม่ต้องการออกไปพบเจอกับผู้หญิงสวยในโลกภายนอก ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนเก็บตัวและไม่มีสังคมไปในที่สุด พฤติกรรมนี้จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต

ในส่วนของสาเหตุนั้นยังมีที่มาไม่ชัดเจนมากนัก แต่จากการวินิจฉัยโดยแพทย์แล้วส่วนมากผู้ป่วยมักจะเคยมีความทรงจำ หรือประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กเกี่ยวกับผู้หญิงสวย มีสาเหตุมาจากความบกพร่องในสมอง เช่น พันธุกรรม หรือในบางคนมีความกลัวว่าผู้หญิงสวยอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตนเองรู้สึกอับอายและขายหน้า บางคนอาจเคยถูกผู้หญิงสวยปฏิเสธทำให้จำฝังใจ

 

  • อาการแบบไหนเข้าข่ายโรคกลัวคนสวย?

สำหรับอาการของผู้ที่เป็นโรคกลัวคนสวยจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่ก็ยังมีบางอาการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันดังนี้

- หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เหงื่อออก และมีอาการปากแห้ง

- หน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม

- มีความวิตกกังวลสูงผิดปกติ และตกใจกลัวอย่างรุนแรง

- ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ไปจนถึงสูญเสียการทรงตัวเมื่อเจอผู้หญิงสวย

- เมื่อปล่อยไว้นานจะเริ่มแยกตัวเองออกจากสังคม และเก็บตัวอยู่คนเดียว

‘โรคกลัวคนสวย’ ไม่ใช่อาการตกหลุมรัก แต่เป็นอาการทางจิต

 

  • โรคกลัวคนสวยสามารถรักษาหาย และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

เนื่องจาก “โรคกลัวคนสวย” เป็นหนึ่งในโรคกลัวขั้นรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพจิต จึงมีแนวทางการรักษาที่ไม่ต่างจากการรักษาโรคกลัวรูปแบบอื่นมากนัก ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น สามารถแบ่งการรักษาได้ดังนี้

1. การทำจิตบำบัด

เป็นวิธีส่วนใหญ่ที่แพทย์เลือกใช้ เรียกว่า “การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม” หรือ Cognitive behaviour therapy ; CBT เพื่อเน้นเจาะจงไปที่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนโดยสอดคล้องกับความเป็นจริง อาจเริ่มต้นจากสิ่งของหรือวัตถุใกล้ตัวที่เกี่ยวกับอาการป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเผชิญกับปัญหา เริ่มสัมผัสกับความกลัวทีละนิดจนเกิดความคุ้นชินไปในที่สุด

2. การสะกดจิต

เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการรักษาที่แพทย์ลงความเห็นว่า มีความเหมาะสมเป็นอย่างมากในการรักษาโรคดังกล่าว เพราะเป็นการช่วยค้นหาสาเหตุของอาการป่วยที่แท้จริง ทำให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด

3. การใช้ยา

ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาในการรักษาร่วมด้วย เช่น ยาบรรเทาความเครียด บรรเทาความวิตกกังวล เพื่อช่วยให้นอนหลับและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน

แม้ว่า “โรคกลัวคนสวย” อาจเป็นโรคที่ดูแปลกและไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่จริง แต่ในทางการแพทย์โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา ถือเป็นอาการป่วยที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจอย่างที่หลายคนมักเข้าใจผิด ดังนั้นใครที่เริ่มสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ หรือกลัวอะไรมากผิดปกติและหาสาเหตุไม่ได้ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกก่อนที่อาการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน

----------------------------------------

อ้างอิง : Spacebar, Fearof, Hello คุณหมอ และ รพ.เพชรเวช