'อาหารแพลนต์เบส' ไทยเบอร์ 1 อาเซียน ตลาดอาหารสุขภาพโต
ไทยเบอร์ 1 อาหารแพลนต์เบสในอาเซียน ขณะที่ตลาดอาหารสุขภาพโต 5-10% มากกว่าการโตของอาหารทั่วไป สภาอุตสาหกรรมร่วมญี่ปุ่นถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีพัฒนาการผลิต ขอรัฐหนุนFTA ดันส่งออก ส่งเสริมวิจัยต่อยอดร่วมผู้ประกอบการ
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายหลังการประชุมร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอาหารคุณภาพ ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ FTI ภายใต้หัวข้อ Latest Trends of Health Food Business โดยมีเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ FTI ร่วมระหว่างไทยและญี่ปุ่น
เจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2566 ไทยส่งออกกลุ่มเกษตรที่รับประทานได้และอาหาร 1.5 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 12 ของโลก และตั้งเป้าที่จะเป็น 1 ใน 10 ภายใน 5 ปี และเป็นตัวนำเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทาน ซึ่งอาหารสุขภาพเป็นตัวหนึ่งที่จะเป็นพระเอก กำลังเป็นที่ต้องการ
ประกอบกับทั่วโลกขาดแคลนอาหารจากเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การขนส่งบางพื้นที่ทำได้ยากขึ้น ทำให้สินค้าบางตัวราคาแพงขึ้น มองว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารมากกว่านำเข้าเพียง 1 ใน3 ของประเทศเอเชียแปซิฟิกร่วมกับออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนประเทศอื่นมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก
อาหารสุขภาพโต 5-10 %
“อาหารสุขภาพเป็นอาหารอนาคตประเภทหนึ่ง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯมีเป้าที่จะเพิ่มยอดขายของอาหารประเภทนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันอัตราเติบโตของตลาดอาหารสุขภาพประมาณ 5-10 % โตมากกว่าอาหารทั่วไปที่มีอัตราเติบโต 5-6 % จากปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมสุขภาพและปลอดภัยมากขึ้น”เจริญกล่าว
เจริญ กล่าวอีกว่า ไทยและญี่ปุ่นมีการค้าขายระหว่างกัน บริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก และไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นลำดับแรกๆ อีกทั้ง ญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำอาหารสุขภาพ คนญี่ปุ่นอายุยืนมีองค์ประกอบทั้งกาย ใจ สิ่งแวดล้อม และอาหารปลอดภัยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ ฝ่ายของประเทศญี่ปุ่นยกทีมบริษัทใหญ่ๆ และหอการค้ามาเข้าร่วม
ส่วนของประเทศไทยที่มีบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯกว่า 400 บริษัท จะได้ประโยชน์เรื่องของวัตถุดิบ อาหารต่างๆ และเรียนรู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพราะญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ดีมาก ไทยก็จะสามารถผลิตอาหารส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทก็มีความร่วมมือกับญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆแล้วเช่นกัน
ขอรัฐทำFTA-ส่งเสริมวิจัย ดันตลาดอาหาร
ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีการทำFTA ร่วมกัน ในการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่นมาไทย มีอัตราภาษีน้อย ไม่ถึง 10 % แต่ประเทศที่ยังไม่ได้มีการทำ FTA ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ มีอัตราภาษี 20-30 % จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันเรื่อง FTA กับประเทศต่างๆ รวมถึง การส่งเสริมเรื่องการศึกษาวิจัยอาหารอนาคตมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สารสกัด หรือเครื่องดื่มฟังก์ชั่นต่าง เมื่อมีการวิจัยและต่อยอดร่วมกับผู้ประกอบการ รวมถึง วัตถุดิบที่จะป้อนอุตสาหกรรมต้องเป็นการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาการผลิตในประเทศให้เติบโตได้อีกมาก
ไทยเบอร์ 1 แพลนต์เบสอาเซียน
ขณะที่สุปราณี ชนะชัย ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า ฟิวเจอร์ฟู้ดส์เป็นแผนกลยุทธ์องค์กรของซีพีแรม มีบริษัทที่ทำวิจัยเกี่ยวกับอาหารอนาคต ซึ่งหลายตัวเริ่มมีการผลิตออกมาแล้ว เช่น อาหารผู้สูงอายุที่มีออกมาแล้ว 5 เมนู ภายใต้แบรนด์ครีเอเตอร์ ,แพลนต์เบสประมาณ 22 รายการ จะเห็นได้ว่าซีพีแรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พยายามที่จะทำแผนระยะยาวว่าอนาคตจะมีสินค้าใหม่ๆออกมาอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ อนาคตจะได้เห็นผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น สเปรย์พ่นคอสกัดจากก้านกะเพรา เป็นต้น
หากดูจากเปอร์เซ็นต์การเติบโตของอาหารอนาคต อาจจะยังไม่มากเท่าไหร่นัก แต่มองว่าหากผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และมีการส่งเสริมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าตลาดตรงนี้จะไปได้อีกไกล
"ในส่วนของตลาดแพลนต์เบส ปัจจุบันที่มีความต้องการจากประเทศไทยมากจะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก ถ้าเทียบกับประเทศต่างๆในอาเซียนถือว่าไทยเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในเรื่องอาหารแพลนต์เบส”สุปราณีกล่าว