ระวัง! แคะหูบ่อยๆ เสี่ยงอันตราย สูญเสียการได้ยิน
‘แคะหู ปั่นหู’ หลายคนมองว่าเป็นการทำความสะอาดหู มีการใช้ทั้งคอตตอนบัด หรือไม้แคะหู ยิ่งมีอาการหูอื้อ หรือคันหู การแคะหู ปั่นหู เป็นวิธีการแรกๆ ที่ทำกัน แต่รู้หรือไม่ความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นหู เพราะร่างกายมักกำจัดขี้หูให้หลุดออกไปได้เองตามธรรมชาติ
Keypoint:
- ทุกครั้งที่รู้สึกคันหู ต้องหยิบคอตตอลบัคมา 'แคะหู หรือ ปั่นหู' เพื่อหยุดความคัน และมักถูกมองว่าเป็นวิธีการทำความสะอาดหูที่ดี แต่ในความเป็นจริง การแคะหู ปั่นหูอาจเสี่ยงทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร
- หากหูมีภาวะที่ปกติดีไม่ควรทำการแคะหู ควรทำความสะอาดหูเฉพาะภายนอก หากมีความต้องการทำความสะอาดในช่องหูควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ใครที่ชอบใช้หูฟังเปิดเพลงเสียงดังลั่น แคะหูบ่อยๆ ชอบไปดำน้ำ เที่ยวกลางคืนวิถีสายตื๊ด และเสพติดการกินเค็ม พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความผิดปกติกับหูได้
กลไกของร่างกายธรรมชาติสามารถกำจัดขี้หูออกไปเองจากการเคี้ยวอาหาร และการพูดคุยสนทนาทั่วไป การแคะหู จึงอาจจะไม่ใช้วิธีการทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธี แถมยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่รูหู
การใช้คัตตอนบัด หรือก้านสำลีมาแคะหู จะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของต่อมที่สร้างขี้หู เมื่อมีขี้หูเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งใช้คัตตอนบัดมาแคะหู ไม่ได้ทำให้ขี้หูออกมาจนหมดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการดันขี้หูให้อันแน่นในรูหู ให้ลึกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะขี้หูอุดตันได้ โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ยังบอกอาการเกี่ยวกับหูไม่ได้
ส่วนอาการหูอื้นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การปั่นหูหรือแคะหูเองอาจไม่ได้ช่วยให้อาการหูอื้อดีขึ้น และอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย โดยปกติแพทย์จึงไม่แนะนำให้ แคะ ปั่นหู ด้วยตัวเอง หากมีอาการผิดปกติ เช่น หูอื้อ ปวดหู คันหู การได้ยินลดลง มีหนองออกที่หู ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อันตรายจากการแคะหู ปั่นหู
พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปั่นหู อาจทำให้เกิดอันตรายต่อหูได้ เช่น บริเวณรูหู และเยื่อแก้วหู โดยอาจมีอาการหรือภาวะ ดังนี้
- เป็นแผลในรูหู มีอาการปวดหู หูอื้อ และอาจมีเลือดหรือน้ำหนองไหลออกมาจากหู
- หูชั้นนอกอักเสบ มีอาการคันในรูหู ปวดหู หูอื้อ ได้ยินลดลง อาจมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกจากช่องหู บางรายที่ติดเชื้อจนเป็นฝีหนองอาจมีไข้ร่วมด้วยได้
- หูอักเสบ
- หูอื้อ เช่น จากภาวะขี้หูอุดตัน
- แก้วหูทะลุ จะมีอาการเจ็บปวดที่หูมาก สูญเสียการได้ยินได้
- ขี้หูอุดตันมีอาการแน่นหู หูอื้อ การได้ยินลดลง
- มีเลือดออกในช่องหู เช่น จากแผลในรูหู
แคะขี้หูจำเป็นแค่ไหน เช็กข้อดี-ข้อเสีย
การแคะหูเอง นอกจากจะแคะขี้หูได้ไม่หมดเนื่องจากมองเห็นได้ไม่ชัดเจนแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นนอก ซึ่งประกอบไปด้วยใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู
- ขี้หูมีลักษณะคล้ายขี้ไคลสามารถหลุดได้เองตามธรรมชาติ
- โดยขี้หูจะหลุดออกไปเมื่อมีการเคี้ยวหรือขยับปาก
- เว้นแต่ในคนที่มีช่องหูตีบหรือแคบเกินไปตั้งแต่กำเนิด
- ทำให้การขับออกของขี้หูผิดปกติตามไปด้วย
- ปกติแล้วการแคะหูไม่ใช่เรื่องจำเป็นและการใช้คอตตอนบัดแคะหูยังส่งผลเสียตามมาอีกด้วย
ผลเสียที่เกิดจากการใช้คอตตอนบัดแคะหู
- เกิดการดันขี้หูบางส่วนไปติดอยู่บริเวณแก้วหูทำให้ขี้หูอุดตัน
- ทำให้เยื่อบุบริเวณด้านนอกเกิดการถลอก หากรอยถลอกสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้ติดเชื้อบริเวณหูชั้นนอก
- ขี้หูติดอยู่ที่แก้วหูเป็นเวลานาน อาจเกิดการอักเสบที่เยื่อบุแก้วหูได้
- ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือการได้ยินเสียงลดลง
ย้ำแคะหู ปั่นหู อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแคะหู หรือ ปั่นหูบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากขี้หูของคนเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม ช่วยเคลือบช่องหู และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่มีขี้หูจะทำให้รูหูแห้งและคัน คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกในร่างกายที่ต้องกำจัดออกจึงแคะหรือปั่นหูบ่อยๆ
"ความเป็นจริงแล้วขี้หูจะสามารถหลุดออกมาได้เองหรือเรียกว่า Self-Cleaning Mechanism คือการค่อยๆ ทำความสะอาดตัวเอง โดยขี้หูและผิวหนังที่หลุดลอกจะค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมาที่ปากรูหูและหลุดออก ดังนั้น การทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลีแคะหู ใช้น้ำหยอดหู จึงไม่มีความจำเป็นยกเว้นในบางคน สำหรับคนที่ขี้หูเหนียวและเคลื่อนที่ออกมาช้า ทำให้ขี้หูรวมตัวกันเป็นก้อนภายในรูหู ส่งผลให้มีอาการหูอื้อ ปวดแน่น ในหู กรณีเช่นนี้ควรพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดรูหู ไม่ควรแคะเอง เพราะจะทำให้ขี้หูอุดตันถูกดันลึกมากขึ้น"
หากหูมีภาวะที่ปกติดีไม่ควรทำการแคะหู ควรทำความสะอาดหูเฉพาะภายนอก หากมีความต้องการทำความสะอาดในช่องหูควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะทำการส่องกล้องภายในรูหู และใช้เครื่องมือในการนำขี้หูออก โดยไม่สัมผัส ตัวเยื่อบุ หรือผนังหู
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงเสียงที่ดัง เพราะเสียงดังจะส่งผลโดยตรงทำให้เกิดอันตรายต่อหูชั้นในและทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็ว อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้หูมีปัญหา
การใช้ชีวิต และพฤติกรรมของคนเราก็มีผลที่ทำให้หูเกิดอาการต่างๆ และเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินได้ โดยพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อหู มีดังต่อไปนี้
1.ชอบใช้หูฟัง...เปิดเพลงเสียงดังลั่น
เวลาไปไหนมาไหนคนเดียวก็ต้องใส่หูฟังเพื่อเปิดเพลงฟังแก้เหงา บางทีก็ชอบเพ้อชอบบิ้วท์อารมณ์ตามคอนเซ็ปต์คนอกหัก ด้วยการเปิดเพลงดังๆ เกิน 80 เดซิเบล จนกำแพงบ้านสั่นสะเทือน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นี่ล่ะ! ที่จะทำให้ประสาทหูของคุณเสื่อมก่อนวัยอันควร
2.แคะหูบ่อย...เพราะคิดว่าดี
ตอนเช้าก็แคะ ก่อนนอนก็แคะ เพราะเข้าใจว่า 'ขี้หู' ที่มีนั้นเป็นสิ่งที่สกปรกต้องแคะออก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ขี้หูมีหน้าที่ในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ไม่ว่าจะแมลง ผง หรือฝุ่นละอองต่างๆ รวมทั้งคอยทำลายเชื้อแบคทีเรีย หากเราแคะขี้หูออกไปจนหมด...ก็จะขาดเกราะในการป้องกันหูจากอันตราย
3.พอว่าง...ต้องไปดำน้ำ
กิจกรรมผ่อนคลายอย่างการดำน้ำ อาจไม่ใช่กิจกรรมที่ดีต่อประสาทหูเท่าไหร่ เพราะเมื่อเราต้องดำลงไปใต้น้ำ แรงกดดันใต้น้ำจะก่อให้เกิดการบีบอัดต่อศีรษะ และอวัยวะในช่องหู และหากไม่สามารถปรับความดันระหว่างการดำน้ำได้ อาจส่งผลให้เกิดอาการ Barotruama หรืออาการปวดหูที่เกิดจากความดันที่ไม่สมดุลนั่นเอง
4.ชอบเที่ยว...ตามวิถีสายตื๊ด
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าสถานที่เที่ยวกลางคืน คือสถานที่ที่มีระดับความดังของเสียงสูง หรือโดยประมาณ 100-120 เดซิเบล การอยู่ในสถานที่เสียงดังระดับนี้ แม้จะไม่กินระยะเวลานานถึง 8 ชั่วโมง แต่หากไปเที่ยวเป็นประจำติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมก่อนวัยได้
5.เสพติดการกิน 'รสเค็ม'
ไม่เพียงแค่พฤติกรรมการฟังเสียงดังบ่อยๆ เท่านั้น แต่พฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะ 'กินเค็มจัด' เป็นประจำ ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วได้ เพราะการกินเค็มสะสมเป็นเวลานานๆ ทำให้ท่อน้ำในหูชั้นในโป่ง และแตก เกิดภาวะไม่เท่ากันของเกลือแร่ หรือที่เราเรียกกันว่า 'อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน' เพราะประสาทหูเป็นสิ่งที่เปราะบาง หากสังเกตว่าตนเองต้องเปิดทีวีเสียงดังๆ เพื่อให้ได้ยินเสียงชัดเจน หรือมักได้ยินเสียงดังในหู นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของความเสื่อม ที่ต้องรีบรักษาก่อนกลายเป็น 'ประสาทหูเสื่อมถาวร'
วิธีการแคะขี้หู รักษาหูให้ปลอดภัย
สำหรับแนวทางในการรักษา หากหูมีความผิดปกตินั้น แพทย์จะทำการประเมินอาการบาดเจ็บของรูหู และเยื่อแก้วหู และรักษาภาวะหูชั้นนอกอักเสบก่อน โดยทั่วไปแล้วรูทะลุสามารถปิดเองได้ถึง 90% แพทย์จะนัดดูอาการอย่างต่อเนื่อง และตรวจประเมินการได้ยิน หากรูทะลุนั้นไม่ปิดเองภายใน 3 เดือน ร่วมกับมีการสูญเสียการได้ยิน หรือมีเสียงดังรบกวน แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อปิดแก้วหูต่อไป
ส่วน วิธีการแคะขี้หูที่มีความปลอดภัย คือการทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะทำการส่องกล้องภายในรูหู และใช้เครื่องมือในการนำขี้หูออก โดยไม่สัมผัสตัวเยื่อบุ หรือผนังหู หากไม่สามารถพบแพทย์ได้ สามารถทำการแคะหูเองได้ดังนี้
- ทำความสะอาด ข้างหน้า และข้างหลังใบหู
- ใช้เบบี้ออยล์ หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หยดลงในรูหูเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ขี้หูมีความอ่อนตัวลง สามารถแคะออกได้ง่าย
- เอียงศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง ใช้อุปกรณ์ เช่น คัตตอนบัด แหย่เข้าไปในรูหู และแคะขี้หูออกมาอย่างเบามือที่สุด
- เมื่อเสร็จแล้ว ทำความสะอาดรูหู และใบหูด้วยเบบี้ออยล์ แล้วเช็ดให้แห้ง
ข้อควรระวังในการแคะหู
- ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาดเพียงบริเวณใบหู และบริเวณปากรูหูเท่านั้น
- ไม่ควรใช้อุปกรณ์ในการแคะหูซ้ำโดยเด็ดขาด ควรใช้ครั้งเดียว และทิ้งเลย
- ผู้ที่มีอาการแพ้เบบี้ออยส์ และแพ้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ควรหลีกเลี่ยงของเหลวเหล่านี้ในการแคะหู
- หลีกเลี่ยงการใช้ของเหลวต่างๆ มาใช้ในการแคะหู โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ และน้ำเปล่า เพราะจะทำให้หูแห้งจนเกินไป อีกทั้งหากไหลเข้าลงสู่หูชั้นใน อาจเกิดการอักเสบ ระคายเคือง จนเกิดโรคหูน้ำหนวกได้
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น น้ำเข้าหูแล้วมีอาการหูอื้อ หรือรู้สึกว่าน้ำยังไม่ออกจากหู ไม่ควรนำอุปกรณ์ใดๆสอดเข้าไปในรูหูโดยเด็ดขาด ควรไปพบแพทย์
หากหูมีภาวะที่ปกติดี ไม่ควรทำการแคะหู หรือมีความต้องการทำความสะอาดหูจริงๆ ควรให้แพทย์เป็นผู้ทำให้ นอกจากนี้หลังจากทำกิจกรรม เช่น ดำน้ำ หรือว่ายน้ำ มักจะมีอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหู เนื่องจากน้ำที่เข้าหู อาจจะมีสิ่งสกปรกรวมอยู่ในนั้น กลไกในการกำจัดขี้หูจึงมีความผิดปกติ หากมีอาการปวดหู ได้ยินเสียงเบาลง และมีหนอง หรือกลิ่นจากหู ควรมาพบแพทย์โดยทันที
อ้างอิง: กรมการแพทย์ ,คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลสินแพทย์ ,โรงพยาบาลเปาโล