โรคที่ควรระวังในช่วงตรุษจีน... เลือกอาหาร ไหว้เจ้าอย่างไร? ให้ปลอดโรค
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลตรุษจีน ปี 2567 โดยปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรุษจีนตรุษใจแบบนี้ แน่นอนว่าประชาชนเชื้อสายจีน ไม่พลาด จัดเตรียมของไหว้แบบจัดเต็ม ทั้งของคาว ของหวาน เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ สำหรับไหว้เจ้า บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ
Keypoint:
- วันตรุษจีน เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมประเพณีของประเทศจีนที่มีมาอย่างช้านาน และผูกติดกับเรื่องของความเชื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารคาว หวาน ที่นำมาไหว้ขอพรเทพเจ้า หรือรำลึกถึงบรรพบุรุษในตระกูลที่ล่วงลับไปแล้ว
- การเลือกซื้อของที่นำมาไว้ไหว้เจ้า บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพบุรุษ นอกจากคำนึงถึงความหมายมงคลแล้ว ควรคำนึงถึงสุขภาพที่ดีร่วมด้วย เพราะอาหารหลายชนิดสุขตอนรับประทาน แต่อาจจะเสี่ยงเกิดโรคมากมาย
- 4 โรคควรระวังในช่วงตรุษจีน ได้แก่ อาหารเป็นพิษ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อันตรายจากประทัด โรคจากพฤติกรรมการกินของไหว้เจ้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเทศกาลไหนอย่าลืมดูแลสุขภาพ ขอเพียงคิดก่อนกิน
เมื่อนำอาหารไหว้เจ้าตรุษจีน และบรรพบุรุษเรียบแล้ว จะนำไปสู่การนำมาประกอบอาหาร รับประทานกันในครอบครัว เพราะถือเป็นอีกหนึ่งช่วงสำคัญในการสังสรรค์รวมญาติกันในหมู่พี่น้อง แต่อาหารบางอย่างที่เสร็จสิ้นจากการไหว้ เมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับสภาพอากาศร้อน อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโต เมื่อรับประทานอาหารดังกล่าวเข้าไป อาจป่วยได้
ของไหว้แต่ละชนิดมีหมายถึงความเป็นสิริมงคลในด้านต่าง ๆ ใครที่ได้ทานจึงมีแต่รอยยิ้มและความสุขแต่หากมองในเรื่องของสุขภาพแล้ว อาหารไหว้เจ้า วันตรุษจีน ส่งผลกระทบด้านลบต่อร่างกายได้เช่นกันหากไม่เลือกทาน
อีกทั้ง เทศกาลตรุษจีน ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จะต้องทำพิธีบูชาเทพเจ้าและแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งตามธรรมเนียมจะมีการจุดธูป ,เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ,และการจุดประทัด
วันนี้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ได้รวบรวมโรค และ อาหารไหว้วันตรุษจีนยอดนิยม ที่ควรใส่ใจก่อนทาน เพื่อสุขภาพดีห่างไกลโรคในทุกเทศกาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘ช้อปปี้’ แนะ 4 เคล็ดลับปั๊มยอดขายช่วง ‘ตรุษจีน’
เลือกอาหารไหว้เจ้าตรุษจีน..ไม่ให้เสี่ยงโรค
อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษจีนครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็น มงคลในตัว
อาหารอื่นๆ รวมไปถึงหมูสามชั้น ปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดมสมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว เป็นต้น
- หมูสามชั้น
ความหมาย : กินดี อยู่ดี มั่งคั่ง
คำเตือน : หากทานมากเกินไป โรคอ้วนและอ้วนลงพุงถามหา อีกทั้งโรคไต, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, มะเร็ง เป็นต้น เพราะมีไขมันอิ่มตัวรวมกับทอดน้ำมันจึงยิ่งมันเยิ้ม
- เป็ดพะโล้
ความหมาย : การงานสำเร็จทุกประการ
คำเตือน : ตรวจเช็กความสดใหม่ ห้ามค้างคืนเด็ดขาด เพราะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่โดนเคี่ยว ต้ม ตุ๋นเป็นเวลานาน อาจเกิดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
- ไก่ต้ม
ความหมาย : หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า
คำเตือน : กินแต่พอดี เลี่ยงหนัง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ ไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้การปักธูปลงไปที่เนื้อไก่ต้องระวังสีย้อม สารตะกั่ว ปรอท เป็นต้น อาจทำให้ท้องเสียเฉียบพลันและเป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาวได้
- ผัดหมี่ซั่ว
ความหมาย : อายุยืนยาว
คำเตือน : เส้นหมี่ซั่วมีทั้งสีขาวนวลและเหลืองอ่อน ต้องสังเกตและระวังเส้นหมี่ซั่วที่ใช้สีสังเคราะห์ เพราะอาจทำให้ท้องร่วง ท้องเสีย และให้โทษในระยะยาวได้
- ขนมเทียน ขนมเข่ง
ความหมาย : หวานชื่น ราบรื่นในทุก ๆ เรื่อง
คำเตือน : เพราะมีแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก จึงเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ควรกินแต่พอดี
เช็กโรคที่อาจจะมาพร้อมกับวันตรุษจีน
1.อาหารเป็นพิษ
ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ปวดมวนท้อง ปวดศีรษะ อาจมีไข้ร่วมด้วย ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่รับเข้าไป หากเกิดอาการขาดน้ำจะทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายผงเกลือแร่ (ORS) ทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่ง ORS ประชาชนสามารถเตรียมเองได้ง่ายๆ โดยเติมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมกับน้ำสะอาด 750 ซีซี (หากผสมแล้วกินไม่หมดภายใน 1 วัน ให้เททิ้งและผสมใหม่) และถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ขอแนะนำว่า อาหารที่ใช้ไหว้เจ้าหรือบรรพบุรุษ ควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญขอให้ยึดหลัก 'สุก ร้อน สะอาด' โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ
2. โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
สำหรับใครที่ไหว้เจ้าโดยมีการจุดธูป หรือเผากระดาษไหว้เจ้า ควรระวังโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจากปัจจัยเหล่านี้ให้ดี
ควันธูป หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ผู้สูดดมรู้สึกระคายเคืองตาและคอ แสบตา น้ำตาไหล จาม ไอ หายใจลำบาก ง่วงนอน อาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้เลย เพราะในควันธูปมีสารก่อมะเร็งถึง 3 ชนิด เสี่ยงทำให้เป็นทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
กระดาษไหว้เจ้า มีการเคลือบสารประกอบโลหะหนักถึง 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส หากสูดดมควันเข้าร่างกาย อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ชักกระตุก ไตวาย โรคพาร์กินสันได้เลยทีเดียว
3. อันตรายจากประทัด
จากสถิติปี 2564 พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ มากถึง 594 ราย สูงสุดในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีน โดยกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือช่วงอายุ 1 – 14 ปี
ดังนั้นหากบ้านไหนจะมีการจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ผู้ใหญ่ควรดูแลบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้
- ไม่ควรให้เด็กจุดประทัดเล่นขณะที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล และควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ไม่เก็บประทัดเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง เพราะอาจเกิดการระเบิดได้
- ควรเตรียมภาชนะใส่น้ำวางไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดประทัด
- หากจุดประทัดไม่ติด ไม่ควรพยายาจุดต่อ เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
- ควรจุดประทัดในที่โล่งแจ้ง ห่างจากวัตถุไวไฟ ห่างจากตัวบริเวณ 1 ช่วงแขน และไม่ควรจุดครั้งละมาก ๆ
- ไม่ควรหยอกล้อหรือโยนใส่กันขณะจุดประทัด
- ควรบันทึกเบอร์โทรฉุกเฉิน 1669 ไว้ในโทรศัพท์ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
4. โรคจากพฤติกรรมการกินอาหาร ของไหว้เจ้า
เทศกาลตรุษจีนมีการไหว้เจ้าด้วยอาหารมากมาย ทั้งของมัน ของหวาน โดยหลังจากไหว้เสร็จก็เป็นหน้าที่ของลูกหลานในบ้านที่จะนำไปบริโภคต่อ เสริมความโชคดีด้วยอาหารมงคล
ดังนั้น นอกจากโรคอ้วนและโรคความดันที่ควรระวังแล้ว ยังต้องระวังโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย เนื่องจากช่วงตรุษจีนจะมีการแจกจ่ายอาหารและจัดเลี้ยงกลุ่มใหญ่ ดังนั้นผู้ประกอบอาหารจึงควรคำนึงถึงความสะอาดและสุขภาพของผู้รับประทานให้ดี
ไม่ว่าจะเทศกาลไหนก็ดูแลสุขภาพได้ไม่ยาก ขอเพียงคิดก่อนกิน ตรุษจีนปีนี้ก็สุขกายสบายใจ อิ่มท้องแบบสุขภาพดี
เลือกวัตถุดิบอาหารในวันตรุษจีน
- เลือกเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ ไร้ร่องรอยความผิดปกติ หรือติดเชื้อ เน่าเสีย
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีฉูดฉาด โดยเฉพาะขนม เพราะมักจะประกอบไปด้วยสารโลหะหนัก
- ระมัดระวังเชื้อราที่ปนมากับของแห้ง เช่น หมี่ซั่ว ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอม ขนมถ้วยฟู เป็นต้น
- เลือกอาหารกระป๋องที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบ หรือสนิม มีฉลากแสดงส่วนประกอบ เครื่องหมายรองรับจากองค์การอาหารและยา วัน เดือน ปีที่ผลิต หมดอายุ
5 สารปนเปื้อนที่มองไม่เห็น! ในอาหาร
1. ฟอร์มาลีน
พบในอาหารทะเล ผักผลไม้ ทำให้อาหารดูสดใหม่ แต่มีอันตรายต่อตับ ไต หัวใจ สมองและทางเดินอากาศอักเสบ มีผลถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
2. บอแรกซ์
พบในลูกชิ้น ตังกวยแฉะ (ขนมฝักอปบแห้ง) ขนมอี๋ ทำให้เกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังร้อนแดง ความลด และหมดสติ มีผลถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
3. สารฟอกขาว
พบในถั่วงอก เต้าหู้ หน่อไม้จีน ขิงซอยและเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำให้เกิดอาการอักเสบบริเวณอวัยวะที่สัมผัส เช่น ปาก กระเพาะอาหาร เกิดอาการแน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียน มีผลถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
4. สารกันรา
พบในผักดอง ผลไม้ดอง สามารถทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
5. ยาฆ่าแมลง
พบในผักสด ผลไม้สดและปลาหมึกแห้ง หากรับปริมาณมากจะทำให้ กล้ามเนื้อสั่น ชักกระตุก หายใจติดขัด และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
ฉะนั้นในเทศกาลตรุษจีนแบบนี้ เราควรเลือกวัตถุดิบ ที่สด สะอาด ปรุงสุก และควรเก็บรักษาอย่างถูกวิธี เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เราปลอดภัย ปลอดโรค มีความสุขในเทศกาลแห่งครอบครัว
ระวัง! การจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง และประทัด
เทศกาลตรุษจีน ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จะต้องทำพิธีบูชาเทพเจ้าและแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งตามธรรมเนียมจะมีการจุดธูป ,เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ,และการจุดประทัด แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดควันที่มีสารมลพิษ และมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอดไม่แตกต่างจากควันบุหรี่เลยทีเดียว
แน่นอนว่าหลายครอบครัวไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผาได้ เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน จึงควรปรับวิธี เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดให้มากที่สุด
- ควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- หันมาใช้ธูปที่มีขนาดสั้นลง ดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น ก็จะช่วยลดโอกาสสัมผัสหรือสูดดมในระยะเวลานานได้
- ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการรับฝุ่นควันโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการปักธูปลงบนอาหาร เพื่อลดเสี่ยงสารเคมี
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง เมื่อมีการจุดธูป ประทัด หรือเผากระดาษ ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เพราะบุคคลกลุ่มนี้มีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่เหมือนปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี
อ้างอิง: สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ,ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ,กรมควบคุมโรค