Sustainable Foods อาหารเพื่อสุขภาพ สู่โลกที่ยั่งยืน
ปัญหาสภาพภูมิอากาศจัดเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ ภาวะโลกร้อน กระทบต่อปัจจัยด้านสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพอาหารต่ำ กิจกรรมทางกาย และคุณภาพการนอนลดลง รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต และทางเดินหายใจ
Key Point :
- WHO คาดการณ์ว่า ในช่วงสิบปีข้างหน้า จะมีคนเสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับทุกประเทศอย่างมาก
- ภาวะโลกร้อน ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อปัจจัยด้านสุขภาพต่าง ๆ ทั้งอาหาร การนอน และสุขภาพจิต
- นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนและอบอุ่นขึ้น เพิ่มโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และ โรคชิคุนกุนยา
ปัญหาสภาพภูมิอากาศจัดเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ เมื่อไฟป่าทำให้อากาศเป็นอันตราย น้ำท่วมเป็นสาเหตุให้น้ำดื่มปนเปื้อน สารอาหารในพืชผักลดลง ภาวะโภชนาการต่ำ มาลาเรีย ท้องเสีย และความเครียดจากความร้อน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังบั่นทอนสุขภาพและคร่าชีวิตของผู้คน เมื่อ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คาดการณ์ว่า ในช่วงสิบปีข้างหน้า จะมีคนเสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปี ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับทุกประเทศอย่างมาก
ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน (Global Warming)’ สหภาพยุโรปและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization, WMO) ระบุว่าเดือนกรกฎาคม ของปี พ.ศ. 2566 เป็นเดือนที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา ทำให้เข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด (Global Boiling)’ อย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สุขภาพจิตเข้มแข็ง ไม่เครียด ไม่ติดมือถือ
- 'สมาธิ' พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
- มหัศจรรย์แห่ง 'การนอนหลับ' เพื่อสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว
ภาวะวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมนี้ ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในการประชุมประจำปีของสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่ถูกจัดขึ้น ณ วันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยวัตถุประสงค์หลักยังคงเป็นเรื่องการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตาม ‘ข้อตกลงปารีส’ หรือ Paris agreement ในการประชุม COP21 เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งในตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้สูงขึ้น 1.4 องศาเซลเซียสแล้ว เมื่อเทียบจากก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-industrial levels)
ผลกระทบโลกเดือดต่อการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs)
ในปี พ.ศ.2563 จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 45 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 74% ซึ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกระทบต่อปัจจัยด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น
1. อาหารคุณภาพต่ำ – จากการเพาะปลูกเป็นไปอย่างยากลำบากและสารอาหารในดินน้อยลง น้ำดื่มปนเปื้อน และราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ยากขึ้นกว่าแต่ก่อน
2. กิจกรรมทางกายลดลง – ผู้คนเลือกที่จะไม่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นและปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น PM2.5, ควันพิษจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม
3. คุณภาพการนอนหลับลดลง – งานวิจัยในวารสาร One Earth ปี พ.ศ. 2565 พบว่าอุณหภูมิที่สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ทำให้ระยะเวลาการนอนหลับลดลง 7 นาที และอุณหภูมิที่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ทำให้ระยะเวลาการนอนหลับลดลง 15 นาที
4. ปัญหาสุขภาพจิต – ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศแปรปรวนเพิ่มความวิตกกังวลและอารมณ์ทางด้านลบของผู้คน
5. ปัญหาทางเดินหายใจ - มลภาวะทางอากาศนำไปสู่โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้
นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนและอบอุ่นขึ้น เพิ่มโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และ โรคชิคุนกุนยา องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านรายในปี พ.ศ. 2562 จากราว 5 แสนรายในปี พ.ศ. 2543
แนวทางการกินอาหารเพื่อสุขภาพ สู่โลกที่ยั่งยืน
1. ลดการบริโภคพลังงานส่วนเกิน
การบริโภคพลังงานมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งบางชนิด การรับประทานอาหารที่มากเกินไปไม่ใช่ปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทรัพยากรน้ำ ที่ดิน พลังงานและสารเคมีที่ถูกใช้มากขึ้น เพื่อผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอ
แม้ความต้องการพลังงานของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า ทั่วโลกบริโภคแคลอรี่เฉลี่ยอยู่ที่ 2,960 กิโลแคลอรี่ต่อคนต่อวัน ซึ่งคนอ้วนมีแนวโน้มบริโภคอาหารสูงกว่าความต้องการพลังงานประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ และแคลอรี่ส่วนเกินนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับอุบัติการณ์ โรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากลดการบริโภคแคลอรี่ที่มากเกินไปลงได้ ก็มีแนวโน้มว่าการใช้ทรัพยากรการเกษตรและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงได้เช่นกัน
2. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป
ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา รับประทานเนื้อสัตว์เฉลี่ยที่ 127 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งเนื้อวัว หมู ไก่ ปลา ไข่ นม ซึ่ง EAT-Lancet Commission แนะนำที่ไม่ควรเกิน 15.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่การบริโภคมากเกินไป ซึ่งการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี พ.ศ. 2561 รายงานว่า ประเทศตะวันตกต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง 90% เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
โปรตีนจากสัตว์ใช้ทรัพยากรในการผลิตอาหารมากกว่าอาหารจากพืช 3-4 เท่า ผู้คนส่วนใหญ่รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย หากสามารถปรับเปลี่ยนให้การบริโภคโปรตีนอยู่ที่ประมาณ 60 กรัมต่อคนต่อวัน โดยลดเฉพาะโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 715 ล้านตัน CO2e และลดจำนวนการใช้พื้นที่ได้มากถึง 6.41 ล้านล้านตารางเมตร
3. ลดการบริโภคเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว
ในปริมาณโปรตีนที่เท่ากัน การผลิตเนื้อวัว ต้องใช้พื้นที่มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นถึง 28 เท่า และต้องใช้น้ำสะอาดมากกว่า 2-4 เท่า อีกทั้งอุตสาหกรรมนมมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ถึง 3.4% ซึ่งมี ส่วนแบ่งสูงกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ระบบปศุสัตว์ผลิตก๊าซเรือนกระจก จากการหมักในลำไส้ของวัว (มีเทน) การจัดการมูลสัตว์ (มีเทนและไนตรัสออกไซด์) และการผลิตอาหารสัตว์ การขนส่ง และการแปรรูป (คาร์บอนไดออกไซด์และ ไนตรัสออกไซด์)
เนื้อวัว จัดเป็นกลุ่มเนื้อแดง การบริโภคที่มากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหัวใจและ หลอดเลือด เบาหวานประเภทที่สอง รวมถึงโรคอ้วน ดังนั้น การบริโภคเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวให้น้อยลงจึงถือเป็นเป้าหมายหลักที่ช่วยทั้งโลก และ โรค ให้ดีขึ้น
4. เพิ่มโปรตีนจากพืช (Plant-based diet)
เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกาย เมื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จึงจำเป็นต้องรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่นให้เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2562 รายงาน The EAT-Lancet Commission on Food, Planet, Health เสนอแนวทางการรับประทานอาหารแบบ “ยืดหยุ่น” (Flexitarian)
โดยการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยพืช สลับกับการรับประทานเนื้อสัตว์ขาว เช่น ไก่ หรือ ปลา เป็นบางครั้ง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน win-win ทั้งเราและโลก เพราะถ้าทุกคนรับประทานอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น และหยุดการปล่อยมลพิษจากภาคส่วนอื่น ๆ มีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ 1.5 องศาเซลเซียส
ประโยชน์ของการรับประทานอาหารจากพืชมีการยืนยันด้วยงานวิจัยมากมาย เพราะอุดมด้วยใยอาหาร สาร พฤกษเคมี วิตามินและแร่ธาตุ ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ (Probiotics) รวมถึงให้พลังงานต่ำและสร้างความรู้สึกอิ่มท้อง จึงช่วยเรื่องควบคุมน้ำหนักได้
5. วางแผนการซื้ออาหาร กินให้ทัน กินให้พอดี ไม่เหลือทิ้ง
อาหารประมาณ 1 ใน 3 ที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เพียงแต่สูญเสียทรัพยากรในกระบวนการผลิต ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากมวลขยะมหาศาล ดังนั้นวางแผนก่อนซื้ออาหารด้วยการจดรายการที่ต้องการและซื้อเท่าที่จำเป็น อีกทั้งเรียนรู้วิธีจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อยืดอายุ และเลือกซื้ออาหารจากท้องถิ่นตามฤดูกาล เพราะช่วยลดทรัพยากรในการผลิตและขนส่ง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นอีกด้วย
ความยั่งยืน (Sustainability) คืออนาคตของการดูแลทั้งตัวเองและโลกไปพร้อมกัน แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงการรณรงค์ไม่ใช่กฎหมาย แต่ทุกการกระทำไม่ว่าจะเล็กน้อยและยิ่งใหญ่เพียงใด ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกของเราได้ มาร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ลูกหลานในรุ่นต่อไปกันครับ
++++++
แหล่งอ้างอิง :
1. COP28: The Climate Crisis is also a health crisis | UN news [Internet]. United Nations; 2023 [cited 2023 Dec 19]. Available from: https://news.un.org/en/story/2023/12/1144292
2. Hersbach H., Bell B., Berrisford P., Hirahara S., Horányi,A., Muñoz Sabater J., es at. Complete ERA5 from 1940: Fifth generation of ECMWF atmospheric reanalyses of the global climate. Copernicus Climate Change Service (C3S) Data Store (CDS). 2023, DOI: 10.24381/cds.143582cf (Accessed on 29-DEC-2023)
3. Reiter P. Climate change and mosquito-borne disease. Environmental Health Perspectives. 2001;109:141.
4. Chevance G, Fresán U, Hekler E, Edmondson D, Lloyd SJ, Ballester J, et al. Thinking health-related behaviors in a climate change context: A narrative review. Annals of Behavioral Medicine. 2022;57(3):193–204.
5. Ranganathan J, Vennard D, Waite R, Searchinger T, Dumas P, Lipinski B. Shifting diets: Toward a sustainable food future. 2016
6. Springmann M, Clark M, Mason-D’Croz D, Wiebe K, Bodirsky BL, Lassaletta L, et al. Options for keeping the food system within environmental limits. Nature. 2018 Oct 10;562(7728):519–25. doi:10.1038/s41586-018-0594-0
7. Minor K, Bjerre-Nielsen A, Jonasdottir SS, Lehmann S, Obradovich N. Rising temperatures erode human sleep globally. One Earth. 2022 May 20;5(5):534-49.