เพื่อนคุย ‘AI แชตบอต’ แก้ปัญหาสุขภาพจิต

เพื่อนคุย ‘AI แชตบอต’ แก้ปัญหาสุขภาพจิต

ส่องเทคโนโลยี AI ด้านสุขภาพจิต ที่สามารถรับข้อมูล ทำการวิเคราะห์ ตอบโต้ผ่านระบบแชตบอตกับคนได้ เพื่อนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ สามารถออกแบบชุด บทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษา

Key Point : 

  • ปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมากถึง 256,000 คน ในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษามากถึง 28,775 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตกลับมีไม่เพียงพอ ปัจจุบัน เรามีจิตแพทย์อยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร
  • เทคโนโลยี AI จึงเข้ามาเป็นตัวช่วยในการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต วิเคราะห์ ตอบโต้ผ่านระบบแชตบอต โดยนักจิตวิทยาสามารถออกแบบชุดบทสนทนาได้เอง

 

เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นสำหรับนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ โดยสามารถออกแบบชุด บทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษาดูแล

 

วิถีชีวิตอันเร่งรีบ การแข่งขัน ตลอดจนปัญหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรง ยาเสพติด ฯลฯ ส่งผลให้คนในสังคมเกิดภาวะเครียด และปัญหาด้านจิตใจมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจของ สหประชาชาชาติ (UN) พบว่า ความสุขของประเทศไทยกำลังลดลง

 

จากรายงาน World Happiness Report ปี 2023 ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยความสุขของประชากรไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ของโลก หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างค่าเฉลี่ยช่วงปี 2562-2564 กับช่วงปี 2563-2566 จะพบว่า จากที่เคยอยู่ที่ 5.891 ได้ลดลงมาอยู่ที่ 5.843

 

ไทยมีผู้ป่วยสุขภาพจิต 256,000 คน

หากมองย้อนกลับมาที่ สถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 พบว่า ประเทศไทย มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมากถึง 256,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษามากถึง 28,775 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ทว่า ในแง่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตกลับมีไม่เพียงพอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ปัจจุบัน มีจิตแพทย์อยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร นักจิตวิทยา (คลินิก) มีประมาณ 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร และพยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น

 

อัตราการป่วยไข้จนถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์กำลังทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้คือการ ‘คัดกรองสุขภาพจิต’ เพื่อดูแลอย่างเท่าทัน ป้องกันไม่ให้ต้องกลายเป็น ‘ผู้ป่วย’ ที่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล

 

เทคโนโลยี AI ดูแลสุขภาพจิต

ดังนั้น ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงเข้ามาร่วมสนับสนุนงานวิจัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการคิดค้นนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

 

นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในรูปแบบของ แพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือทางจิตใจ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (แชตบอต) โดยมี ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี นักวิจัยเครือข่าย สวรส. จากศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าทีมวิจัยในการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมในครั้งนี้

 

งานวิจัยนี้เป็นการสร้างแพลตฟอร์ม AI เพื่อการสร้างแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพจิตที่สามารถรับข้อมูล ทำการวิเคราะห์ ตอบโต้ผ่านระบบแชตบอตกับคนได้ โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูล, ระบบประเมินผล และระบบโต้ตอบเพื่อคุยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น 

 

จุดเด่น คือ ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านสุขภาพจิตของประชาชน สามารถร่วมออกแบบข้อมูลและนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของหน่วยงานได้อย่างสะดวก ประหยัดงบประมาณ

 

 

บำบัดจิตใจด้วยระบบ AI แชตบอต 

"กีรติ ปัทมเรขา" นักวิจัยเครือข่าย สวรส. หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และโรงเรียน กว่า 40 หน่วยงาน ได้นำไปใช้งานจริงแล้ว โดยบุคลากรด้านสุขภาพจิตของแต่ละหน่วยงานสามารถพัฒนาแชตบอตบนแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทำให้ประยุกต์ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

แพลตฟอร์มกลางในการสร้างเครื่องมือสำหรับบำบัดจิตใจด้วยระบบ AI แชตบอต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นสำหรับนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ โดยสามารถออกแบบชุด บทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษาดูแล

 

จากนั้น AI จะทำหน้าที่ประมวลชุดบทสนทนาเพื่อใช้โต้ตอบสนทนากับผู้ใช้ระบบ ทำให้นักจิตวิทยามีระบบแชทบอทที่ดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

 

สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการมีระบบแชตบอตเพื่อเก็บข้อมูล และประเมินสุขภาพจิต ซึ่งหากจ้างบริษัทเอกชนสร้างระบบฯ ให้ จะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านบาท ใช้งานง่าย บุคลากรด้านสุขภาพจิตไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมก็ใช้งานได้

 

เพราะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถรับข้อมูลในรูปแบบ Drag & Drop ซึ่งสามารถส่งชุดข้อมูลที่เป็นแนวหัวข้อของบทสนทนาแต่ละรูปแบบเข้าไป ระบบก็จะประมวลผลและนำไปเป็นข้อมูลในแชตบอตที่เตรียมสำหรับใช้งานได้ต่อไป