ไทยจัดงบดูแลสุขภาพจิตแค่ 50 บาทต่อคน ต่ำกว่าต่างประเทศ 5 เท่า
คณะกรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เห็นชอบแผนพัฒนาสุขภาพจิตฯ เล็งตั้งกองทุนด้านสุขภาพจิตขับเคลื่อนงาน ดึงเงินจากการยึดทรัพย์คดีค้ายาเสพติด ป.ป.ส. มาใช้ ขณะที่งบฯรัฐจัดให้แค่ 50 บาทต่อคน ปี 2566 พบจำนวนผู้ก่อความรุนแรงสะสม 42,629 คน เป็นรายใหม่ 15,000 คน
Keypoints:
- จากการดำเนินงานควบคุมและป้องกันความรุนแรง และการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ปี 2566 มีจำนวนผู้ก่อความรุนแรงสะสม 42,629 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 15,000 คน
- ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณดูแลด้านสุขภาพจติ เพียง 50 บาทต่อคน ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ราว 250 บาท ไทยได้รับงบต่ำกว่าถึง 5 เท่า
- คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เคาะแผนพัฒนาสุขภาพจิต พร้อมเดินหน้าตั้งกองทุนด้านสุขภาพจิต เล็งดึงเงินจากการยึดทรัพย์คดียาเสพติดมาใช้ ขับเคลื่อนแก้ปัญหา
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่1/2567 เมื่อ 5 ก.พ. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธาน ว่า รัฐบาลและคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติให้ความสำคัญในประเด็นการดูแลสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยนโยบายสำคัญ ได้แก่
1. ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นและผู้ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ตั้งแต่ในเรื่องการส่งเสริมเจตคติที่ดี การเคารพสิทธิ ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญการดูแลขั้นพื้นฐานทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการป้องกัน ลดสถานที่เสี่ยง บังคับใช้กฎหมาย เน้นการช่วยเหลือมากกว่าลงโทษ และมีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้มีความประพฤติรุนแรง
2. การจัดการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) / ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน
3. ปัญหาการข่มขืน/กระทำชำเรา การค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน
และ4. ปัญหาผู้ติดยาเสพติดและจิตเวช นอกจากจะป้องกันปราบปรามตามมาตรการกฎหมาย บูรณาการในการบำบัด รักษา ฟื้นฟู ติดตามหลังจากกลับสู่ชุมชน ลดการเสพซ้ำ เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรง
ตั้งกองทุนด้านสุขภาพจิต
“ได้พูดคุยกันเรื่องจัดตั้งกองทุนด้านสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิตจะเร่งดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาไม่มากในการดำเนินการ การจัดตั้งเป็นกองทุนจะใช้เวลาน้อยกว่าการทำเป็นกฎหมายที่จะต้องเสนอเข้าสภาก่อน ฉะนั้นการทำเป็นกองทุนก็อาจจะเร็วขึ้น”นายสมศักดิ์กล่าว
ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบฯ แต่รู้ว่า ถ้าไม่มีเงิน งานก็ทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเเห็นว่ามีอันตรายที่เข้าสู่เด็กและเยาวชน มีกรณีที่ทำร้ายกันเสียชีวิตจำนวนมาก และมีผู้ป่วยจิตเวลาเข้ามาปะปน
ทราบจากการดำเนินงานควบคุมและป้องกันความรุนแรง และการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ปี 2566 มีจำนวนผู้ก่อความรุนแรงสะสม 42,629 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 15,000 คน จึงต้องมีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง อย่างใกล้ชิด
เล็งใช้งบฯจากยึดทรัพย์คดียาเสพติด
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกองทุนสุขภาพจิต ท่านรองนายกฯ ในฐานะที่ท่านเคยเป็น รมว.กระทรวงยุติธรรม ก็จะทราบว่ามีเงินจากการยึดทรัพย์ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
จึงมีการพูดคุยกันว่าที่มาของเงินกองทุนอาจจะมาจากส่วนนี้ ซึ่งอาจจะคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการค้ายาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เรื่องนี้ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ส. ด้วย
เคาะแผนพัฒนาสุขภาพจิต
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบ แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบและบริการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนอย่างบูรณาการ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข UNICEF และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยให้เริ่มเผยแพร่แผนดังกล่าวจนนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
มีจุดประสงค์ให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคมได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแล และบริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นการลดความรุนแรงของปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของปัญหาสุขภาพจิต และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมยังมีมติเห็นชอบสนับสนุนเพิ่มความเข็มแข็งของการจัดระบบดูแลเฝ้าระวังป้องกันผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with high risk to Violence: SMI-V) หรือเรียกว่าระบบ V-Care รวมทั้งจะกำกับดูแล ตัวชี้วัดระดับจังหวัด ได้แก่ อุบัติการณ์การพยายามฆ่าตัวตายลดลง และอัตราการเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) เพิ่มขึ้น และขยายผลการดูแลโดยชุมชนล้อมรักษ์(Community-Based Treatment; CBTx)
งบดูแลสุขภาพจิตแค่ 50 บาทต่อคน
ส่วนสถานการณ์ปัญหาในสังคมที่ทวีความรุนแรง นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมาย จึงควรมีการทบทวนพ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ และอนุบัญญัติฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านงบประมาณจะมีการเพิ่มหมวดการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตและจิตเวช ด้านบุคลากรเสนอให้เพิ่มเติมพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต
และทบทวนบทบัญญัติ ที่สามารถออกอนุบัญญัติฯ ในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพจิต เช่น การที่พ่อแม่ต้องศึกษาการเลี้ยงดูลูก การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต เช่น การดูแลเฝ้าระวังป้องกันในโรงเรียน และการควบคุมกำกับสื่อที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต เช่น สื่อเผยแพร่ความรุนแรงต่างๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิตนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้รับงบประมาณคิดเฉลี่ยตามจำนวนประชากรอยู่ที่คนละ 50 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยสากลทั่วโลกอยู่ที่ 250 บาท หากเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยก็อยู่ที่ประมาณ 150 บาท ดังนั้น ประเทศไทยได้รับงบต่ำกว่าถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นงบที่ใช้ดูแลงานด้านสุขภาพจิตทั้งหมด ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต จำเป็นต้องใช้เวลาดูแลในระยะยาว จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลมาก