Smiling Depression ภาวะหน้าชื่นอกตรม 'รอยยิ้ม' ที่อาจปิดบังความรู้สึก
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่หารู้ไม่ว่า รอยยิ้ม อาจเป็นความรู้สึกที่ใช้ปิดบังความทุกข์ในใจก็เป็นได้ หรือที่เราเรียกว่า ภาวะ Smiling Depression
Key Point :
- บางครั้ง รอยยิ้ม ก็ใช่ว่ามีความสุขเสมอไป เพราะภายใต้รอยยิ้มนั้น อาจปิดบังความทุกข์ในใจ หรือที่เราเรียกว่า ภาวะ Smiling Depression
- ภาวะ Smiling Depression กลุ่มคนที่มีอารมณ์เศร้าหรือไม่ค่อยมีความสุข แต่บางครั้งเขาไม่สามรถแสดงออกมาได้ เนื่องจากกลัวถูกมองว่าอ่อนแอ หรือ ถูกคาดหวัง
- การใช้เรื่องของการเก็บกดอารมณ์ทางลบซ้ำๆ บ่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อจิตใจ อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
ภาวะ Smiling Depression หรือ ภาวะหน้าชื่นอกตรม กลไกการป้องกันตัวของผู้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งอาจกลัวว่าการแสดงอารมณ์ด้านลบ เป็นการแสดงความอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งออกมา ทำให้ในบางครั้งไม่สามารถแสดงความเศร้า หรืออาจจะไม่มีความสุขบางอย่างออกมาได้
ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผ่าน RAMA Channel ว่า Smiling Depression คือ กลุ่มคนที่มีอารมณ์เศร้าหรือไม่ค่อยมีความสุข แต่บางครั้งเขาไม่สามารถแสดงออกมาได้ อาจจะต้องฝืนยิ้ม หรือแสร้งว่าตัวเองมีความสุขต่อหน้าบุคคล หรือผู้คนอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชอบกัดเล็บตัวเอง ต้องรู้ ! อาการแบบไหน เข้าข่ายโรคจิตเวช
- รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
- ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ
สาเหตุของภาวะ Smiling Depression
สาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- บางคนอาจจะกลัวว่าการแสดงออกของความเศร้า ร้องไห้ เป็นการแสดงความไม่เข้มแข็งหรืออ่อนแอออกมา
- หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าผู้คนอื่นๆ คาดหวังกับตัวเขา ทำให้บางทีไม่สามารถแสดงความเศร้าหรือไม่มีความสุขบางอย่างออกมาได้
ผศ. นพ.คมสันต์ อธิบายต่อไปว่า เป็นกลไกทางจิตรูปแบบหนึ่ง ที่เก็บกดอารมณ์ทางลบ ซึ่งการเก็บกดตรงนี้ มีทั้งเก็บกดภายใต้จิตสำนึก หรือบางครั้งอาจจะรู้ตัว การใช้เรื่องของการเก็บกดอารมณ์ทางลบซ้ำๆ บ่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อจิตใจ เพราะการใช้กลไกทางจิตรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซ้ำๆ อารมณ์เศร้านั้นก็มักจะยังคงอยู่
ภาวะ Smiling Depression อันตรายอย่างไร ?
คนที่มีอารมณ์เศร้า แต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ บางครั้งทำให้ขาดโอกาสได้รับความช่วยเหลือ หรือคำปรึกษาจากบุคคลอื่นๆ เพราะเขาไม่กล้าแสดงออกถึงอารมณ์เศร้าภายในที่เขามีอยู่ จนกระทั่งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
วิธีรักษาอาการ Smiling Depression
อาจจะมีการจัดการอารมณ์ทางลบอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การขอความช่วยเหลือ ปรึกษาผู้อื่น การแก้ปัญหาก็อาจจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นบ้าง หากไม่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง หรือบางครั้งอาจจะใช้วิธีการระบายออกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย วาดรูป เล่นดนตรี
"กรรมวิธีการจัดการกับอารมณ์ทางลบมีหลากหลายรูปแบบ จะช่วยให้จัดการอารมณ์ทางลบได้ดีมากกว่า นอกจากนั้น หากอารมณ์ทางลบเป็นมากจนกระทั่งใกล้เคียงกับอาการของโรคซึมเศร้าแล้ว การไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความจำเป็น" ผศ. นพ.คมสันต์ กล่าว
Smiling depression ในวัยรุ่นชาย
ด้าน นพ. ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายบำบัด และวิกฤตบำบัด กล่าวว่า Smiling depression เป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้าที่พบเจอได้ในวัยรุ่นชาย โดยภาวะนี้ คือกลุ่มภาวะซึมเศร้าที่ไม่ปกติ ไม่มีอาการแสดงออกถึงความโศกเศร้า แต่มีความสมบูรณ์แบบในตัวตน ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และเพื่อน
จึงตั้งเป้าหมายไว้สูงว่าทุกอย่างต้องออกมาสมบูรณ์แบบ ถ้าสร้างความสุขสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อื่นได้ ก็ต้องทำให้ได้ตลอด ไม่ว่าตัวเองจะพบเจอกับอุปสรรคหรือปัญหาอะไรในชีวิตก็ตาม ซึ่งคนที่มีภาวะดังกล่าว จึงแสดงตัวตนด้วยการยิ้มแย้ม ร่าเริงตลอดเวลา แต่ข้างในเจ็บและเศร้า ไม่สามารถแสดงออกมาได้
นอกจากนี้ ยังระบุต่อว่า ภาวะ Smiling depression เสี่ยงต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ชายมักจะแสดงความรู้สึกที่น้อยกว่า เนื่องจากสังคมมองว่าผู้หญิงแสดงความรู้สึกออกมาได้ง่ายและทุกคนก็ยอมรับว่าการร้องไห้ของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องแปลก
ในขณะที่หากผู้ชายร้องไห้ถือเป็นเรื่องแปลกในสังคม จึงมีคำว่า ‘ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้’ เกิดขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่กล้าบอกใครเพราะเห็นว่าคนอื่นมีปัญหาเยอะอยู่แล้ว จึงเกิดความกังวลว่าจะสร้างปัญหาและความกังวลให้กับคนรอบข้าง จนสะสมกลายเป็นความเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้ อีกทั้งยังมีโอกาสฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เพราะเลือกวิธีที่รุนแรงมากกว่า
ทำอย่างไรเมื่อคนใกล้ตัวมีภาวะ Smiling depression ?
นพ. ธนีย์ อธิบายถึงการรับมือกับคนใกล้ตัวที่มีภาวะ Smiling depression ว่า ให้ไถ่ถามโดยไม่ตัดสิน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าความรู้สึกของตนเอง ไม่ตัดสินหรือให้คำแนะนำ ให้นั่งฟังและพยักหน้าอย่างจริงใจ ไม่ทักท้วง ไม่ควรบอกให้เขาสู้ ๆ หรือพยายามอีกนิด เพราะเขาเองก็คิดแบบเดียวกับเราเช่นกัน
แต่ความเครียดของแต่ละคนมีต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เขาระบายความรู้สึกหรือคำพูดออกมา อย่าตัดสินหรือให้ความเห็นเด็ดขาด เพื่อทำให้เขาได้เล่าและเปิดใจกับเราได้ ให้มองว่าเขาเป็นพวกเดียวกับเรา อย่ามองว่าเขาไม่เหมือนเรา หรือแตกต่างกับเรา แล้วเขาก็จะเปิดใจ
อย่างไรก็ตาม คนที่ป่วยเป็นภาวะ Smiling depression มักจะรู้สึกว่าตัวเองสู้ไม่พอ คิดว่าตัวเองปกติดี ไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด และสุดท้ายก็รับการรักษาไม่ทัน “กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว” ซึ่งเป็นเหตุผลให้เกิดการฆ่าตัวตายสูงขึ้น เมื่อผู้ป่วยเปิดใจแล้ว สิ่งที่ต้องถามเสมอคือ “คุณมีความคิดอยากฆ่าตัวตายไหม”
นพ. ธนีย์ ระบุว่า นักเรียนแพทย์ทุกคนได้รับการสอนเสมอว่า จะต้องถามผู้ป่วย ซึ่งคำถามนี้ไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการฆ่าตัวตายแต่อย่างใด แต่เป็นการประเมินว่าคนไข้มีอาการหนักแค่ไหน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนขนาดไหน ? โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ไม่ได้มีความคิดจะฆ่าตัวตายมักตกใจในคำถาม แต่คนที่มีความคิดเหล่านี้อยู่จะระบายความเครียดออกมา
ที่สำคัญคือ “ผู้ป่วยภาวะ Smiling depression มีอัตราการการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าปกติ”
วิธีสังเกตภาวะ Smiling depression
หนึ่ง - ปฐมาภรณ์ ตันจันทร์พงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ได้ให้รายละเอียดของภาวะ Smiling depression ดังนี้
1. ภาวะความเจ็บป่วยทางกาย เช่น การปวดศรีษะซ้ำๆ ปวดร่างกายเรื้อรัง
2. ภาวะความผิดปกติในการนอน เช่น นอนไม่เต็มอิ่ม หรือ นอนไม่หลับ
3. ภาวะความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ทั้งรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารน้อยเกินไป
4. มีพฤติกรรมเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากผิดปกติ
5. หมดความสนใจในกิจกรรมที่ชอบ