กินอาหารแบบ IF เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย?

กินอาหารแบบ IF เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย?

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย ที่การประชุม America Heart Association ชึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีข้อสรุปว่าด้วย การกินอาหารแบบ IF

ข้อสรุประบุว่า คนที่กินอาหารในกรอบเวลา ระหว่างเที่ยงวันถึง 20.00 น. ทุกวัน เพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจ  มากกว่าคนที่กินอาหารในกรอบปกติ (12-16 ชั่วโมงต่อวัน) สูงถึง 91%.

การจำกัดกรอบเวลากินอาหารนั้น ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา โดยจะเรียกการกินอาหารแบบนี้ว่า IF หรือ intermittent fasting แต่การตีความดังกล่าวนั้นจะไม่ค่อยตรงความหมายดั้งเดิมของ IF

ผมจึงขออธิบายความเล็กน้อย ก่อนที่จะขยายความเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นว่า น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

เดิมทีนั้น การกินอาหารแบบ IF หมายถึง การกำหนดวันไม่กินอาหาร (หมายถึงกินได้แต่น้ำ ชาหรือกาแฟ ไม่มีน้ำตาลหรืออาหารอื่นใด) 2 วันต่อสัปดาห์ (เช่น หยุดกินอาหารวันอังคารและวันพฤหัสบดี) เรียกว่า 5:2 Die

การทำเช่นนั้น ก็เพื่อให้ร่างกายไม่มีพลังงานสำรอง กดดันเซลล์ ให้ต้องกลืนกินของเสียในตัวเอง (ทำ house cleaning)

ผลที่ตามมาคือ เซลล์จะหนุ่ม-สาวขึ้นและแข็งแรงขึ้น ภาษาทางวิชาการคือการอดอาหาร (caloric restriction) เพื่อกระตุ้นกลไก autophagy (self-eating)

ทั้งนี้ ศ. Yoshinori Osumi ได้รับรางวัลโนเบลจากการทำงานวิจัยเรื่อง autophagy เมื่อปี 2016 ยิ่งทำให้ความต้องการกระตุ้นให้เกิด autophagy ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ผมขอย้ำว่า จะต้องอดอาหารประมาณ 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น กระบวนการ autophagy จึงจะเริ่มขึ้น

ต่อมา Dr. Valter Longo แห่งมหาวิทยาลัย University of Southern California (USC) จึงได้ออกแบบการกินอาหารแบบ Fasting-Mimicking Diet (FMD) ขึ้นมาเพื่อ “หลอก” ร่างกายให้เข้าใจว่าเข้าสู่สภาวะอดอาหาร

กล่าวคือ ออกแบบเมนูอาหารให้กิน 1-2 สัปดาห์ โดยเป็นอาหารที่จำกัดการบริโภคแคลอรี่เพียงวันละ 800-900 แคลอรี่ (ชึ่งเพียงพอที่จะ “หลอก” ร่างกายให้เข้าใจว่าอยู่ในสภาวะอดอาหาร) และให้กินอาหารแบบ FMD ปีละ 1-2 ครั้ง (รายละเอียดและประโยชน์ของ FMD อ่านได้จากหนังสือที่ผมเขียนคือ Healthy Always หน้า 35-43 ครับ)

กินอาหารแบบ IF เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย?

ต่อมา ได้มีงานวิจัยในหนูทดลอง โดย ดร. Satchin Panda แห่งสถาบัน Salk Institute พบว่า การกินอาหารในกรอบเวลาที่จำกัด คือวันละ 6-8 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 24 ชม. นั้น เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการควบคุมน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาล นอกจากนั้น ยังทำให้หนูที่กินอาหารในกรอบเวลาที่จำกัด มีสุขภาพแข็งแรง และวิ่งได้นานกว่า หนูที่กินอาหารตากปกติถึง 2 เท่าตัวอีกด้วย

การกินอาหารในกรอบจำกัดนั้น เรียกว่า Time Restricted Feeding (TRF) ไม่ใช่และไม่เหมือนกับ IF แต่ต่อมา การกินอาหารแบบ TRF ก็ถูกเรียกว่า IF ไปด้วย

การกินอาหารแบบ TRF นั้น ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะในปี 2017 Dr. Jeffrey Hall Dr. Michael Rosbash และ Dr. Michael Young ได้รับรางวัลโนเบล จากงานวิจัยเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงการกินอาหารทั้งวัน-ทั้งคืน เพราะอวัยวะต่างๆ ของร่างกายนั้น มีนาฬิกาสุขภาพของตัวเอง และจะ “ปิดการทำการ” เวลากลางคืน (รายละเอียดของการกินแบบ TRF อยู่ในหนังสืออีกเล่มของผมคือ Healthy Aging หน้า 66-71)

กลับมาที่งานวิจัยของ ศ.Victor Wenze Zhong แห่งมหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่ง ณ วันนี้ ยังมีเพียงเอกสารสรุป ยังไม่มีรายละเอียดเพราะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer review) ก่อนที่จะได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ

งานวิจัยนี้นำเอาข้อมูลของคนอเมริกัน คือจากฐานข้อมูลของ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) โดยคัดเลือกผู้ใหญ่ 20,000 คน อายุเฉลี่ย 49 ปีที่ตอบแบบสอบถาม (questionnaire) ณ วันเริ่ม โดยได้ติดตามกลุ่มคนดังกล่าว เป็นเวลาทั้งสิ้นเฉลี่ยประมาณ 8 ปี (ระหว่างปี 2003-2018)

กินอาหารแบบ IF เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย?

กล่าวคือ แบ่งคนเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกกินอาหารปกติในกรอบเวลา 12-18 ชั่วโมง แต่อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารระหว่างเที่ยงวันถึง 20.00 น. (8 ชั่วโมง) ในหนึ่งวัน ซึ่งผลของงานวิจัย (จากเอกสารสรุป) คือ

1.กลุ่มที่กินอาหารในกรอบ 8 ชั่วโมงต่อวัน (24 ชั่วโมง) เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าคนที่กินอาหารในกรอบ 12-16 ชั่วโมงมากถึง 91%

2.กลุ่มคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หากกินอาหารในกรอบ 8 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตอีก 66% เมื่อเทียบกับคนที่กินอาหารในกรอบ 12-16 ชั่วโมง

3.คนที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้ว ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากกินอาหารในกรอบ 8 ชั่วโมง

ข้อสรุปดังกล่าว เป็นข้อสรุปที่น่ากลัวมาก เพราะหากเป็นจริงก็แปลว่า การจำกัดกรอบการกินอาหารต่อวันเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก แต่ผมต้องขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว ดังนี้

1.ยังเป็นงานวิจัยที่ยังไม่ได้เห็นรายละเอียด ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบ (peer review) จึงยังไม่ได้ถูกนำไปตีพิมพ์ เราจึงยังไม่เห็นรายละเอียดที่สำคัญต่างๆ

2.การสำรวจการกินอาหารเพียง 1 ครั้งนั้น อาจไม่แม่นยำมากนัก

3.กลุ่มที่บอกว่ากินอาหารในกรอบเวลาเที่ยงวันถึง 20.00 น. นั้น อาจเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานตอนกลางคืนก็ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า คนกลุ่มนี้จะสุขภาพไม่ดีและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคอื่นๆมากกว่าคนที่กิน-นอนปกติ

4.นอกจากนั้นก็ยังไม่ได้กล่าวถึงพฤติกรรมและสถานะอื่นๆ ที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย หรือสถานะทางเศรษฐกิจ (รวยหรือจน) อีกด้วย

ผมเองจำกัดการกินในกรอบเวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมงมากว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่กินอาหารเย็น ซึ่งประสบการณ์ของผมนั้น เป็นประโยชน์ เพราะทำให้ปริมาณอาหารที่กินต่อวันลดลง และเมื่อใช้เวลาที่เคยกินอาหารเย็นไปออกกำลังกาย (วิ่ง) แทน ก็ทำให้น้ำหนักตัวลดลง 10 กิโลกรัมอย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติมาได้โดยตลอด และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

กล่าวคือ สำหรับผมนั้น TRF บวกกับการออกกำลังกายและการนอนหลับให้เพียงพอนั้น เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผมอย่างมากครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร