'แอนแทรกซ์' โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน กินเนื้อดิบ เสี่ยงเชื้อปนเปื้อน

'แอนแทรกซ์' โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน กินเนื้อดิบ เสี่ยงเชื้อปนเปื้อน

“โรคแอนแทรกซ์” (Anthrax) หรือ โรคกาลี โรคสัตว์ติดคนที่รุนแรง สัตว์ที่ไวต่อการเกิดโรค คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะในสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าเป็นอาหาร ติดต่อสู่คนได้ทั้งผิวหนัง ปอด และระบบทางเดินอาหาร

KEY

POINTS

  • “โรคแอนแทรกซ์” (Anthrax) หรือ โรคกาลี เป็นโรคสัตว์ติดคนที่รุนแรง โดยสามารถเกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร
  • ระยะฟักตัว "ในคน" ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน ขณะที่ "ในสัตว์" ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป
  • สำหรับ "การติดต่อในคน" ไม่เพียงแค่อาการทางผิวหนังเท่านั้น แต่ยังสามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และ ระบบทางเดินอาหารอีกด้วย  

“โรคแอนแทรกซ์” (Anthrax) หรือ โรคกาลี เป็นโรคสัตว์ติดคนที่รุนแรง โดยสามารถเกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร นอกจากนี้ นกอีกหลายชนิดก็สามารถติดโรคนี้ได้ โรคนี้เกิดจากแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ได้ ซึ่งสปอร์ดังกล่าวมีความทนทานสูงต่อความร้อน สารเคมี และสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานนับสิบปี

 

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อเชื้อสัมผัสกับอากาศภายนอกร่างกายเชื้อจะสร้างสปอร์ห่อหุ้ม จึงมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่ในธรรมชาติได้ เป็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในดินได้นานกว่า 10-20 ปี จึงมีผลทำให้การกำจัดโรคนี้หมดไปทำได้ยาก

 

สัตว์ที่ไวต่อการเกิดโรค

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะในสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าเป็นอาหาร ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ เนื่องจากกินสปอร์ที่ปนเปื้อนมากับหญ้าหรือดิน ในสัตว์อื่นๆ เช่น ม้า พบการเกิดโรคค่อนข้างน้อย ส่วนใน สุกร สุนัข แมว และสัตว์ป่าก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน

 

โรคแอนแทรกซ์ ติดต่ออย่างไร

การติดต่อในสัตว์

1. ทางปาก ด้วยการกินอาหารหรือหญ้าที่มีสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ปนเปื้อนทางการหายใจ ด้วยการหายใจเอาสปอร์ของ

2. เชื้อเข้าสู่ร่างกาย สาเหตุมักเกิดจากในขณะที่สัตว์เล็มหญ้า ก็ดึงเอารากที่ติดดินขึ้นมาด้วยทำให้สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ที่ติดอยู่ตามใบหญ้าหรือในดิน ปลิวฟุ้งกระจายเข้าสู่ร่างกายทางจมูกด้วยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

3. ทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

การติดต่อในคน

1. ทางผิวหนัง จากการสัมผัสเชื้อผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน การช าแหละซากสัตว์หรือสัมผัสหนัง ขน เลือดสัตว์ที่เป็นโรค

2. ทางปาก ด้วยการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ ลู่

3. ทางการหายใจ โดยการหายใจ เอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป มักพบในคนงานทำงานในโรงงานฟอกหนัง ขนสัตว์ หรือปุ๋ยที่ทำจากกระดูกสัตว์ป่น

 

ระยะฟักตัว

ในคน

  • ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน

ในสัตว์

  • ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป

 

อาการของโรค

อาการในคน

1. โรคแอนแทรกซ์ผิวหนัง (Cutaneous anthrax)

จะเริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยตุ่มแดง (popule) แล้วกลายเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส (vesicle) ภายใน 2 - 6 วัน จะเริ่มยุบตรงกลางเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) รอบๆ อาการบวมนํ้าปานกลางถึงรุนแรง และขยายออกไปรอบเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) อย่างสมํ่าเสมอบางครั้งเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส (vesicle) ขนาดเล็กแผลบวมนํ้า มักไม่ปวดแผล ถ้าปวดมักเนื่องจากการบวมนํ้าที่แผลหรือติดเชื้อแทรกซ้อน แผลมักพบบริเวณศีรษะ คอ ต้นแขน และ มือ

 

 

2. โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ (Inhalational anthrax)

เริ่มด้วยอาการคล้ายการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดเมื่อยไอเล็กน้อย หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งไม่มีลักษณะจำเพาะต่อมาจะเกิดการหายใจขัดอย่างเฉียบพลัน รวมถึงการหายใจมีเสียงดัง (stridor), อาการหายใจลำบากอย่างรุนแรง เกิดภาวะออกซิเจนลดตํ่าลง (hypoxemia), เหงื่อออกมาก (diaphoresis) ช็อก และตัวเขียว ภาพรังสีพบส่วนกลางช่องอก(mediastinum) ขยายกว้าง ตามด้วยภายใน 3 - 4 วัน ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ตรวจพบนํ้าท่วมเยื่อหุ้มปอด และบางครั้งพบ infi ltrate จากฟิล์มภาพรังสี

 

3. โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal anthrax)

อาจเกิดในจุดใดจุดหนึ่งของลำไส้ และเกิดการอักเสบและบวมนํ้ามาก นำไปสู่การมีเลือดออก อุดตัน เป็นรู และมีนํ้าในช่องท้องมาก โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหารไม่พบการเสียชีวิตที่แน่นอน แต่ด้วยการรักษา การเสียชีวิตสามารถเพิ่มสูงได้ ด้วยเกิดอาการเลือดเป็นพิษ ช็อก อาการโคม่าและเสียชีวิต

 

อาการในสัตว์

  • ในสัตว์มักพบว่ามีไข้สูง (107 องศาฟาเรนไฮท์ หรือประมาณ 42 องศาเซลเซียส) ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด
  • บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก
  • เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้

 

การรักษา

  • ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ให้ผลในการรักษาดีที่สุดสำหรับแอนแทรกซ์ผิวหนัง โดยให้นาน 5-7 วัน ส่วนเตตราซัยคลิน (Tetracycline), อีริโทรมัยซิน(Erythromycin) และคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ก็ให้ผลดีเช่นกัน
  • ในเหตุการณ์แอนแทรกซ์ปี พ.ศ. 2544 กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มใช้ยาซิโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofl oxacin) หรือด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจแต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพการรักษาที่ชัดเจน

 

การป้องกันโรค

สำหรับมาตรการป้องกัน เมื่อพบว่ามีสัตว์ตายโดยกะทันหัน และไม่ทราบสาเหตุการตาย โดยถ้ามีเลือดเป็นสีดำคล้ำไม่แข็งตัวไหลออกตามทวารต่างๆ

  • ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร และห้ามผ่าซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากบริเวณที่มีสัตว์ตาย หลายประเทศมีกฎหมายห้ามการผ่าซาก เนื่องจากเมื่อผ่าออก เชื้อ vegetative form ในร่างกายสัตว์จะได้รับออกซิเจนจากอากาศ ทำให้มีการสร้างสปอร์ซึ่งมีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่ผ่าซากเชื้อที่อยู่ภายในซากจะตายจนหมดหลังสัตว์ตาย 2-3 วัน โดยกระบวนการเน่าสลายตามธรรมชาติ
  • ให้ขุดหลุมฝัง ลึกต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 เมตร หากมีปูนขาวหรือขี้เถ้าให้โรยบนซากหนาประมาณ 2-3 ซม. แล้วจึงกลบ เชื้อที่อยู่ในซากก็จะตายเองโดยความร้อนที่เกิดจากการสลายเน่าเปื่อยในธรรมชาติ และควรเลือกฝังในบริเวณที่ใกล้ที่สุดกับที่สัตว์ตาย ให้มีการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ให้น้อยที่สุด
  • อาจเผาซากให้ไหม้มากที่สุด แล้วจึงขุดหลุมฝังกลบอีกชั้นหนึ่งก็ได้
  • การสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของโรคนี้ จะสามารถลดอัตราป่วยตายของโรค และลดการระบาดของโรคได้ด้วย
  • การป้องกันโรคนี้ จะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปศุสัตว์ด้วย เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในสัตว์ได้ โดยปกติจะทำวัคซีนในโค กระบือ และ/หรือสุกร ปีละ 2 ครั้ง ในท้องที่ซึ่งมีการระบาดของโรคนี้

 

การควบคุมการระบาด

มาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม

  • พยายามหลีกเลี่ยงมิให้คนสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ป่วย
  • การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันมิให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คน โดยเฉพาะการให้วัคซีนสัตว์ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด การวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่กระทำโดยทันทีทันใดและการรักษาโรคในสัตว์ป่วย ตลอดจนการทำลายซากสัตว์ที่ตายโดยการฝังลึกๆ หรือโดยการเผา เป็นวิธีการควบคุมมิให้โรคแพร่กระจาย ซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ไม่ควรผ่าซาก ควรให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่เจ้าของฟาร์มสัตว์เกี่ยวกับโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอันตรายของโรค
  • การกำจัดซากสัตว์ป่วยอย่างปลอดภัยและการติดโรค ในพื้นที่ที่มีโรคแอนแทรกซ์ระบาดควรกักสัตว์ ที่อยู่ในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยนับวันแรกหลังจากพบโรคในสัตว์ตัวสุดท้ายที่เป็น
  • ในฝูงสัตว์ที่รีดนมควรมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และถ้าสัตว์ตัวใดแสดงอาการไข้เกิดขึ้นควรจับแยก และน้ำนมที่รีดมาควรทำลายทันที
  • ในแหล่งที่พบว่าโรคนี้ระบาดทั่วไปในสัตว์ มักจะพบว่าสภาพแวดล้อมแปดเปื้อนด้วยสปอร์ ดังนั้นในแหล่งที่สงสัยมีโรคควรใช้ ammonium quaternary compound ใส่ไปในโพรงน้ำ หรือแอ่งน้ำจะช่วยลดอัตราการเกิดโรค การควบคุมโรคในผลิตภัณฑ์สัตว์กระทำได้ยากมาก ทั้งนี้สปอร์ของเชื้อที่ทนทานต่อสารเคมีที่ฆ่าเชื้อต่าง ๆ

 

ข้อแนะนำและมาตรการควบคุมโรคเบื้องต้น

มาตรการในระยะระบาด ระหว่างการสอบสวนโรค

  • ค้นหาแหล่งโรค หรือแหล่งชำแหละซากสัตว์ และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำลายเชื้อโดยการเผาหญ้าราดน้ำยาฆ่าเชื้อไลโซล โรยปูนขาวบริเวณที่ชำแหละสัตว์ คอกสัตว์ บริเวณที่สัตว์ตาย สำหรับซากสัตว์ หนังสัตว์ เศษกระดูกที่เหลืออยู่เก็บรวบรวมแล้วเผาทำลาย ให้หมด
  • ให้สุขศึกษาแก่ผู้สัมผัสและประชาชนในพื้นที่ของทุกหมู่บ้าน ให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์ ถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และให้สุขศึกษาเรื่องพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์และการป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดความตื่นตระหนกลง
  • รวบรวมผลการสอบสวนโรคเสนอที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการเฝ้าระวังโรคและการป้องกันการระบาดของโรคต่อไปในอนาคต

จังหวัด

  • เฝ้าระวังโรคโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปเยี่ยมประชาชนในหมู่บ้านเกิดโรค 20 วัน เพื่อติดตามผู้ป่วยรายเก่า และค้นหาผู้ป่วยรายใหม่
  • แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ให้ทราบ และเฝ้าระวังสัตว์ในพื้นที่
  • แจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งในเขต เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชน
  • ชี้แจงประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมทั้งประกาศเตือนในการบริโภคเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยหอกระจายข่าวสารประจำหมู่บ้าน รถประชาสัมพันธ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายการวิทยุ และสถานีโทรทัศน์

 

ปศุสัตว์

  • ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกบริเวณจุดเกิดโรคโดยเด็ดขาด และหากมีสัตว์ป่วยตาย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์โดยทันที ห้ามมิให้กระทำการใดๆ ต่อสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ รวมทั้งไม่ให้มีการฆ่า หรือชำแหละสัตว์ในบริเวณนั้น จนกว่าโรคจะสงบ
  • ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้กับสัตว์รอบจุดเกิดโรค
  • ฉีดยาปฏิชีวนะให้กับสัตว์ร่วมฝูงที่ยังมีชีวิตอยู่
  • พ่นยาฆ่าเชื้อโรค และโรยปูนขาวในบริเวณที่เป็นแหล่งเกิดโรค
  • ติดตามซากสัตว์ที่หลงเหลืออยู่มาทำลายโดยการฝังหรือเผา และทำลายเชื้อโรค
  • ติดตามรถเร่ขายเนื้อสัตว์ในตลาดนัดค้าสัตว์ เพื่อการเฝ้าระวังโรค
  • เฝ้าระวังโรคในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าโรคจะสงบ

 

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , กรมปศุสัตว์