‘เลือดกำเดาไหล’ ปฐมพยาบาลอย่างไร แบบไหนต้องพบแพทย์
เลือดกำเดาไหล ภาวะเลือดออกทางโพรงจมูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ เลือดออกทางจมูกด้านหน้า และ เลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก เช็กสัญญาณเตือนบอกโรค ปฐมพยาบาลอย่างไร และแบบไหนควรพบแพทย์
KEY
POINTS
- เลือดกำเดาไหล เป็นภาวะเลือดออกทางโพรงจมูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ เลือดออกทางจมูกด้านหน้า และ เลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ทำให้มี
- สาเหตุเกิดจาก สภาพอากาศร้อนจัดทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้งและแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรงๆ ได้รับอุบัติเหตุหรือการกระแทกรุนแรงบริเวณจมูก ใช้ยาบางใช้ยาบางชนิดไม่ถูกวิธีหรือเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นต้น
- เลือดกำเดาไหล ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง หากมีเลือดกำเดาไหลออกมามากกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ซับซ้อน ส่งผลให้ต้องมีการเข้าปรึกษากับทางแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด
สภาพอากาศที่ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของหลายคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ บางคนได้รับฝุ่นจน เลือดกำเดาไหล ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า เลือดกำเดาไหล เป็นภาวะเลือดออกทางโพรงจมูก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ เลือดออกทางจมูกด้านหน้า และ เลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ทำให้มี เลือดกำเดา ออกปริมาณมากและอาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้
เลือดกำเดา สาเหตุมาจากอะไร
- สภาพอากาศร้อนจัดทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้งและแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ
- ได้รับอุบัติเหตุหรือการกระแทกรุนแรงบริเวณจมูก
- ใช้ยาบางใช้ยาบางชนิดไม่ถูกวิธีหรือเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่เคยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- มีสิ่งที่แปลกปลอมเข้าไปในจมูก
- เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกหรือฉีกขาด
PM 2.5 ทำให้เกิด ภาวะเลือดกำเดาไหล ได้อย่างไร ?
โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น อธิบายว่า เนื่องจาก PM 2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงจมูก เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เกิดการบวมที่มากขึ้น และ ไวต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมมากขึ้น เกิดโพรงจมูกอักเสบ หรือ ภูมิแพ้กำเริบในผู้ป่วยภูมิแพ้ และเมื่อเกิดอาการบวมที่มากขึ้น มีน้ำมูก คัน จาม อาจกระตุ้นให้มีการ ขยี้จมูก แคะแกะเกา บริเวณผนังจมูกด้านหน้า หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ โดยเฉพาะในเด็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็ก อาการ ‘วัยทอง’ ประตูสู่วัยชรา เตรียมพร้อม รับมืออย่างไร
- 'หูอื้อ' ไม่ได้ยิน มีเสียงวิ้ง ภาวะผิดปกติที่ไม่ควรละเลย
- เช็ก 6 อาการ 'บ้านหมุน' เวียนศีรษะ แบบไหนไม่ควรมองข้าม
ซึ่งทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุโพรงจมูกด้านหน้า หรือเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กในโพรงจมูกด้านหน้าเกิดบาดเจ็บ แตก และทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ ซึ่งในทางการแพทย์ เรียกเลือดกำเดาไหลชนิดนี้ว่า Anterior epistaxis หรือเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะเลือดกำเดาไหลในเด็ก และคนที่มีโพรงจมูกอักเสบทั้งจากการติดเชื้อ หรือจากภูมิแพ้จมูก
แต่หากเป็นเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหลัง หรือ Posterior epistaxis ซึ่งจะมีปริมาณมากและมีความรุนแรงมากว่า สาเหตุมักจะสัมพันธ์กับ ภาวะความดันโลหิตสูง และจะพบในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง จะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับ PM 2.5 โดยตรง
นอกเหนือจากนั้น ภาวะเลือดกำเดาไหลยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นสาเหตุจาก PM 2.5 โดยตรง เช่น ผนังกั้นจมูกคด เกิดอุบัติเหตุที่บริเวณโพรงจมูกหรือใบหน้า มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก มีก้อนเนื้องอกในโพรงจมูกหรือหลังโพรงจมูก มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากโรคต่างๆ ทั้งไข้เลือดออก รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด โรคตับเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินและหาสาเหตุโดยแพทย์
อาการแบบไหนต้องพบแพทย์
เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง หากมีเลือดกำเดาไหลออกมามากกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ซับซ้อน ส่งผลให้ต้องมีการเข้าปรึกษากับทางแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- เลือดกำเดาไหลไม่หยุดเกินกว่า 5-10 นาที
- เลือดไหลออกมาเป็นลิ่มเลือด
- ตัวซีด ปากซีด มีอาการหน้ามืด เวียนหัว คล้ายจะเป็นลม
- สำลักหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก
วิธีการรักษา เมื่อมีอาการ เลือดกำเดาไหล รุนแรง
- กรณีที่ผู้ป่วยมี เลือดกำเดา ไหลเป็นระยะเวลานานต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลป้องกันภาวะช็อกหมดสติจากการสูญเสียเลือด และให้แพทย์ประเมินอาการรวมไปถึงวิธีการรักษา ดังนี้
- ใช้ยาหดหลอดเลือดสอดเข้าที่โพรงจมูก เพื่อให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัวลง เลือดออกลดลง ลดอาการบวม จนแพทย์สามารถประเมินอาการและค้นหาตำแหน่งที่เลือดออกได้
- จี้จุดเลือดออก จะเป็นการรักษาโดยการใช้สารเคมีหรือพลังงานความร้อน เพื่อห้ามเลือดโดยแพทย์จะมีการให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการรักษา
- ปรับยาหรือสั่งยาใหม่ ผู้ป่วยที่มีการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะมีการพิจารณาปรับยาหรือสั่งยาใหม่เพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว
วิธีป้องกัน
- ไม่แคะ แกะ หรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง
- ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่ สารเคมี หรือฝุ่นละออง
- ใช้น้ำเกลือหยอดจมูกป้องกันเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
เลือดกำเดาหรือภาวะเลือดออกทางโพรงจมูกสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เองที่บ้าน หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เลือดกำเดา ไหลออกมาเป็นปริมาณมากและมีระยะเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
เลือดกำเดาไหล สัญญาณเตือนภัยของโรค
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงสัญญาณเตือนของโรคว่า เลือดกำเดาไหล (Epistaxis) คือ ภาวะเลือดออกทางจมูก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า และภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุที่อันตรายกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า ดังนั้น เมื่อเลือดกำเดาไหล อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของโรค เช่น
1. เนื้องอก
สาเหตุ : มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เกิดขึ้นในจมูก ไซนัส หรือหลังโพรงจมูก
อาการ : เลือดออกเป็นบางครั้ง หรือเลือดออกจมูกปริมาณมากควรส่องกล้องตรวจโพรงจมูก หรือเอกซเรย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
2. การระคายเคือง หรือบาดเจ็บในจมูก
สาเหตุ : แคะจมูกบ่อย ได้รับแรงกระแทกที่จมูก สั่งน้ำมูกแรง ๆ อากาศแห้งความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้นเครื่องบิน
อาการ : เลือดมักออกไม่มาก และเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาจมีเลือดออกช้ำในช่วงที่ใกล้หาย
3. การอักเสบในโพรงจมูก
สาเหตุ : จากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ใช้เครื่องอัดอากาศขณะหลับ
อาการ : มีเลือดออกปนมากับน้ำมูก
4. ความผิดปกติทางกายวิภาค
สาเหตุ : ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอกผิดที่ รวมถึงมีรูทะลุทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศ
อาการ : เลือดมักไหลในจมูกข้างเดิม และเป็นซ้ำในจุดที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือมีกระดูกงอก
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย