แนะสังเกตลูกป่วย มีจุดแดง เลือดกำเดาไหลมากผิดปกติ เสี่ยงเป็นโรค ITP
แพทย์แนะผู้ปกครอง สังเกตลูกน้อย หากพบลูกป่วย มีจุดแดงขึ้น เลือดกำเดาไหลมากผิดปกติ เสี่ยงเป็นโรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็ก หรือ โรค ITP : (Idiopathic thrombocytopenic purpura) เป็นภาวะเลือดออกง่ายโดยที่ไม่สามารถจับตัวเป็นลิ่มเลือดได้ ตรวจพบปริมาณเกล็ดเลือดน้อยกว่า 100,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร (ลบ.มม.) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือดส่วนใหญ่จะพบบ่อยในช่วงอายุ 2-6 ปี และมักจะหายเป็นปกติภายในเวลา 6 เดือน แต่สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไปจนถึงวัยทำงาน อาจมีโอกาสเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP ชนิดเรื้อรังได้ แนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของบุตรหลาน อาทิ ภาวะฟกช้ำ มีจุดแดงขึ้น ภาวะเลือดกำเดาออก ภาวะเลือดไหลหยุดยาก เช่น หกล้มมีแผลแล้วเลือดไหลไม่หยุด หรือมีเลือดกำเดาไหลแล้วหยุดยาก ใช้เวลานานกว่าสิบห้านาที ทั้งที่พยายามกดให้เลือดหยุดไหลแล้วควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะรักษาตามความรีบด่วนของอาการและสาเหตุ หากมีเลือดออกมากต้องห้ามเลือด และให้รับประทานยาเพรดนิโซโลน ในกรณีเด็กเกล็ดเลือดไม่ต่ำมาก ไม่มีเลือดออก อาจจะหายได้เอง สำหรับในกรณีที่พบอาการรุนแรง ส่วนใหญ่ให้ยาเมทิลเพรดนิโซโลนทางเส้นเลือด ส่วนการรักษาด้วยวิธีการตัดม้าม จะพิจารณาเมื่อจำเป็น เพราะม้ามเป็นตัวทำลายเกล็ดเลือด เมื่อตัดม้ามออก ปริมาณเกล็ดเลือดจะสูงขึ้นแต่ต้องระวัง เพราะโดยปกติ ม้ามมีหน้าที่กำจัดเม็ดเลือดที่ไม่สมบูรณ์ และช่วยป้องกันเชื้อโรคบางอย่าง ผู้ป่วยที่ตัดม้ามออกเสี่ยงติดเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ง่าย จึงต้องดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนาการรักษามากขึ้น พบว่า มีการรักษาด้วยยาริทูซิแมบ, ยาเอลทรอมโบแพคในเด็ก ซึ่งข้อมูลการใช้ยาอยู่ในระหว่างการศึกษา และมีการรักษาแบบให้ยาอิมมิวโนโกลบู-ลินให้ทางเส้นเลือด ( Intravenous Immunoglobulin: IVIG) เพื่อเพิ่มเกล็ดเลือด ซึ่งมีข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์การใช้ยาของสิทธิบัตรประกันสุขภาพ นอกจากนี้ แพทย์แนะนำวิธีการดูแลและการปฏิบัติเมื่อลูกน้อยเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ โดยให้หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือ กีฬาที่เสี่ยงต่อการหกล้ม การกระทบกระแทก หรือมีเลือดออกได้ง่าย และเมื่อมีการทำฟัน ที่ต้องมีการถอนฟัน อุดฟัน และผ่าตัด ควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนเพื่อทำการรักษาให้เด็กปลอดภัยที่สุด