Buddy HomeCare ดึงเยาวชนเป็น 'บั๊ดดี้สูงวัย'
บั๊ดดี้โฮมแคร์ กิจการเพื่อสังคม (SE Alumni) พัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสโดยให้การฝึกอบรมเพื่อทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่ไม่สามารถจ้างผู้ดูแลได้
KEY
POINTS
- บั๊ดดี้โฮมแคร์ กิจการเพื่อสังคม (SE Alumni) พัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสโดยให้การฝึกอบรมเพื่อทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่ไม่สามารถจ้างผู้ดูแลได้
- ที่ผ่านมา บั๊ดดี้โฮมแคร์ มีการส่งเสริมเยาวชนชาติพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 177 คน ให้ทุนโดยตรง 95 คน เมื่อจบหลักสูตรได้รับประกาศนียบัตร และขึ้นทะเบียนผู้ดูแลผู้สูงอายุ
- ช่วยเพิ่มโอกาสด้านการศึกษากับเด็กกลุ่มเด็กเยาวชนชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับการทำกิจการเพื่อสังคม และจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมให้สามารถขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
จากความสำเร็จเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ระหว่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ จับมือ ChangeFusion จัดโรดโชว์โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ส่งเสริมให้มีกิจการเพื่อสังคมใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ที่มุ่งเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด ‘Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง’
สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมทำโครงการ BC4C กับบ้านปู ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของ SE ในท้องถิ่น อย่างในพื้นที่ภาคเหนือ ‘Hmong Cyber’ ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน
ยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่เยาวชนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้และต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในขณะที่ ‘Craft de Quarr’ ก็ช่วยทำให้สินค้าที่มาจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ตลอดจนงานศิลปะพื้นเมืองได้รับการสืบทอดและเข้าถึงตลาดในวงกว้างมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จอยไรด์ บริการพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล ให้เหมือนลูกรับจ้างหลานจำเป็น
- 'นวัตกรรมกายภาพแขน' ฝีมือคนไทย ตัวช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย 'หลอดเลือดสมอง'
- ธนาคารเวลา (Time bank) 'ออม' ไว้ใช้ในยามชรา
บั๊ดดี้โฮมแคร์ เป็นอีกหนึ่งกิจการเพื่อสังคม (SE Alumni) ที่สามารถขับเคลื่อนชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจัดตั้งโดยมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ภายใต้พันธกิจทางสังคม คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสโดยให้การฝึกอบรมเพื่อทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีกำลังจ้างผู้ดูแลจ่ายเงินในราคาที่เหมาะสมและได้รับการดูแลที่มีคุณภาพสูง และเพื่อพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่ไม่สามารถจ้างผู้ดูแลได้
ปัจจุบัน บั๊ดดี้โฮมแคร์ ดำเนินงานโดยเป็นส่วนหนึ่งของ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (FOPDEV) ที่ผ่านมา “บั๊ดดี้โฮมแคร์” ได้ดำเนิน โครงการ “Adopt A Granny” หรือ ปันสุขผู้สูงวัย โดยการจัดกระบวนการเยี่ยมบ้าน ตรวจสุขภาพ ให้แก่ผู้สูงอายุยากไร้ไม่มีคนดูแล จำนวน 600 คน ในพื้นที่ อ.สะเมิง , อ.กัลยาณิวัฒนา , อ.ฝาง , อ.แม่อาย , อ.จอมทอง , อ.อมก๋อย , อ.เมือง จ.เชียงใหม่ , อ.แม่ลาน้อย และอ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน , อ.แม่สรวย จ.เชียงราย , อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
โดย ต้องการให้ผู้สูงอายุยากไร้ได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่ดี พร้อมกับการเชื่อมสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจและดูแลตัวเองมากขึ้น และให้เยาวชนชนเผ่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษามีอาชีพและทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ด้วยการอบรมทักษะอาชีพเป็น “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยพยาบาล หรือ พยาบาลวิชาชีพ”
เพราะน้อง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้น หรือ มัธยมศึกษาตอนปลาย มักจะไม่ได้ศึกษาต่อต้องออกมามีอาชีพรับจ้าง ดังนั้น Buddy HomeCare จึงให้ทุนการศึกษาเพื่อเป็นอีกหนทางในชีวิต และอาชีพนี้สร้างรายได้ให้ตนเองแล้ว ยังสร้างความภูมิใจให้พวกเขามีโอกาสทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น
เจนวิทย์ วิโสจสงคราม ผู้ร่วมก่อตั้ง Buddy HomeCare เล่าว่า Buddy HomeCare เป็นธุรกิจในการดูแลผู้สูงอายุ จัดหาผู้ดูแลไปช่วยแบ่งเบาภาระดูแลผู้สูงอายุ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างไรให้ปลอดภัย ช่วงเริ่มต้นบั๊ดดี้โฮมแคร์ใช้กลไกลเปิดรับอาสมัคร เช่น เพื่อนบ้าน คนที่รู้จักกันแต่ในช่วงยกระดับทางกิจการกลไกลเปิดรับอาสาสมัครแต่ด้วยเหตุผลบางประการของอาสาสมัครเหล่านี้ ทำให้บั๊ดดี้โฮมแคร์ต้องเปลี่ยนระบบการทำงาน
ในอีกมุมมองหนึ่ง ปัญหาเด็กและเยาวชนจำนวน 2 ล้านกว่าคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานให้ประเทศไทย ทางภาคเหนือมี 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ที่มีจำนวนเยาวชนเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จัดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่อยู่ห่างไกล ตกอยู่อยู่ในภาวะยากจนที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ไม่มีโอกาสทางการศึกษาหรือครอบครัวไม่สนับสนุน เพราะมีความคิดว่า “เรียนจบมาแล้ว ก็ไม่สามารถมีงานทำในพื้นที่บ้านเกิดได้”
สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดบั๊ดดี้โฮมแคร์ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้กับเยาวชนรวมไปถึงครอบครัว ทำให้เห็นว่าเยาวชนชาติพันธุ์ก็มีทางเลือกที่ดีในการใช้ชีวิตได้
เจนวิทย์ เล่าต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ Caregivers คัดจากเยาวชนกลุ่มเปราะบาง สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต แต่ในการคัดกรองว่าใครจะได้ทุนมาเรียนนั้น พิจารณาจากความสนใจ ประสบการณ์การดูแลญาติพี่น้อง มีจิตสาธารณะ จากนั้นคัดเลือกและสัมภาษณ์เชิงลึกโดยหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตวิทยาศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์ พยาบาล จากนั้นจะให้ทุนการศึกษา และเข้าร่วมอบรมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือกลุ่มโรงเรียนบริบาลที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จึงคัดเลือกให้ทำงานร่วมกับบั๊ดดี้โฮมแคร์ เพื่อฝึกการเป็น Caregivers ต่อไป
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนคนละ 50,000 บาท เซ็นสัญญาหลังจากเรียนจบต้องทำงานกับทางบั๊ดดี้โฮมแคร์ 2 ปี ถือเป็นทุนให้เปล่าโดยไม่ต้องคืนทุน และยังสามารถให้เยาวชนสามารถหารายได้จากการดูแลผู้สูงอายุเพื่อส่งตัวเองเรียนต่อในสิ่งที่อยากเรียนได้ในอนาคต
น้องชมพู่ หนึ่งใน Caregivers ของบั๊ดดี้โฮมแคร์ เล่าว่า หลังเรียนจบป.6 ได้ไปทำงานดูแลผู้ป่วยกับพี่สาวในกรุงเทพ เคยสอบพยาบาลได้แต่ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะให้เรียน พอบั๊ดดี้โฮมแคร์ติดต่อให้ทุนเรียนต่อ จึงตัดสินใจไปเรียนตามคำแนะนำเพราะอยากเป็นพยาบาลอยู่แล้ว หลังเรียนจบได้ทำงานดูแลอากงที่ป่วยติดเตียง ดูแลการทำแผลผ่าตัด อาหารการกิน มีเงินเก็บ เพื่อนำไปไปต่อยอดตามความใฝ่ฝันที่อยากเป็นพยาบาลได้ตัวเองได้ด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา บั๊ดดี้โฮมแคร์ มีการส่งเสริมเยาวชนชาติพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 177 คน ให้ทุนโดยตรง 95 คน เมื่อจบหลักสูตรได้รับประกาศนียบัตรและขึ้นทะเบียนผู้ดูแลผู้สูงอายุเรียบร้อย จึงจ้างงานระยาวโดยได้รับอัตราค่าตอบแทนรายเดือน เริ่มต้นเดือนละ 12,000 บาท มีสวัสดิการประกันสังคม อีก 82 คน เป็นเยาวชนชาติพันธุ์ที่เรียนอบรมโดยใช้ทุนของตนเองและกู้เรียน
บั๊ดดี้โฮมแคร์ ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 4,048 คน โดยเป็นลูกค้า (ชำระค่าบริการ) จำนวน 211 คน และเป็นผู้สูงอายุยากไร้ (ยกเว้นค่าบริการ) จำนวน 3,837 คน ผ่านทางไกล การเยี่ยมบ้าน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (ม.พ.ส.) และชมรมอาสาสมัครผู้สูงอายุที่บ้านเขตเมืองเชียงใหม่ (ช.อ.บ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งภายใต้ความคาดหวังของ Buddy HomeCare ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสด้านการศึกษากับเด็กกลุ่มเด็กเยาวชนชาติพันธุ์ ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับการทำกิจการเพื่อสังคม และจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมให้สามารถขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” พุ่งแสนล้าน
ปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0 ทำให้ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทย มีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่เฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.5 เท่าในทุกปี ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19
นพ.ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 ธุรกิจดังกล่าว มีแนวโน้มโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปอยู่ที่ประมาณ 15,000 ไปจนถึงราว 50,000 บาท
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหมด มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณการณ์ว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะ “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1.5 เท่าทุกปี คาดว่ามีมูลค่าตลาดราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งรับดูแลนอกสถานที่ ภาคเอกชน ธุรกิจจัดส่งดูแลตามบ้าน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ ผู้ลงทะเบียนสมาชิกของ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ มีอยู่ที่ราว 150- 200 แห่ง
ทั้งนี้ หากดูภาพรวมจะมีผู้ประกอบการอยู่ที่ราว 2,000-3,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งที่จดทะเบียนและอาจจะอยู่ระหว่างการจดทะเบียน ยังไม่รวมที่ไม่ได้เปิดเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเปิดเพื่อดูแลญาติของตัวเอง
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3 (3) ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย ต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และมีใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ผู้ให้บริการ หรือพนักงานทุกรายที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรม จบจากหลักสูตรที่กรม สบส. รับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนปฏิบัติงาน