'ตื่นบ่อย ปัสสาวะบ่อย' กลางดึก ปัญหากวนใจ ที่ไม่ควรละเลย
ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเราปัสสาวะมากกกว่า 8 ครั้ง หรือตอนกลางคืนลุกขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป จะถือได้ว่ามี “ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน” นอกจากจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ แล้ว ยังส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ กระทบการใช้ชีวิตประจำวันได้
KEY
POINTS
- “ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน” ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ อาการนี้สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย
- ภาวะดังกล่าว มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากโต การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ โรคนิ่ว การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ เบาหวาน เป็นต้น
- หากมีอาการ ปัสสาวะลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะ เจ็บหรือมีก้อนบริเวณท้องน้อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะมีเลือดปนหรือสีขุ่น ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม มีไข้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์
หากต้องตื่นมากลางดึก เพื่อปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอาการกวนใจที่ทำให้หลายคนตื่นมากลางดึก ส่งผลให้นอนไม่เพียงพอ และกระทบชีวิตประจำวันของเช้าวันถัดไป จนอาจไปสู่การใช้ชีวิตในวันถัดไป จนอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ
โดยทั่วไป ร่างกายจะผลิตปัสสาวะออกมาน้อยในช่วงกลางคืน ทำให้เรานอนหลับได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเราปัสสาวะมากกกว่า 8 ครั้ง หรือตอนกลางคืนลุกขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป จะถือได้ว่ามี “ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน” ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ อาการนี้สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมก่อนนอน และปัญหาสุขภาพต่างๆ
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เกิดจากอะไร?
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก, มดลูก เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ,เนื้องอกของต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ, โรคนิ่ว. การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคต่อมลูกหมากโต
- ปัญหาระบบประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะ
- โรคเบาหวาน และโรคเบาจืด (Diabetes Insipidus)
- การดื่มน้ำมากเกินไป รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- การใช้ยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ
- ปัญหาด้านการนอนหลับ
- โรคไต, โรคหัวใจ, โรคปอด, โรคตับและโรคทางสมอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาวออฟฟิศต้องรู้ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” เกิดได้จากหลายสาเหตุ
- อย่ามองข้าม! 'ปัสสาวะเล็ด' รีบรักษาก่อนเป็นเรื่องใหญ่
- นวัตกรรมวิจัย ’ชุดตรวจโรคไต’ แบบพกพา หยุดโรคลุกลาม
ปัสสาวะบ่อย เกิดได้ทั้งชายและหญิง
รศ.นพ.ชินเขต เกษสุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวใน “รายการลัดคิวหมอรามาฯ” ผ่านทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า สาเหตุการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน เป็นโรคที่พบได้บ่อยและรบกวนชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ชายที่มักจะมี โรคต่อมลูกหมากโต สำหรับผู้หญิง คือ โรคกระเพาะปัสสาวะไว ทำให้ต้องตื่นมาบ่อย ส่งผลให้ตอนเช้าง่วง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น มีภาวะเบาจืด ที่มีบางอย่างผิดปกติของฮอร์โมน ทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งการปัสสาวะได้ หรือโรคหัวใจ โรคนอนกรน แต่สำหรับผู้ชายสาเหตุใหญ่ๆ จะมาจากภาวะต่อมลูกหมากโต เพียงแต่ว่าต้องไปดูสาเหตุต่างๆ ร่วมด้วย เช่น ปริมาณปัสสาวะ หากออกมาเยอะมากก็ต้องไปหาสาเหตุอีกที
"สำหรับผู้หญิง นอกจาก โรคกระเพาะปัสสาวะไว แล้ว ยังอาจเกิดจากนิ่วที่ระคายกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าอาการเพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นมานานแล้ว ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการฉับพลัน ขณะที่ ไต มีการขับปัสสาวะ โดยมีโรคไตบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ รวมถึงโรคเบาหวาน ที่ทำให้กระหายน้ำ และขับน้ำปัสสาวะออกไป ทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยในช่วงกลางคืน หากเบาหวานดีขึ้น การปัสสาวะบ่อยก็จะลดลง"
อาการแบบไหนต้องพบแพทย์
- ปัสสาวะลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะ
- เจ็บหรือมีก้อนบริเวณท้องน้อย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะมีเลือดปนหรือสีขุ่น
- ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
- มีไข้ร่วมด้วย
การวินิจฉัย รักษา
รศ.นพ.ชินเขต กล่าวว่า หากมาพบแพทย์ สิ่งแรก คือ ตรวจปัสสาวะ เพื่อให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ หรือหากในปัสสาวะมีน้ำตาล จะสงสัยว่าเบาหวานหรือไม่ก็จะพอชี้แนะได้ และค่อยๆ ดูสาเหตุอื่นๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต ซึ่งไม่ใช่มีแค่อาการปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย แต่จะมีอาการปัสสาวะยาก ลำบาก ต้องหาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เนื่องจากการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนสาเหตุกว้างมาก
นอกจากนี้ อาการ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักพบในผู้หญิง เป็นอีกกลุ่มโรคหนึ่ง คือ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ส่วนใหญ่มักเจอในคนที่อายุเยอะ อาการเหล่านี้ เมื่อมาพบแพทย์ก็จะต้องตรวจปัสสาวะเบื้องต้นก่อน อัลตร้าซาวน์ไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่มีโรคอย่างอื่น และมีประวัติครบกลุ่มอาการ คือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืนบ่อย แพทย์จะให้ยาไปทานให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวช้าลง
“ในระหว่างที่ให้ยา คนไข้ต้องฝึกกลั้นปัสสาวะ เพราะบางคนรู้สึกเล็กน้อยก็ต้องเข้าห้องน้ำ อาจจะต้องฝึกกลั้นปัสสาวะสัก 5 นาที แล้วค่อยไปเข้าห้องน้ำ ค่อยๆ ฝึก และค่อยๆ ลดยาลง”
นอกจากนี้ หากมีอาการไข้ ต้องรีบมาพบแพทย์ อาจติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรือในกรวยไต เพราะนอกจากจะมีปัสสาวะกลางคืนที่ผิดปกติแล้ว อาจจะมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย
ทำไมเวลาตื่นเต้น เข้าห้องน้ำบ่อย
รศ.นพ.ชินเขต อธิบายว่า อาการเข้าห้องน้ำบ่อยเวลาตื่นเต้น จากความตระหนก เป็นธรรมชาติ ในบางครั้งเราก็เข้าห้องน้ำ เพื่อเตรียมพร้อม ก่อนจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถือเป็นเรื่องปกติ
ปัสสาวะบ่อยกลางคืน จะรับมืออย่างไร
- จำกัดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนเข้านอนเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง
- เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน
- จัดหองนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ
- หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- จดบันทึกการดื่มน้ำและการปัสสาวะในแต่ละวัน
ท้ายนี้ รศ.นพ.ชินเขต ฝากว่า อันดับแรกต้องหาสาเหตุก่อน สาเหตุบางอย่างรักษาได้ เช่น เบาหวาน ต่อให้เราปรับพฤติกรรม แต่ไม่รักษาเบาหวานก็ยังปัสสาวะกลางคืน/กลางวันบ่อย แต่หากเป็นโรคต่อมลูกหมากโตธรรมดา หรือโรคอื่นๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น และได้รับการรักษาแล้ว ก็ให้ปรับพฤติกรรม เช่น ลดการทานน้ำช่วงเย็นลงมาหน่อย หรือบางคนทานกาแฟทั้งวันก็ให้ลดลงมาไปทานตอนเช้าแทน
"บางคนที่ไม่ได้มีปัญหาปัสสาวะบ่อย แต่มีปัญหาการนอนไม่หลับ ตื่นมาไม่รู้จะไปทำอะไรก็ไปเข้าห้องน้ำ กรณีนี้ คือ การนอนไม่หลับทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย ดังนั้น อาจต้องเลี่ยงการเล่นสมาร์ตโฟนก่อนนอน จัดห้องนอน รวมถึงการจดบันทึกการดื่มน้ำ การปัสสาวะก็จะสามารถช่วยได้"