นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

ฮ้าว.....หาวอีกแล้วทำไมตื่นเช้ามานั่งทำงานถึงสัปหงกทุกที แถมยังรู้สึกเพลีย อยากนอนตลอดเวลา หนุ่มสาววัยทำงานคนไหนมีอาการแบบนี้บ้าง ซึ่งอาการนอนน้อย นอนไม่พอ หรืออ่อนเพลียเหล่านี้ อาจจะทำให้คุณแก่เร็วได้

KEY

POINTS

  • คุณนอนเต็มอิ่มครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? ซึ่งการนอนที่ถูกต้องตามหลักสากล คือการนอนให้ครบ 6 – 8 ชม.ต่อวัน แต่ในรายที่ชอบนอนดึก หรือนอนไม่หลับ จนกลายเป็นคนนอนน้อยร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้แก่เร็วและเสี่ยงโรคร้ายได้ 
  • การนอนแต่พอดีไม่มากไป, ไม่น้อยไป และเราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เข้ากับสุขภาพของเรา มากกว่าการทำตามยุคสมัย เพราะเรื่องการนอนไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ ที่เราจะมองข้าม
  • โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือโรคไฮโปไกลซีเมีย  โรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ ทำให้ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรตลอดทั้งวัน

 

ว่าจะดูสัก 1 ตอนก่อนนอนเบาๆ แต่สุดท้ายยันเช้า พฤติกรรมการดูซีรี่ย์ การทำกิจกรรมเบาๆ ก่อนนอน และความเครียด ล้วนกลายเป็นปัจจัยทำให้อดหลับอดนอนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการอดนอน นอนน้อย นอนไม่พอ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ระมัดระวังมากที่สุด คือ สุขภาพ

เช่นเดียวกับ ความเหนื่อยล้าที่เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย วิถีชีวิตในแต่ละวันก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน 

เราทุกคนต่างถูกสอนว่าคนเราต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่ต้องนอนให้ถึง 8 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพเพียงพอ

และหากคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญปัญหาจากความอ่อนเพลียซึ่งไม่มีท่าที่จะดีขึ้นแม้จะนอนหลับพักผ่อนเพียงพอแล้ว คุณอาจมีอาการป่วยแฝงอยู่ในอาการเหนื่อยล้า ขอแนะนำให้คุณปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนทั่วโลกนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง แถมนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำสุขภาพแย่

'นอนน้อย นอนดึก'เสี่ยงน้ำหนักพุ่ง อ้วนขึ้น 30% Set ตารางชีวิตเพื่อหุ่นปัง

นอนน้อย นอนไม่พอ ทำให้แก่เร็ว

การนอน มีอยู่สองช่วงคือ ช่วงหลับลึก กับ ช่วงหลับตื้น ระยะเวลาในการนอนมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่าเราหลับลึกหรือเปล่า บางคนทำงานหนักทั้งวัน มีความเครียดเยอะ แต่หลับยังไงก็ไม่อิ่ม นอนหลับไป 10 ชั่วโมง ตื่นเช้ามาก็ยังง่วงอยู่

การนอนที่มีคุณภาพนั้น จะทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง แต่ถ้าใครไม่หลับไม่นอน ก็จะไม่มีช่วงเวลาในการซ่อมแซมตัวเองเลย สิ่งที่ตามมาคือเราจะแก่ไว

ความสำคัญอยู่ช่วงเวลาที่เราหลับลึก จะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งชื่อว่า Growth Hormone ฮอร์โมนชะลอความแก่ จะหลั่งออกมาซ่อมแซมร่างกายในช่วงเวลาเที่ยงคืนจนถึงตีหนึ่งครึ่งของแต่ละวันเท่านั้น

คนที่หลับแล้วยังฝันอยู่เรียกว่าหลับตื้น แต่การหลับลึกจะเกิดขึ้นหลังจากหลับไปแล้วชั่วโมงหนึ่ง พวกที่ยิ่งอยู่ยิ่งแก่ คือ พวกที่หลับหลังตีหนึ่ง หลังเที่ยงคืน พวกนั้นจะไม่ได้โกรทฮอร์โมน ซ่อมแซมความแก่ ได้แค่การหลับ

 ถ้าเรามี โกรทฮอร์โมน เยอะเราจะแข็งแรง ถ้ามีน้อยจะแก่เร็ว, ผมหงอก, ผิวเหี่ยว, กระดูกพรุน, หน้าไม่ดี, ร่างกายไม่ดี, ตัวเตี้ยลง ร่างกายเสื่อมลง

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

การนอนที่มีคุณภาพ จะต้อง

1) นอนหลับให้เร็ว โกรทฮอร์โมน เวลาหลั่ง ของ ผู้หญิง : 4 ทุ่ม - ตี 2 ผู้ชาย: 5 ทุ่ม - ตี 3

2) อย่ากินน้ำตาลเยอะ โดยเฉพาะหลังหกโมงเย็นเป็นต้นไป

3) อาจจะนั่งสมาธิ สวดมนต์ พักผ่อนจิตใจ ให้คลายลง

4) ออกกำลังกายตอนเช้า ให้ร่างกายได้ใช้พลังงานเยอะๆ ตอนกลางคืนจะได้เหนื่อย ถ้าทำได้ 4 อย่างนี้เราจะมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น แค่ปรับการนอนให้ดี เราก็จะแก่ช้าลงไปหลายปี

สังเกตตัวเองว่านอนหลับเพียงพอไหม

  • เมื่อตื่นมาตอนเช้า รู้สึกยังไม่สดชื่น อยากจะนอนต่อไปอีก
  • ในระหว่างวัน มีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เรื่อย ๆ
  • ถ้ามีโอกาสได้นอนในตอนกลางวันอาจหลับไปภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น
  • การนอนไม่พอมีผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน ถ้านอนน้อยไปเพียง 1 วันอาจไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงนัก อย่างมากก็แค่ง่วงซึมบ้างในช่วงกลางวัน แต่พอตกกลางคืนเมื่อได้นอนอย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง ร่างกายจะฟื้นตัวกลับมาสดชื่นได้อีกในวันรุ่งขึ้น แต่ถ้ายังคงอดนอนต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น

นอนน้อยมีผลต่อน้ำหนักอย่างไร ?

ผศ. นพ.กุลพงษ์ ชัยนาม อายุรแพทย์ด้านโภชนวิทยาคลินิก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า การนอนน้อยหรือนอนไม่พอทำให้เราง่วงในระหว่างวันได้ แต่นอกจากนี้ยังทำให้เราอ้วนขึ้นได้อีกด้วย ! โดยมีผลดังต่อไปนี้

1.การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่มีผลต่อความอยากอาหาร เวลาของการนอนหลับลดลงส่งผลให้ระดับระดับฮอร์โมนเลปติน (leptin) ลดลง และระดับฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนเลปตินผลิตจากเนื้อเยื้อไขมันมีผลทำให้เบื่ออาหาร สำหรับฮอร์โมนเกรลินส่วนใหญ่ผลิตจากกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกหิว การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทั้งสองนี้ โดยรวมแล้วทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น คนที่นอนหลับน้อยจึงรู้สึกหิวอาหาร และบริโภคอาหารมากกว่าคนที่นอนหลับเพียงพอ

2.การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมความอยากอาหาร สมองส่วนที่ความคุมความอยากอาหาร คือ ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนที่ทำให้อยากอาหารและส่วนที่ทำให้เบื่ออาหาร การนอนหลับที่ผิดปกติส่งผลให้ สมองส่วนที่ทำให้อยากอาหารและระบบการให้รางวัล (reward system) ถูกกระตุ้น และส่งผลให้คนที่นอนหลับผิดปกติรู้สึกหิวมากขึ้น

3.ระยะเวลาในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น การมีช่วงเวลาที่ตื่นเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีระยะเวลารับประทานอาหารมากขึ้นเช่นกัน โดยอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะเป็นอาหารว่างและเครื่องดื่มซึ่งมีพลังงานสูง นอกจากนี้บางคนที่ต้องนอนดึกอาจให้การประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเพื่อลดความง่วง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ได้รับพลังงานมากขึ้นไปจากเดิม และส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

4.การออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ลดลง คนที่นอนหลับน้อยและนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางกายในแต่ละวันลดลง รวมถึงการออกกำลังกายด้วยเช่นกัน การออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายที่ลดลงนี้ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดลง และพลังงานที่เหลือจากการรับประทานอาหารก็จะไปสะสมเป็นไขมันมากขึ้น คนที่นอนหลับน้อยและนอนหลับไม่มีคุณภาพจึงมีโอกาสที่จะน้ำหนักขึ้นเช่นกัน

ระยะเวลาการนอนที่น้อยลง และคุณภาพการนอนที่ไม่ดี ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นนอกจากการใส่ใจในเรื่องการบริโภค และการออกกำลังกายแล้ว ระยะเวลาและคุณภาพการนอนที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะอ้วน และทำให้มีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

ผลกระทบการอดนอนต่อร่างกายและอารมณ์

  • ร่างกายอ่อนเพลีย

เพราะไม่มีการสำรองพลังงานมาใช้ในวันรุ่งขึ้น  มีผู้กล่าวว่าถ้าร่างกายมีพลังงานอยู่เท่ากับ 100% จะหมุนเวียนพลังงานใช้จริงอยู่เพียง 70% ที่เหลืออีก 30% จะเป็นพลังงานสำรองของชีวิตเอาไว้ใช้ในยามป่วยไข้ไม่สบายหรือใช้ในภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงภาวะอดนอนนี้ด้วย จึงพบว่าถ้าอดนอนสั้น ๆ จะไม่เป็นอะไรมาก  แต่ถ้านานไปพลังงานที่เหลือ 30% นี้ก็จะร่อยหรอลงและเมื่อนั้นก็จะมีอาการไม่สบายชัดเจนขึ้น

  • เกิดโรคอ้วนตามมาได้

เนื่องจากเกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องรับประทานมากยิ่งขึ้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 2 (Diabetes type 2) การที่เราตื่นอยู่นานแบบอดนอน ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น จึงรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้นไปอีก จากหลักฐานการศึกษาพบว่า ความอ้วนที่เกิดจากการอดนอนพบได้บ่อยขึ้นในคนอายุน้อย หรือในวัยกลางคนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจัยเสริมอย่างอื่น เช่น การดูทีวีรอบดึกก็มีผลให้อยากรับประทานอาหารเพิ่มอีก 1 มื้อ หรืออยากรับประทานขนมขบเคี้ยวมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นตัวเสริมให้อ้วนขึ้นไปเรื่อย ๆ

  • ร่างกายไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก

เนื่องจากฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตถูกสร้างน้อยลง รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการอดนอนเลยก็เกิดขึ้นได้

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

อดนอนเรื้อรังส่งผลต่อการทำงานของสมอง

  • หลอดเลือดสมองตีบ

มีผลการศึกษาทางการแพทย์รายงานว่า ผู้ที่มีปัญหาปวดศีรษะและความจำไม่ดีจำนวนหนึ่งเมื่อตรวจเอกซเรย์สมองแล้วพบว่ามีหลอดเลือดสมองตีบ และเมื่อสืบประวัติย้อนกลับไปพบว่า มีจำนวนมากที่มีประวัตินอนไม่พอร่วมด้วย หลังจากที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้นอนหลับเพิ่มขึ้นก็พบว่า หลอดเลือดสมองที่ตีบนั้นดีขึ้น

  • กระบวนการเรียนรู้ช้าลง

การอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานผิดไป เช่น สมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal Cortex) จะทำให้การเรียนรู้จากคำพูด (Verbal Learning Tasks) แย่ลง ส่วนกลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal lobe) จะทำให้การเรียนรู้ด้านภาษา (Language Processing) ช้าลง

  • เกิดอาการงีบหลับสั้น ๆ หรือที่เรียกว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน”

เกิดจากการที่สมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ของคนที่นอนไม่พอ จะหยุดทำงานช่วงสั้น ๆ แบบชั่วคราว อาจเป็นวินาทีหรือนานถึงครึ่งนาที ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใด ๆ หรือรับรู้ได้ช้า บางคนเรียกภาวะนี้ว่า “หลับใน” ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถหรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำด้วย

  • เกิดอาการทางจิต

การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิต (Psychosis) ได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ระแวงกลัวคนมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เช่น อารมณ์ร่าเริงสนุกสนานผิดปกติหรือมีอารมณ์เศร้าผิดปกติได้  นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่า หรืออารมณ์เสียง่ายมากน้อยตามแต่ความรุนแรงของการอดนอนนั้น

"แนวทางการรักษาเรื่องอดนอนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนอนให้พอเพียง อาจจะใช้เวลานอนให้มากกว่าปกติในวันก่อนที่รู้ว่าจะต้องอดนอน และเมื่ออดนอนมาแล้วก็ควรหาเวลานอนชดใช้ให้มากพอ ภาวะอดนอนก็จะดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องไปหาการรักษาที่ยุ่งยากอื่น"

โรคร้ายที่มาจากอาการนอนไม่หลับ

การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนมากจนเกินไป ไม่มีแบบไหนส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะทั้ง 2 แบบ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณร้าย ที่อาจทำให้สุขภาพร่างกายของเราแย่ลง จนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อได้เลยทีเดียว

โดยจะแบ่งกลุ่มของคนเป็นโรคที่มากับการนอนเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  •  กลุ่มของผู้มีอาการนอนหลับไม่เพียงพอ

นอนไม่เพียงพอ คือการนอนน้อยจากการนอนไม่หลับ, การที่ต้องทำงาน หรืออ่านหนังสือสอบจนดึก และการใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ ที่ต้องมีปาร์ตี้ยามค่ำคืนเกือบทุกวัน เมื่อสะสมนานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะตื่นสาย, กลิ่นตัวแรง, มีอาการเครียด, หงุดหงิดง่าย และสุดท้ายก็คืออาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เพราะร่างกายและสมองชินต่อการนอนดึก จนทำให้พ่วงปัญหาสุขภาพด้านอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น

1.โรคมะเร็งลำไส้ โรคยอดฮิตของคนที่ใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ ที่นอนดึกแต่ต้องตื่นเช้าไปทำงานหรือไปเรียน ทานอาหารเช้าไม่ทัน และทานแต่อาหารไม่มีประโยชน์ ไม่เคยออกกำลังกาย จนทำให้เกิดความเสื่อมของระบบภายใน โดยเฉพาะลำไส้ จนกลายเป็นลำไส้อักเสบและลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ไปในทึ่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจุดเริ่มต้นของโรคนี้คือการนอนดึก ได้มีการศึกษาและวิจัยว่าในคน 1,240 คน มีคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชม. ถึง 47% จะมีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชม.ขึ้นไป

2.โรคหลอดเลือดหัวใจ สารโปรตีนในตัวเรา จะสะสมมากขึ้นในหัวใจเมื่อเวลาเราตื่นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่นอน หรือนอนดึกสารโปรตีนเหล่านี้ ก็จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ จนทำให้เกิดการอุดตัน ได้มีการวิจัยในกลุ่มคนที่ทดลองไม่ได้นอนเป็นเวลา 88 ชม. ผลออกมาว่าพวกเค้า มีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

3.โรคเบาหวาน เมื่อคนเป็นเบาหวานพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ระดับกลูโคสในเลือด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 23% รวมทั้งระดับอินซูลินในเลือด ก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 48 % ในการวิจัยบางส่วนพบว่า คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว จะเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากการนอนไม่พออีกด้วย

4.ระบบร่างกายรวน ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารย่อยไม่ดี และการถ่ายอุจจาระไม่เป็นปกติ บางครั้งท้องเสียแต่บางครั้งก็อาจท้องผูกขึ้นมากระทัน เพราะกระเพาะอาหารเกิดการล้า จึงทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร

5.โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ในบางคนอาจต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งคืน จนทำให้ตื่นกลางดึก แล้วก็ไม่สามารถหลับอีกเลย และโรคนอนไม่หลับ ยังส่งผลต่อการเข้าห้องน้ำบ่อยทั้งคืน เพราะร่างกายต้องการดูดซับน้ำมากกว่าคนปกติ ซึ่งจะต้องมีอาการแบบนี้เกิน 1 เดือน ถึงจะเรียกว่าการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง

6.สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง เพราะการนอนไม่หลับจะทำให้ฮอร์โมน “เทสโทสเทอโรน” ต่ำลง ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงไปด้วย จากการตรวจของแพทย์ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เสื่อมสรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อย หรือนอนไม่หลับเลยทั้งคืน

7.อารมณ์แปรปรวนง่าย เมื่อนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นเช้ามาจึงมีอาการอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า จนทำให้รู้สึกหงุดหงิด, อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ และยังทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปด้วย เนื่องจากสมองที่ไม่ค่อยได้พักจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ และเมื่อเกิดความเครียด ก็จะตามมาด้วยกลิ่นตัวตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายที่จะแรงขึ้นอีกด้วย

  • กลุ่มของผู้มีอาการนอนมากจนเกินไป

โรคนอนเกิน ( Hypersomnia ) เป็นโรคที่หลับเกินพอดี หรือโรคขี้เซา ที่ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ และจะนอนหลับยาวนานเกิน 8 ชม.ขึ้นไป จะมีอาการดูเฉื่อยชา, ไร้ชีวิตชีวา, ทานน้อยแต่กลับอ้วนง่าย เพราะการนอนทำให้กระเพาะอาหารไม่ย่อย จึงเกิดเป็นตัวอาหารและไขมันสะสม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าได้ง่ายถึง 49% ซึ่งถือว่ามากกว่าคนปกติ เป็นผลเสียระยะยาว ที่อาจทำให้เราคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ และมีอาการของโรคอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

1.ทำร้ายสมอง เพราะจะทำให้สมองเฉื่อยชา ส่งผลให้ทำอะไร และคิดอะไรเชื่องช้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา ขยับตัวน้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

2.อ้วนง่าย น้ำหนักเกินที่จะส่งผลให้เป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายทั้ง โรคหัวใจ, ความดัน, เบาหวาน เป็นต้น และต่อให้ทานน้อยก็สามารถอ้วนได้ เพราะกระเพาะอาหารไม่ค่อยได้ทำงานนั่นเอง

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

3.กลายเป็นคนซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข ซึ่งในปี 2012 ได้มีการศึกษากับกลุ่มผู้หญิงสูงวัย โดยในคนที่นอนมากกว่าวันละ 9 ชม. และน้อยกว่าวันละ 5 ชม. สมองจะทำงานแย่ลงในระยะเวลา 2 ปี เพราะฮอร์โมนในร่างกาย และสารเคมี “ซีโรโทนิน” และ “เอนดอร์ฟิน” ที่เป็นสารแห่งความสุขลดต่ำลง

4.ภาวะมีบุตรยาก ได้มีการศึกษาจากผู้หญิงในเกาหลีใต้ เมื่อปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนในระยะเวลา 7 – 8 ชม. ต่อวัน จะมีโอกาสติดลูกได้มากกว่า ผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชม. เป็นจำนวนถึง 650 คน เพราะฮอร์โมน และรอบเดือนของผู้หญิง จะเป็นปกติก็ต่อเมื่อต้องได้รับการพักผ่อนที่พอดีอีกด้วย

5.เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว เมื่อปี 2010 ได้มีผลวิจัย 16 เรื่อง ที่ตรงกันว่าผู้ที่นอนนานเกินกว่า 9 ชม.ต่อวัน จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอน 7 – 8 ชม. ถึง 1.3 % เพราะผู้ที่นอนมากเกินไปจะหลับง่าย และใช้เวลานาน ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้ขยับ หรือออกกำลังกายใด ๆ จึงไม่สามารถเพิ่มออกซิเจนแก่อวัยวะภายใน เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ง่าย

6.เสี่ยงต่อสภาวะ การหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน ( ไหลตาย ) เพราะเนื้อสมองตายเนื่องจากการดับไปของสัญญาณสมอง ที่นานเกินเวลานอนของคนปกติ

การนอนที่ดี และถูกต้องควรนอนอย่างไร

1.นอนให้อยู่ในช่วง 6 – 8 ชม. ต่อวันเท่านั้น ห้ามน้อยหรือมากกว่านี้ และควรนอนให้ตรงเวลา ตื่นก็ให้ตรงเวลา โดยควรจะนอนก่อน 4 ทุ่ม แล้วตื่นประมาณ ตี 5 ถึง 6 โมงเช้า แค่นี้ก็กระปรี้กระเปร่าเตรียมรับเช้าวันใหม่ อย่างสดชื่นได้แล้ว

2.อาบน้ำก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะทำงานหรือเรียนหนักแค่ไหน ก็ควรที่จะอาบน้ำก่อนนอน เพราะถ้าเราไม่อาบจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เหนียวตัวจากคลาบเหงื่อไคลที่เราต้องเจอมาตลอดทั้งวัน จนทำให้รู้สึกนอนไม่หลับไปในที่สุด

3.นอนเวลากลางคืนเท่านั้น ไม่ควรนอนเวลากลางวัน หรือถ้านอนกลางวันก็ไม่ควรนอนนานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ หรือในคนที่นอนกลางวันนานเกิน 2 ชม.ขึ้นไป ก็จะเริ่มเสี่ยงที่จะนอนกลางคืนเร็วขึ้น และยาวนานขึ้นอีกด้วย

4.ทำกิจวัตรทุกอย่างในชีวิต ให้เป็นระเบียบ ตรงเวลา และสม่ำเสมอ หรือในบางคนอาจเรียกเวลาเหล่านี้ว่า “นาฬิกาชีวิต” เมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบ สุขภาพกายและใจก็จะดีขึ้นทันตาเห็น

5.ไม่ควรใช้ยานอนหลับ ในรายที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเด็ดขาด ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนด้วยตัวเอง จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการดื้อยา จนต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ และในรายที่นอนจนเกินไป ก็ไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทเพื่อให้ไม่นอน และปลุกให้ตัวเองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะอาจทำให้คุณเกิดอาการหลอน และกลายเป็นอาการทางจิต,ประสาทไปในที่สุด

ทางสายกลางในการแก้ปัญหา คือการนอนแต่พอดีไม่มากไป, ไม่น้อยไป และเราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เข้ากับสุขภาพของเรา มากกว่าการทำตามยุคสมัย เพราะเรื่องการนอนไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ ที่เราจะมองข้าม ไม่ใช่แค่เพียงล้มตัวลงนอนแล้วก็หลับไป แต่เป็นเรื่องของการพักสมอง และซ่อมแซม, ปรับปรุงทุกส่วนของร่างกายในขณะที่เราหลับ เราจึงต้องให้ความสนใจกับวิถีในการนอนให้มาก เพื่อที่จะได้ตื่นเช้ามาอย่างสดชื่น และพร้อมที่จะออกไปลุยได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่มีเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ มารบกวนระหว่างวันได้

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

โรคอ่อนเพลียเรื้อรังนี้คือโรคอะไร?

โรคที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ โดยเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Chronic fatigue syndrome (CFS) หรืออาจจะเรียกว่า โรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ไร้เรี่ยวแรงทำอะไรตลอดทั้งวัน

หลายคนอาจจะสงสัยแล้วว่า พฤติกรรมอะไรที่ทำให้เรามีอาการไฮโปไกลซีเมียดังที่ว่า ง่าย ๆ เลยก็ อย่างเช่น การบริโภคอาหารจำพวกแป้งขัดขาว น้ำตาล อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม พิซซ่า หรือขนมหวานมากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทีนี้ ตับอ่อนก็จะผลิตอินซูลินออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลง พอระดับน้ำตาลลดลงไม่เท่าไหร่ เราเกิดรับประทานอาหารจำพวกนี้เข้าไปอีก น้ำตาลในเลือดก็สูงขึ้นมาอีกแล้ว ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาลดน้ำตาลอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแล้วลงต่ำสลับกันไปตลอดเวลา ซึ่งเท่ากับว่า ตับอ่อนก็ต้องทำงานตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

 นอกจากนั้นแล้ว ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมอันเป็นพิษ ความเครียด ความรีบเร่ง ความยุ่งเหยิงในการดำเนินชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลา นอนดึก ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เหนื่อยได้ง่าย ๆ และยิ่งใครทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้เจ็บป่วยหนักขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว

อาการบ่งบอกว่าเป็นโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง

แพทย์จำแนกอาการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 1.กลุ่มความผิดปกติทางร่างกาย คือ

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ปวดหัว-เวียนศีรษะ
  • นอนไม่หลับ
  • เหงื่อแตกบ่อย ๆ
  • มือสั่น
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • เป็นตะคริวบ่อย
  • เกิดการชักกระตุก
  • คันตามผิวหนัง
  • หน้าร้อนผ่าวบ่อย ๆ
  • มีอาการภูมิแพ้
  • มือเท้าเย็น
  • เนื้อตัวชาบางครั้ง
  • การทรงตัวไม่ดี

 2.กลุ่มความผิดปกติของระบบต่าง ๆ คือ

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ปากแห้งคอแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • อยากกินของหวาน ๆ
  • หิวอย่างรุนแรงก่อนถึงเวลากินอาหาร
  • ถ่ายอุจจาระผิดปกติ
  • ถ่ายปัสสาวะผิดปกติ
  • หายใจไม่ค่อยออก
  • ปากและลมหายใจมีกลิ่นแปลก ๆ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • เป็นลมบ่อย ๆ
  • อ้วน-น้ำหนักเกิน
  • กามตายด้าน

 3.กลุ่มความผิดปกติทางจิตใจ และระบบประสาท

  • รู้สึกเบื่อหน่าย
  • ฟุ้งซ่านขาดสมาธิ
  • วิตกกังวลโดยง่าย
  • ลังเลตัดสินใจไม่ได้
  • รู้สึกสับสนปั่นป่วน
  • ทนเสียงอึกทึก และแสงจ้า ๆ ไม่ได้
  • เบื่อการพบปะเพื่อนฝูง ไม่ชอบเข้าสังคม
  • การประสานงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเลวลง
  • โมโหง่าย
  • ฝันร้ายบ่อย
  • ความจำเสื่อม
  • มีอาการทางประสาท
  • อยากฆ่าตัวตาย

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน บางอาการอาจเกิดขึ้นแล้วหายไป แล้วสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก โดยมีอาการหลัก ๆ คือ รู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง ทั้งที่นอนมาหลายชั่วโมงแล้ว แต่กลับไม่รู้สึกสดชื่นเลย อยากนอนตลอดเวลา บางคนนั่งทำงานไปได้ถึงตอนบ่าย ๆ เกิดรู้สึกง่วงเพลียจนอยากหลับเลยทีเดียว แถมยังสมองมึนซึม ปวดเนื้อปวดตัว รวมทั้งระบบขับถ่ายจะมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ลำไส้แปรปรวน ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็ส่งสัญญาณว่า โรคไฮโปไกลซีเมียกำลังมาเยือนคุณแล้วล่ะ

ป้องกัน ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย

เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย หรือใครที่มีอาการดังข้างต้นแล้ว ก็ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่แล้วล่ะ เรามีข้อแนะนำดังนี้

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยงดเติมน้ำตาลในอาหาร เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด

2.ปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด เพื่อไม่ให้ร่างกายหลั่นฮอร์โมนอะดรีนาลีน ไปกระตุ้นให้ผนังลำไส้ขับกรดออกมามาก จนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นแล้ว ความเครียด ยังนำไปสู่โรคต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งยังทำให้นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลงอีกต่างหาก

3.ก่อนนอนไม่ควรทานอาหารหนัก ๆ รวมทั้งดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสม เพราะจะทำให้หลับยาก ยิ่งทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น

4.อย่าเปิดไฟเวลานอน และพยายามอย่าให้มีแสงเล็ดลอดเข้าไปในห้องนอน เพราะจะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

5.ฝึกหายใจ หรือนั่งเงียบ ๆ สัก 5 นาที ก่อนนอน เพื่อผ่อนคลายความเครียด

6.ออกกำลังกายเป็นประจำ สำหรับใครที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ควรออกกำลังแต่พอควร อย่าหนักมากเกินไป เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้ร่างกายทรุดลงไปอีก

7.หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เครียด ซึมเศร้า และไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป

นอนน้อย อดนอนบ่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ระวังแก่เร็ว!!!

8.ไม่ควรใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายเครียด

9.หากมีอาการเครียดบ่อย ๆ ให้ฝึกทำสมาธิ เพื่อควบคุมจิตใจให้สงบ

10.พยายามเข้านอนแต่หัวค่ำ อย่าออกไปเที่ยวกลางคืนบ่อยนัก

11.ในรายที่เป็นมาก อาจต้องปรึกษาแพทย์ และอาจรับประทานวิตามินบีเสริมเพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้า

อ้างอิง: โรงพยาบาลกรุงเทพรามา แชนแนลbnhhospital ,โรงพยาบาลราชวิถี , solvegroup