"หลอดเลือดไตตีบ" ภาวะอันตราย ที่ไม่ควรละเลย
หนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวังและหมั่นดูแลสุขภาพ คือ โรคหลอดเลือดไตตีบ เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงตีบบริเวณที่รับเลือดจากหัวใจเข้าสู่ไต ส่งผลให้ความดันสูง เมื่อหลอดเลือดแดงตีบทั้งสองข้าง จะส่งผลให้ไตวายได้
KEY
POINTS
- หน้าที่สำคัญของไต คือ การสร้างปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย การสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- โรคหลอดเลือดไตตีบ เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงตีบบริเวณที่รับเลือดจากหัวใจเข้าสู่ไต ส่งผลให้ความดันสูง เมื่อหลอดเลือดแดงตีบทั้งสองข้าง จะส่งผลให้ไตวายได้
- สาเหตุมาจาก หลอดเลือดแข็งตัว จากการสะสมไขมัน คอเลสเตอรอล และอื่นๆ ที่ผนังหลอดเลือด และ ความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือดไต ดังนั้น การป้องกัน คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่ทานเค็ม ไม่สูบบุหรี่ อย่าให้น้ำหนักเกิน
“ไต” ของคนเรามี 2 ข้าง อยู่ในระดับเอวของร่างกาย ไตแต่ละข้างจะมีหน่วยทำงานหน่วยเล็กๆ ข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย และแต่ละหน่วย ทำงานประกอบกับเครื่องกรองและท่อไตเล็กๆ รวมกันเป็นท่อใหญ่ และลงมาที่ท่อไต จากนั้น ส่งผ่านมาที่กระเพราะปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกายต่อไป การเกิดโรคบางโรคทำให้หน่วยทำงานของไตเสียไป ส่งผลให้ไตทำหน้าที่น้อยลง เกิดความคั่งของเสียที่ไต เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมากมายตามมา
หนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวังและหมั่นดูแลสุขภาพ ได้แก่ โรคหลอดเลือดไตตีบ เป็นโรคที่หลอดเลือดแดงตีบบริเวณที่รับเลือดจากหัวใจเข้าสู่ไต ส่งผลให้ความดันสูง เมื่อหลอดเลือดแดงตีบทั้งสองข้าง จะส่งผลให้ไตวายได้
รศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวชศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ ช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยระบุว่า หลอดเลือดไตตีบ มีสาเหตุมาจาก หนึ่ง คือ ผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมตามวัย มีไขมันสูง ความดัน ทำให้เส้นเลือดตีบมากขึ้น
ขณะที่ คนอายุน้อยจะเป็นเส้นเลือดอักเสบ มีหลายสาเหตุ คือ กรรมพันธุ์ หรือ โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทาน เช่น โรคทากายาสุ (โรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่) ที่พบในประเทศญี่ปุ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ปลูกถ่ายไต' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
- 'โรคไตเรื้อรัง' ความเสี่ยงใกล้ตัวของคนชอบกินเค็ม
- "โปรตีน" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง
หลอดเลือดไตตีบ เกิดจากอะไร
- หลอดเลือดแข็งตัว จากการสะสมไขมัน คอเลสเตอรอล และอื่นๆ ที่ผนังหลอดเลือด
- ความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือดไต ที่พบได้ คือ Fibromuscular Dysplasia
อาการหลอดเลือดไตตีบ
- ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
- การทำงานของไตลดลง
- กระตุ้นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหดตัว
- บางคนเกิดอาการทั้งสองข้างจะส่งผลให้ไตเสื่อม ไตวาย
- หากไตวายระยะท้ายจะทำให้น้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลว
- นอกจากนี้ เส้นเลือดตีบยังส่งผลอวัยวะอื่น เช่น สมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- มักไม่มีอาการ จะไม่ทราบว่าเป็น จนกระทั่งตรวจพบว่ามีความดันสูงหรือไตวาย
สัญญาณเตือน
- ความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยอายุน้อย ไม่เกิน 25 ปี คาดว่าน่าจะมีโรคไต หรือหลอดเลือดไตผิดปกติ เพราะปกติคนที่ความดันโลหิตสูงจะต้องอายุราว 35 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเครียดทำให้ความดันขึ้น
- หรือคนที่ไม่เคยเป็นความดันโลหิตสูงเลย แต่พออายุ 70 ปี เกิดความดันโลหิตสูง กรณีนี้ก็น่าสงสัยว่าจะเป็นหลอดเลือดไตตีบ
การรักษา
- เปลี่ยนพฤติกรรม ลดอาหารเค็ม
- ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- งดสูบบุหรี่
- การรักษาด้วยยา
- การใส่บอลลูนและขดลวดไปขยายรอยโรคที่ตีบ
- การผ่าตัด
รศ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า หากเจอระยะเริ่มต้นก่อนไตจะเสีย สามารถผ่าตัดทำบายพาส หรือปัจจุบันมีวิธีบอลลูน ใส่ขดลวดเข้าไปขยายให้หลอดเลือดกว้างออก ทำให้เลือดไหลไปที่ไตได้ อาการจะดีขึ้น คล้ายกับการทำบอลลูนหัวใจ นอกจากนี้ การที่เป็นหลอดเลือดเสื่อม ส่วนใหญ่จะมาจากความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่
“ดังนั้น หากไม่อยากเป็นโรคหลอดเลือดตีบ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่ทานเค็ม ไม่สูบบุหรี่ อย่าให้น้ำหนักเกิน หากหลอดลเลือดตีบอาจจะต้องให้ยาไม่ให้หลอดเลือดตัน ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดไขมัน หรือยาลดความดันโลหิตร่วมด้วย ทั้งใช้ยาและการเปลี่ยนพฤติกรรม”
แต่หากหลอดเลือดตีบกว่า 70% ต้องทำบอลลูนขยาย ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง อาจจะป้องกันได้ไม่ 100% สามารถตีบซ้ำได้ แต่สามารถป้องกันได้ราว 70-80% ต้องร่วมกับการเปลี่ยนพฤติกรรม ทานยา ออกกำลังกาย ลดอาหารเค็ม เลี่ยงสูบบุหรี่เพราะทำให้หลอดเลือดตีบ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
เราจะ “ลดเค็ม ลดโรค” ได้อย่างไร
รพ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า ลิ้นเราปรับเปลี่ยนตามอาหาร หากทานเค็มมากๆ ลิ้นจะชินชา ดังนั้น ต้องค่อยๆ ปรับลิ้นให้ชินกับความเค็มที่ลดลง พอทานจืดสัปดาห์แรกอาจจะรู้สึกทรมาน แต่หลังจากนั้นจะดีขึ้น ค่อยๆ ลด พอไปทานอาหารเค็มก็จะเริ่มทานไม่ได้แล้ว เพราะลิ้นปรับเปลี่ยน แต่ต้องค่อยๆ ลด อย่าหักดิบ เพราะการหักดิบเป็นเรื่องลำบาก
ไตของเรา สำคัญอย่างไร
ข้อมูลจาก รพ.กรุงเทพหัวหิน อธิบายว่า หน้าที่สำคัญของไต คือ การสร้างปัสสาวะซึ่งจะช่วยขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยในการรักษาความปกติของน้ำและเกลือแร่ของร่างกายนอกจากนั้น ไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้น เมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูง และ โลหิตจางร่วมด้วย
ขับถ่ายของเสีย
ไต ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีนออกจากร่างกาย ของเสียประเภทนี้ ได้แก่ ยูเรีย ครีอะตินีน กรดยูริก และสารประกอบไนโตรเจนอื่นๆ อาหารประเภทโปรตีนมีมากในเนื้อสัตว์และอาหารจำพวกถั่ว
ซึ่งหากของเสียจากอาหารประเภทโปรตีนเหล่านี้คั่งค้างอยู่ในร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะดังกล่าวว่า ยูรีเมีย (uremia) นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่กำจัดสารพิษ สารเคมี รวมทั้งขับถ่ายยาต่างๆออกจากร่างกายอีกด้วย
ยูเรีย
ยูเรีย เป็นโปรตีนที่ถูกตัดหมู่ amino ออก (-NH2) แล้ว เปลี่ยนเป็นยูเรีย ส่งไปกรองที่ไต กระบวนการเปลี่ยนให้เป็นยูเรียเกิดขึ้นที่ตับ ยูเรียมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของหน่วยไต เรียกว่า countercurrent system ช่วยในการดูดซึมกลับของสารน้ำและเกลือแร่ที่อยู่ในหน่วยไต โปรตีน urea transporter 2 เป็นตัวขนถ่ายยูเรียเข้าสู่ท่อไตเพื่อขับออกทางปัสสาวะ ยูเรียในกระแสเลือดอยู่ในสภาพสารละลายประมาณ 2.5 – 7.5 มิลลิโมล/ลิตร เกือบทั้งหมดขับถ่ายทางปัสสาวะ มีเพียงส่วนน้อยที่ถูกขับถ่ายทางเหงื่อ
ครีอะตินีน
ครีอะตินีน เป็นสารที่เกิดจากการแตกสลายของ creatine phosphate ในกล้ามเนื้อ ร่างกายสร้างครีอะตินีนขึ้นในอัตราที่คงที่โดยอัตราการสร้างขึ้นกับมวลกล้าม เนื้อของแต่ละคน ไตทำหน้าที่กรองครีอะตินีน โดยไม่มีการดูดกลับ ดังนั้น ถ้าการทำหน้าที่กรองของไตเสียไปโดยไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จะสามารถตรวจพบระดับของครีอะตินีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
กรดยูริก
กรดยูริกเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทเนื้อสัตว์ สาร พิวรีนในโปรตีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วแดง กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก ผักตำลึง กระหล่ำดอก ผักบุ้ง ถั่วลิสง เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง กรดยูริกจะถูกขับออกมาทางไต
ถ้าหน้าที่ของไตเสียไป ก็จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้ เช่นกัน กรดยูริกเกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีน ร่างกายจะย่อยพิวรีนจนกลายเป็นกรดยูริก และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ในคนปกติกรดยูริกจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการสร้างขึ้นพอดี
สมดุลของน้ำและเกลือแร่
ไตทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายน้ำและแร่ส่วนที่เกินควรจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เกลือแร่ดังกล่าว เช่น โซเดียม โปตัสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น ร่าง กายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 92 ในสมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85
ถ้าพิจารณาในแต่ละเซลล์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 60 จริงๆแล้วน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นของเซลล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลพืช เซลล์สัตว์ และเซลล์มนุษย์ ทุกเซลล์ล้วนประกอบด้วยน้ำทั้งนั้น ในเซลล์มนุษย์และเซลล์สัตว์มีน้ำประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำหนักร่างกาย ในพืชบกมีน้ำประมาณร้อยละ 50–75 ถ้าเป็นพืชน้ำอาจมีน้ำมากกว่าร้อยละ 95
ความดันโลหิต
ไตทำหน้าที่สร้างสารเรนิน (renin) ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ระดับคงที่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆเพียงพอ ใน ภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงที่ไตโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้ร่างกายกระตุ้นกระบวนการเรนิน-แองจิโอเทนซิน ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งเรนินจากจักซตาโกลเมอรูลาร์ อัฟพาราตัส (juxtaglomerular apparatus) ในไต
เรนิน เป็นเอนไซม์ที่หลั่งจากไตเข้าไปในกระแสเลือด ทำหน้าที่เปลี่ยนแองจิโอเทนซิโนเจน ให้เป็นแองจิโอเทนซิน หลังจากนั้นเอนไซม์แเองจิโอเทนซิน คอนเวอทติง (angiotensin converting enzyme : ACE) จะเปลี่ยนแองจิโอเทนซิน ให้เป็นแองจิโอเทนซินที่ปอด เมื่อสารน้ำในร่างกายต่ำกว่าปกติ ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน จะไปกระตุ้นหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหดรัดตัว และกระตุ้นการหลั่งแอลโดสเตอโรนที่ต่อมหมวกไตส่วนนอก ทำให้เพิ่มปริมาณของโซเดียมและน้ำมากขึ้น ปริมาณเลือดจะเพิ่มขึ้น
การสร้างเม็ดเลือดแดง
ไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง มีชื่อเรียกว่า อีริโทโพอิติน (erythropoietin) หรือเรียกว่า อีโป (EPO) สารนี้ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายมีปริมาณเลือดเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายอย่างเพียงพอ ป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ไข กระดูกเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด โดยทั่วไปไขกระดูกจะอยู่ตามโพรงของกระดูกทุกชิ้น และมีปริมาณมากที่กระดูกเชิงกราน และกระดูกหน้าอก เม็ดเลือดแดงมีสารฮีโมโกลบิน ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ทำงานได้ตามปกติ
เช็ก 3 สัญญาณเตือน “ไตพัง”
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชวนเช็ก 3 สัญญาณเตือน ที่กำลังฟ้องว่าคุณกำลังเสี่ยงไตพัง ดังนี้
1. บวมตามเนื้อตามตัว
คนไข้ที่เป็นโรคไต มักจะมีอาการบวมทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นที่หน้า แขน ขา เพราะไตเป็นอวัยวะที่ขับน้ำและเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย เมื่อไตทำงานไม่เป็นปกติ ก็จะส่งผลให้น้ำส่วนเกินสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
2. ความดันโลหิตสูง
แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนและแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ เช่น อาการบวม และในอีกกรณีที่มีโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วเป็นประจำ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อม
3. ปัสสาวะผิดปกติ
เมื่อไตทำงานผิดปกติ อาจมีอาการของปัสสาวะเป็นเลือด เป็นฟอง ปัสสาวะได้น้อย จนทำให้มีร่างกายบวมน้ำเพราะไม่สามารถขับน้ำขับเกลือออกมาได้
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , รพ.กรุงเทพหัวหิน , รามาแชนแนล Rama Channel