กล้องผ่าตัดฯ แผลเล็ก แม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อน ‘หมอนรองกระดูกฯ'
“ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องกระดูกสันหลังและระบบประสาท” รพ.ตำรวจ นำเทคโนโลยี กล้อง Endoscopic Spine ลดภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจากการผ่าตัด พักฟื้น รพ.สั้นขึ้นราว 1-2 วัน โดย กัลฟ์ สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือฯ กว่า 10 ล้านบาท
KEY
POINTS
- หนึ่งในโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 30-60 ปี คือ โรคกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือความเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุ
- “ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องกระดูกสันหลังและระบบประสาท” รพ.ตำรวจ นำเทคโนโลยี กล้อง Endoscopic Spine ลดภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจากการผ่าตัด พักฟื้น รพ.สั้นขึ้นราว 1-2 วัน โดย กัลฟ์ สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือฯ กว่า 10 ล้านบาท
ปัจจุบัน หนึ่งในโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 30-60 ปี คือ โรคกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือความเสื่อมของร่างกายในผู้สูงอายุ
ความทุกข์ทรมานกับอาการปวด บางคนไม่สามารถเดินได้ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ดังนั้น การรักษาได้เร็ว รวมถึงมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ผนวกกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ดี ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องฯ
เมื่อปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการเปิด “ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องกระดูกสันหลังและระบบประสาท” ณ ศูนย์ส่องกล้องและผ่าตัดผ่านกล้องด้วยหุ่นยนต์ ชั้น 9 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้บริการกับข้าราชการตำรวจ ครอบครัวและประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ โรคปวดคอ ปวดหลัง และได้รับอุบัติเหตุทรวงอก คอ และหลัง ส่งผลทำให้เกิดความรุนแรงต่อโรค เกิดความพิการและเสียชีวิต โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจที่ได้รับอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น ถูกยิง หรือโดนทำร้าย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
“พ.ต.อ.จุมพฏ อุรุพงศา” นายแพทย์ (สบ 5) หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ตำรวจ เผยว่า เนื่องจากปัจจุบันทั้งข้าราชการตำรวจ และประชาชนทั่วไป มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้คนไข้มีปัญหาทนทุกข์ทรมานกับอาการปวด โดยหลักๆ กว่า 90% จะมาด้วยอาการปวด ตั้งแต่ระดับคอ ระดับหลัง ไปจนถึงขา หากปวดจนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้ เช่น เดินได้ระยะสั้น อาการชา อาการทางด้านระบบประสาท อ่อนแรง จำเป็นต้องเร่งผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน การผ่าตัดแบบสมัยก่อน จะต้องผ่าตัดแบบแผลยาว คนที่ผ่าตัดกระดูกสันหลัง 1-2 ระดับ แผลอาจจะยาว 10-20 เซนติเมตร ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา รพ.ตำรวจ จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่องกล้องและผ่าตัดผ่านกล้องด้วยหุ่นยนต์” เพื่อให้บริการผ่าตัด แผลเล็ก พักฟื้นน้อย มีการจัดหาเครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อช่วยในการผ่าตัดในที่แคบๆ ได้ดีอย่าง “กล้องผ่าตัดกระดูกสันหลังหมอนรองกระดูกสันหลังชนิดผ่าตัดแผลเล็ก” (Endoscopic Spine) คนไข้พักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นขึ้นราว 1-2 วัน จากเดิมที่ต้องอยู่โรงพยาบาล 5-7 วัน
กล้องผ่าตัดฯ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว
“พล.ต.ต.อนุกูล ลื้ออนันต์ศักดิ์ศิริ” นายแพทย์ (สบ 2) กลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและไขสันหลัง อธิบายว่า กล้องผ่าตัดกระดูกสันหลังฯ ประกอบด้วย เครื่องนำวิถีเพื่อให้รู้ทิศทาง ตำแหน่ง ถัดมา คือ ตัวรับภาพวิดีโอให้แสงสว่าง, เครื่องควบคุมสำหรับการกรอกระดูกเพื่อเปิดทางระหว่างการผ่าตัด, เครื่องใช้ในการจี้หยุดเลือด เส้นเลือด กล้ามเนื้อ
และ เครื่องสำหรับกำหนดแรงดันของน้ำระหว่างผ่าตัด สามารถปรับแรงดันน้ำได้เพื่อควบคุมไม่ให้ไขสันหลังหรือเส้นประสาทบาดเจ็บ รวมถึง “กล้อง” ที่เชื่อมต่อจากเครื่องเพื่อให้เห็นภาพเสมือนจริง สามารถเข้าไปจับเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกได้อย่างง่ายดาย โดยแผลเล็กราว 0.7-0.8 มิลลิเมตร
ด้าน พ.ต.ท.พฤทธิพันธ์ แพรกทอง นายแพทย์ (สบ 3) กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.ตำรวจ กล่าวเสริมว่า กล้องผ่าตัดฯ ดังกล่าว ข้อดี คือ สามารถเข้าไปเห็นกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกโดยตรงเหมือนการมองด้วยตาเปล่า ได้เห็นรอยโรคโดยตรง แผลเล็ก มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ การเสียเลือด ระหว่างการผ่าตัดน้อยลง การเอกซเรย์ หรือใช้รังสีน้อยลง สามารถผ่าตัดและกลับบ้านได้เร็วในวันรุ่งขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่าปกติ ไม่ต้องบาดเจ็บหรือมีอาการปวดแผล สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมห้ามนั่งนาน ๆ
“กลุ่มโรคนี้เป็นกลุ่มโรคค่อนข้างใหญ่ ทุกช่วงอายุ ถ้าเรามีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ จะสามารถทำให้คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีความพึงพอใจ และกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ แต่หากไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยหรือการเข้าถึงได้ยาก คนไข้ก็จะเสียโอกาสตรงนั้นไป อาจจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และพิการได้ ดังนั้น ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และ รพ.ตำรวจ เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล สามารถรองรับได้ทุกสิทธิ”
‘กัลฟ์’หนุนคนไทย เข้าถึงการรักษา
สำหรับ “ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องกระดูกสันหลังและระบบประสาท” มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเส้นประสาทและไขสันหลัง ได้แก่ ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เป็นต้น พร้อมกับจัดซื้อ “กล้องผ่าตัดกระดูกสันหลังหมอนรองกระดูกสันหลังชนิดผ่าตัดแผลเล็ก” โดย GULF ได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท
อีกทั้ง มีการทำงานร่วมกันของแพทย์ 2 แผนก คือ ศัลยกรรมระบบประสาท ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท กระดูกสันหลัง และ ออร์โธปิดิกส์ ที่เชี่ยวชาญด้านกระดูก ไขสันหลัง และเส้นประสาท เพื่อให้มีการรักษาโรคกระดูกสันหลังมีประสิทธิภาพดีขึ้น และเข้าถึงคนไข้ได้ทุกโรค ทุกกลุ่ม
อนึ่ง ที่ผ่านมา “กัลฟ์” ได้สนับสนุนงบประมาณทางด้านการแพทย์ให้กับ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นกว่า 26.5 ล้านบาท ได้แก่ สนับสนุนงบประมาณให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจในพระบรมราชินูปถัมป์รวมกว่า 7 ล้านบาท, มูลนิธิพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง 3 ล้านบาท การจัดซื้อเครื่องมือผ่าตัดกระดูกสันหลังระบบไฟฟ้าความเร็วสูง 1.5 ล้านบาท, จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดันพร้อมเครื่องผลิตอากาศ 5 ล้านบาท และ ล่าสุดกับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือฯ สำหรับศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคหมอนรองกระดูกฯ กว่า 10 ล้านบาท
ที่ผ่านมา กัลฟ์ มุ่งสนับสนุนด้านสาธารณสุขของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เพิ่มผลผลิต (Productivity) และระบบสาธารณสุขของประเทศในภาพรวม โดยมอบเงิน 10 ล้านบาท แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจในช่วงวิกฤติโควิด-19, การร่วมสนับสนุน “สร้างศูนย์ไตเทียมประสิทธิภาพสูง” รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รองรับผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตอย่างครบวงจร
และเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับประชาชนผ่าน หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ GULF Sparks Smiles ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมสนับสนุนเงิน 8.5 ล้านบาท เพื่อขยายขอบเขตการรักษาสู่กลุ่มเด็กพิเศษ และกองทุนอวัยวะเทียมสำหรับผู้บกพร่องทางช่องปากและใบหน้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนด้านการศึกษาและเยาวชน สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของกัลฟ์ ในการเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับภาคส่วนต่างๆ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
‘หลังผ่าตัด’ต้องปรับพฤติกรรม
โรคกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เป็นอาการเกี่ยวกับระบบประสาท ปัญหา คือ คนไข้จะไม่สามารถทนต่ออาการปวดและใช้ชีวิตประจำวันได้ “พ.ต.ท.พฤทธิพันธ์” อธิบายว่า เบื้องต้นจะทำการรักษาแบบประคับประคอง ให้ยา ทำกายภาพบำบัด เปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย เพื่อให้อาการดีขึ้น ในระยะเวลา 6 สัปดาห์-3 เดือน หากอาการไม่ดีขึ้นจะต้องผ่าตัด
“ในกลุ่มที่รักษาประคับประคอง ทานยา ทำกายภาพ แล้วอาการดีขึ้นมีอยู่ราว 40-60% แต่มีอีกกลุ่มราว 40% ที่ไม่หาย ระยะเวลา 3 เดือน อาการทรุดลง ก็จะต้องไปถึงการผ่าตัด การผ่าตัดได้เร็ว จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน”
ทั้งนี้ “หลังผ่าตัด” สิ่งแรกที่จะต้องพึงระวัง คือ ไม่ควรนั่งนาน เพราะโอกาสเป็นซ้ำได้หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ควรนั่งไม่ควรเกิน 30-45 นาที และลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ถัดมา คือ การบริหารกล้ามเนื้อ ควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง และสะโพก หากมีอาการคล้ายเดิม ปวดร้าวลงขา ก็อาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม อาการที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ อาการชาซึ่งอาจจะไม่หาย แต่แรงกำลัง การเดิน การใช้ชีวิตประวันดีขึ้น