กล้อง Endoscope นวัตกรรมผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ทุกคนควรรู้จัก
ทำความรู้จักกล้อง Endoscope นวัตกรรมการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างหรือรอยโรคต่างๆ ของผู้ป่วยได้ชัดเจนมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ปัจจุบันการผ่าตัดโดยวิธีการใช้กล้อง Endoscope เป็นที่นิยมมากขึ้น และคาดว่าจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ และได้ผลดี แผลเล็ก เจ็บน้อย ใช้ระยะเวลาในการนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น และเหมาะกับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาททุกชนิด
นพ.ณฐพล ลิตติรานนท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ กล่าวว่า กล้อง Endoscope เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มความแม่นยำ และลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง
โดยกล้องเอ็นโดสโคป จะมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 5 มิลลิเมตร ภายในมีระบบนำแสงพิเศษ เพื่อช่วยในการมองเห็น และยังมีช่องที่สามารถสอดเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ หรือ อุปกรณ์พิเศษอื่นๆ เพื่อเข้าไปยังบริเวณรอยโรคที่จะทำการรักษาได้อย่างตรงจุดและสะดวกยิ่งขึ้น
เพราะเมื่อกล้องถูกติดอยู่ที่บริเวณปลายท่อทำให้การมองเห็นทำได้อย่างชัดเจน และการเปิดแผลจึงมีขนาดที่เล็กมากตามขนาดของอุปกรณ์ ความบอบช้ำของแผลและอัตราความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจึงลดลงตามลำดับ ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วมากยิ่งขึ้น และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้การผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope ถือเป็น Gold Standard ในการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น การผ่าตัดเส้นเอ็นข้อเข่า และการผ่าตัดซ่อมเอ็นในข้อไหล่อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กล้องเอ็นโดสโคป ลดการเสียเลือด ขนาดแผลเล็ก
นพ.ณฐพล ยังเผยอีกว่า ปัจจุบัน กล้อง Endoscope มีอยู่ 2 ประเภทคือ แบบ 2 รู และแบบ 1 รู โดยที่แบบ 2 รู หรือ (Biportal) นั้นการผ่าตัด 1 ระดับจะมี 2 แผล ซึ่งรูหรือแผลที่ 1 ไว้สำหรับสอดอุปกรณ์กล้องที่มีปลายกล้องติดลำแสงเข้าไปเพื่อช่วยในการมองเห็น และรู หรือแผลที่สองสำหรับใส่เครื่องมือที่จะเข้าไปนำหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นออก วิธีนี้เป็นการพัฒนามาจากการผ่าตัดช่องท้อง หัวไหล่ หรือเข่า
ส่วนแบบ 1 รู (Uni portal) กล้องเอ็นโดสโคปแบบรูเดียว หรือแผลผ่าตัดแผลเดียว โดยหลักของการทำงานคือกล้องชนิดนี้ตรงบริเวณส่วนกลางของกล้องจะเป็นรูกลวงเพื่อให้สามารถเอาเครื่องมือที่คีบพวกหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออกได้ผ่านทางกล้อง ซึ่งแพทย์สามารถทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยสามารถใส่อุปกรณ์นี้เข้าไปทำหัตถการได้ภายในรูเดียว
โดยปัจจุบันโรงพยาบาลเอส เลือกใช้เทคนิคแบบ Uni portal หรือแบบรูเดียว ซึ่งมีข้อดีคือ เสียเลือดน้อย อาการปวดจากแผลผ่าตัดน้อยกว่า และขนาดแผลเล็กเพียง ประมาณ 5 มม. เท่านั้น ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็วกว่าแบบอื่นๆ เพราะเจาะแค่รูเดียวเล็กๆ เท่านั้น แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำหัตถการด้วยวิธีนี้เท่านั้นจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
ส่วนเหตุผลที่หลายโรงพยาบาลหันมานิยมใช้กล้อง Endoscope มารักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังเคลื่อน โรคโพรงเส้นประสาทตีบแคบที่เกิดจากหินปูน หรือแม้แต่ที่บริเวณคอ ถ้าหากมีภาวะโพรงกระดูกตีบแคบ หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าทางด้านหน้าก็สามารถรักษาด้วยกล้องเอ็นโดสโคปได้ ซึ่งแพทย์สามารถเห็นรอยโรคที่ใกล้กับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจนขึ้น และทำให้การผ่าตัดปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับโรงพยาบาลเอส สไปน์ ถือเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งเดียวและแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีจุดแข็งที่เด่นชัด คือ การมีทีมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง โรคปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลังและระบบประสาทโดยเฉพาะ ทำให้รู้ลึก รู้จริง สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด ประกอบกับการนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่จากทั่วโลกเข้ามาช่วยในการรักษา ตอบโจทย์ผู้ป่วยที่มีเวลาน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ทรมานเหมาะกับผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัด
การรักษาด้วยกล้องเอ็นโดสโคปแบบรูเดียวหรือ uni portal ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังที่ฝึกฝนมาอย่างชำนาญเท่านั้น ซึ่งที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ ได้เลือกใช้วิธีนี้มามากกว่า 7 ปี และมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหายแล้วมากกว่า 10,000 ราย