หนี้เสีย “ค่ารักษาพยาบาล” เปิดแนวทางแก้-พัฒนาสาธารณสุขชายแดน

หนี้เสีย “ค่ารักษาพยาบาล” เปิดแนวทางแก้-พัฒนาสาธารณสุขชายแดน

ไทยมีหนี้เสีย เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลต่างด้าวตามแนวชายแดน สธ.เดินหน้าตั้งศูนย์เรียนรู้สาธารณสุขชายแดน 5 แห่ง ทุกภูมิภาค แก้ปัญหาตามความเฉพาะพื้นที่ 

KEY

POINTS

  • สาธารณสุขชายแดนเป็นหนึ่งในนโยบายด้านสาธารณสุขที่จะต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาพยาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในไทย
  • อาจเรียกได้ว่าหนี้เสีย สำหรับค่ารักษาพยาบาล ที่ประเทศไทยไม่สามารถเรียกเก็บจากประชากรข้ามชาติและผู้ติดตามที่เข้ามารักษาในไทยได้ ราวปีละ 2,500 ล้านบาท
  • สธ.เร่งจัดทำแพลตฟอร์ม HINT บริหารจัดการดูแลกลุ่มไร้สถานะและสิทธิในไทย ตั้ง 5 ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์สาธารณสุขชายแดน ครอบคลุมทุกภูมิภาค ประสานองค์กรระหว่างประเทศสนับสนุนงบประมาณ

ประเทศไทยมี 31 จังหวัดที่เป็นแนวชายแดน ติดต่อกับประเทศเพื่อบ้าน 4 ประเทศ คือ เมียนมา 10 จังหวัด  ลาว 12 จังหวัด  กัมพูชา 7 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด  ซึ่งแต่ละแนวชายแดนมีปัญหาและแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับบริบทของพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ป่วยต่างชาติข้ามมารักษาพยาบาลในฝั่งประเทศไทย ก็ให้การรักษา ทำให้ไทยมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเรียกเก็บไม้ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดนปีงบประมาณ 2562-2566 เฉลี่ย 2,564 ล้านบาทต่อปี

หนี้เสีย ค่ารักษาพยาบาล

ข้อมูลระหว่างปี 2562-2566 พบว่า  ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม้ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดนปีงบประมาณ เฉลี่ย 2,564 ล้านบาทต่อปี แยกเป็น

  • ปี 2562 จำนวน ราว1,894 ล้านบาท
  • ปี 2563 จำนวนราว 1,763 ล้านบาท
  • ปี 2564 จำนวนราว 3,514 ล้านบาท
  • ปี 2565 จำนวนราว 3,597 ล้านบาท
  • ปี  2566 จำนวนราว 2,054 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในประเทศไทยมีการดูแลรักษาพยาบาลกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยใช้งบประมาณช่วง 4 ปี  ดังนี้

  • ปี  2564 จำนวน 554,137 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,397  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,575 ล้านบาท  
  • ปี 2565 จำนวน 604,394 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,148  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,544 ล้านบาท  
  • ปี 2566  จำนวน 696,522 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,212  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,598 ล้านบาท  
  • ปี  2567 ( ณ 19 เม.ย.)จำนวน 731,180 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,513 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริงไปแล้ว ราว 656 ล้านบาท  

ใช้ระบบHINTบริหารจัดการ เก็บข้อมูล
 

เกี่ยวกับเรื่องนี้  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาสาธารณสุขชายแดนว่า  มั่นใจว่าต่อไปจะดีขึ้นเพราะให้ความสำคัญเรื่องการบริการสาธารณสุขชายแดน ทั้งคนในประเทศไทยที่ยังไม่มีสถานะและคนที่อยู่ชายแดนข้างเคียงที่เข้ามารับการดูแลรักษา

ในส่วนของคนในไทยที่ไร้สถานะและสิทธิ ขณะนี้มีการพัฒนาระบบ HINT ในการบริหารจัดการกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะไร้สิทธิ ดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาสู่กระบวนการ ในการดูสิทธิที่จะได้รับ เมื่อระบบนี้สำเร็จจะเห็นภาพของคนที่มาใช้บริการว่ามีสถานะ มีสิทธิ มีหลักประกันสุขภาพอย่างไร จะช่วยเติมเต็มและนำสู่การแก้ปัญหาได้

ตั้ง 5 ศูนย์เรียนรู้สาธารณสุขชายแดน

นอกจากนี้ วางโครงสร้างรองรับเรื่องการเรียนรู้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินการทั่วประเทศ 5 แห่ง ดำเนินการเปิดแห่งแรกแล้วที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนที่เหลือจะเปิดศูนย์ที่จ.ระนอง ซึ่งจะเปิดเป็นแห่งที่ 2 ในเร็วๆนี้  รวมถึงที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.)ปัว จ.น่าน  รพร.สรแก้ว จ.สระแก้ว และ จ.อุบลราชธานี

“5 ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์สาธารณสุขชายแดน ตอบโจทย์ตามภูมิภาค ซึ่งจะมีหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น สาธารณสุขชายแดนแม่และเด็ก  โรคระบาดชายแดน  มีนักศึกษา คนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานความร่วมมือระหว่างนานาประเทศ ในการดูแลประชาการข้ามชาติ โดยมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยดูแล สนับสนุนร่วมกันเรียนรู้และจัดบริการ”นพ.ชลน่านกล่าว   




ประสานความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางนี้จะสามารถชดเชยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไทยเรียกเก็บไม่ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เดิมใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการดูแลประชากรต่างชาติตามแนวชายแดน  ต่อไปเมื่อมีการทำเรื่องฐานข้อมูลที่ชัดเจน ในการที่จะของบประมาณมาดูแลกลุ่มนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น งานป้องกันโรค  งบประมาณส่งเสริมสุขภาพก็สามารถดึงมาใช้ได้ เป็นการชดเชยเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึง องค์กรระหว่างประเทศก็สนับสนุนงบประมาณด้วย

 อย่างที่จ.ตาก ผู้ที่มาจากชายแดนเมียนมา สามารถเบิกค่ารักษาได้ทุกคน จากองค์การกาชาดสากลที่มีงบประมาณสนับสนุน ถ้ามีข้อมูลชัดเจนก็ส่งไปเบิกได้ ก็มาชดเชยเรื่องค่าใช้จ่าย โดยมีการกำหนดตัวเลขค่ารักษาที่จะเบิกได้ไว้ เช่น  ค่ารักษาพยาบาล 60,000 บาท เบิกได้  80 % ไม่เกิน หรือเกิน 60,000 บาท ก็จะเบิกได้ในอัตราที่กำหนด เป็นต้น 

พัฒนาสาธารณสุขชายแดนตามบริบท

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ชายแดนทั้งหมด 31 จังหวัด การให้บริการเหมือนกัน แต่ชายแดนแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไป ชายแดนฝั่งเมียนมาก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ชายแดนฝั่งลาวก็อีกรูปแบบหนึ่ง การแก้ปัญหาและพัฒนาสาธารณสุขชายแดนจึงขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

อย่างรพร.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีรายได้จากผู้ป่วยชาวลาวที่เข้ามารักษาเป็นหลัก เพราะมีกำลังความสามารถที่จะจ่าย ซึ่งก็มีการขยายการการหารือกับท่านทูตลาว ที่จะให้เป็นความร่วมมมือระหว่างรัฐต่อรัฐในการกำหนดสิทธิที่จะสามารถมาใช้รักษาพยาบาลในประเทศไทยได้  เป็นต้น