เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง "ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล"

เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง "ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล"

การเป็นจิตแพทย์นั้น ต้องมีธรรมชาติที่สามารถรับฟังผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างของผู้คน และพร้อมที่จะเยียวยาดูแลจิตใจของผู้คนยิ่งในยุคที่ทุกคนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น มีความเครียด ซึมเศร้า ความต้องการของจิตแพทย์ในองค์กรต่างๆ จึงมีมากขึ้น

KEY

POINTS

  • การเป็นจิตแพทย์นั้น ต้องมีธรรมชาติที่สามารถรับฟังผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างของผู้คน และพร้อมที่จะเยียวยาดูแลจิตใจของผู้คน
  • ปัจจัยจิตแพทย์ขาดแคลนมาจากทั้งการส่งเสริมการเรียน ความนิยมในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ไม่มาก สถาบันที่ผลิตได้มีจำกัด ค่าตอบแทนไม่มากพอ  ภาระงานมาก ทำให้เกิดสมองไหลไปทำงานภาคเอกชน หรืออื่นๆ

  • การดูแลสุขภาพจิตของตนเองสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงมอนิเตอร์ตัวเอง คอยสำรวจจิตใจของตัวเองว่าเริ่มมีความเครียดแล้วหรือยัง หากมีความเครียดอย่าปล่อยไว้ ควรรีบพบแพทย์

จิตแพทย์" เป็นอาชีพที่ต้องรู้เข้าอกเข้าใจคนอื่น พร้อมรับฟังคนอื่น ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา ทำให้จิตแพทย์หนึ่งคนต้องรับภาระในการดูแลสุขภาพจิตของผู้คนมากขึ้น อีกทั้งค่าตอบแทนไม่ได้สูงมาก ทำให้นักศึกษาแพทย์ไม่เลือกเรียนต่อด้านจิตแพทย์ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้จิตแพทย์ เป็นอาชีพที่ถูกมองข้าม

ขณะที่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เครียด วิตกกังวลมีจำนวนมากขึ้นสวนทางกับจำนวนจิตแพทย์ที่ลดลง

“ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์” นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่าปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์ของไทย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งปัจจุบันมีจิตแพทย์ที่ทำงานในระบบประมาณ 700 คน เมื่อเทียบกับประชากรไทย 70 ล้านคน สัดส่วนระหว่างจิตแพทย์ต่อแสนประชากร ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ WHO กำหนด ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตมากขึ้น แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากส่วนหนึ่งสถาบันการผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ 3 ปีมีจำนวนจำกัด

“ตอนนี้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เครียด วิตกกังวลมีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับจำนวนจิตแพทย์ที่ลดลง เพราะต่อให้ 2-3 ปีที่ผ่านมานักศึกษาแพทย์สนใจเลือกเรียนจิตแพทย์มากขึ้น แต่ขึ้นในระดับหลักหน่วยเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าค่าตอบแทน หรือเส้นทางอาชีพของจิตแพทย์อาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเส้นทางอาชีพแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ”ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง

เรียนศัลยแพทย์ -อายุรกรรมแทนจิตแพทย์

คนที่จะมาเป็นจิตแพทย์ได้ นอกจากเรียนสายวิทย์-คณิต ในระดับมัธยมศึกษาแล้ว ยังต้องสอบให้ติดคณะแพทยศาสตร์ ต้องเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี หลังจากนั้นจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านต่ออีก 3 ปีจึงเป็นจิตแพทย์เต็มตัว โดยสถาบันที่เปิดการเรียนแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ 3 ปี ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต อาทิ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โรงพยาบาลศรีธัญญา และโรงพยาบาลสวนปรุง หรือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ

นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ไม่เลือกเรียนจิตแพทย์ ทั้งการสนับสนุนหรือการส่งเสริมการเรียน การผลิตจิตแพทย์ ซึ่งเมื่อเทียบกับแพทย์สาขาอื่นๆ ที่ขาดแคลนเช่นเดียวกัน แต่จิตแพทย์จะขาดแคลนมากกว่า

เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง \"ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล\"

ขณะที่ความนิยมในกลุ่มแพทย์ไม่มาก นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะไปเลือกเรียนศัลยแพทย์ หรืออายุรกรรม มากกว่าที่จะมาเรียนจิตแพทย์ รวมทั้ง สถาบันที่ผลิตได้มีจำกัด แต่ละปีจะผลิตจิตแพทย์ได้ประมาณ 80-90 คนต่อปี ทั้งที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และมีจิตแพทย์เกษียณอายุ 20 คนต่อปี

“ตอนนี้จิตแพทย์ในระบบต้องทำงานมากขึ้น และด้วยภาระงานที่มากขึ้นทำให้จิตแพทย์ย้ายออกจากพื้นที่ในจังหวัด ไปอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ  ส่วนต่างจังหวัดมีจิตแพทย์เพียง 1-2 คนเท่านั้น ทั้งที่ประชากรไทยแต่ละจังหวัดมีหลักล้านคน รวมถึงค่าตอบแทนที่น้อยมาก เป็นเวลากว่า 20 ปี แล้วที่ไม่มีการปรับค่าตอบแทน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาแพทย์เลือกเรียนจิตแพทย์ อีกทั้งลักษณะของการทำงานที่ต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รับฟังผู้อื่น คนรุ่นใหม่อาจไม่ชอบ เพราะเพียงเรื่องที่ตัวเองเผชิญก็อาจจะหนักหนาอยู่แล้ว” ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

ตั้งเป้าเพิ่มจิตแพทย์400คนใน5ปี

 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีการเพิ่มสถาบันที่สามารถเปิดให้ฝึกอบรมสาขาจิตเวชศาสตร์ได้ ปัจจุบันมี 11 สถาบันที่เปิดรับผู้สมัครทั้งในแผน ก และ แผน ข ปีละ ระดับละ 57 ตำแหน่ง รวมถึงได้มีความร่วมมือกับ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อวางแผนเพิ่มศักยภาพในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์

พร้อมทั้งได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยจะร่วมผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้

เสริมทักษะ ดูแลจิตแพทย์รุ่นเยาว์

องค์กรที่ทำหน้าที่ในการผลิตจิตแพทย์จะเป็นราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้แพทยสภา ส่วนสมาคมจิตแพทย์ฯ จะทำหน้าที่คอยส่งเสริม สนับสนุนดูแลจิตแพทย์ในระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตจิตแพทย์ ที่มีกลุ่มจิตแพทย์รุ่นเยาว์เข้าทำงาน จะให้การช่วยเหลือ สร้างเครือข่ายจิตแพทย์ และจะมีการจัดกิจกรรม ชมรมต่างๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ ทักษะใหม่ๆ และเพิ่มพลังใจในการดูแลผู้ป่วยให้แก่จิตแพทย์

“เส้นทางจิตแพทย์นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าง่ายหรือยาก เพราะการเป็นแพทย์ไม่ว่าจะสาขาไหน มีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป แต่การเป็นจิตแพทย์นั้น ต้องมีธรรมชาติที่สามารถรับฟังผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างของผู้คน และพร้อมที่จะเยียวยาดูแลจิตใจของผู้คน ผมเป็นจิตแพทย์มา 30 ปี ซึ่งการเติบโตในสายอาชีพดังกล่าวมีค่อนข้างมาก ยิ่งในยุคที่ทุกคนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น มีความเครียด ซึมเศร้า ความต้องการของจิตแพทย์ในองค์กรต่างๆ จึงมีมากขึ้น” นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ กล่าว

เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง \"ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล\"

ปรับค่าตอบแทน ลดภาระงาน

 คนที่จะเลือกเรียนจิตแพทย์ได้นั้น ส่วนสำคัญต้องมีภาพของจิตแพทย์ในจินตนาการว่าอยากเป็นจิตแพทย์แบบไหน เพราะการเป็นจิตแพทย์ต้องรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รับฟังผู้อื่น คอยสนับสนุน มองหาแนวทาง กิจกรรม การดูแลจิตใจ และการรักษา

ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าวด้วยว่าสำหรับแนวทางในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษาแพทย์เลือกเรียนจิตแพทย์มากขึ้นนั้น เรื่องนี้ส่วนหลักอยู่ที่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอ เพราะนอกจากบางพื้นที่ บางจังหวัดมีจิตแพทย์ไม่กี่คนแล้ว ยังขาดเรื่องของยาและเทคโนโลยีที่จะช่วยดูแลผู้ป่วย และการทำงานในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานสาธารณสุขมักจะมีภาระงานอื่นๆ เช่น การทำงานเอกสาร การทำงานด้านบริหาร ไม่ใช่เพียงดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว หากภาระงานมาก จิตแพทย์ไม่ไหวก็ต้องออกไปทำงานอื่นๆ แทน

“ค่าตอบแทน รัฐบาลไม่ได้ปรับเงินประจำตำแหน่ง มา 20 ปี แล้ว ซึ่งแพทย์สาขาอื่นๆ ก็เหมือนกัน หากมีการปรับขึ้นจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ กำลังใจให้แก่คนทำงาน รวมถึงในประเทศไทย คนที่จะมาพบจิตแพทย์ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อยากให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้คนไม่อายที่ต้องมาพบจิตแพทย์ เข้ามารับบริการให้มากขึ้น” ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพจิตของตนเองนั้น ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงมอนิเตอร์ตัวเอง คอยสำรวจจิตใจของตัวเองว่าเริ่มมีความเครียดแล้วหรือยัง หากมีความเครียดอย่าปล่อยไว้ ช่วยดูแลคนข้างๆ ซึ่งกันและกัน การมีเพื่อน มีคนในครอบครัวคอยรับฟัง อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กัน พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอม เติมพลังใจให้แก่กัน ให้หาความรู้เพิ่มเติม โดยเข้าไปในเพจของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และอย่าลืมกอดตัวเอง รับฟังเสียงของตัวเอง แต่หากรับมือไม่ไหวควรจะพบจิตแพทย์

เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง \"ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล\"

ครอบครัว เศรษฐกิจ โซเซียลมีเดีย ส่งผลสุขภาพจิตแย่

สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยหรือผู้มีปัญหาทางจิตมากขึ้นนั้น มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของการเลี้ยงดู ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ล้วนทำให้พ่อแม่ใช้เวลากับลูกน้อยลง ขาดการประคับประคองเลี้ยงดูทางจิตใจแก่ลูก ขณะเดียวกัน พ่อแม่ คนหนุ่มสาวมีความเครียดทั้งจากการเรียน การทำงาน เศรษฐกิจของครอบครัว และความคาดหวังของตนเอง 

ขณะเดียวกันเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เสพเนื้อหาแต่ด้านลบๆ เรื่องร้ายๆ รวมถึง การนำเสนอมุมมอง ภาพ การเล่าเรื่องของการฆ่าตัวตาย ความเศร้า และความอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นๆที่เห็นตามโซเซียลมีเดีย ล้วนทำให้คนมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มากขึ้น”นายกสมาคมจิตแพทย์ฯ กล่าว

นอกจากนั้น การเข้าถึงบริการมีจำกัด ความรู้ความเข้าใจของหลายคนที่มองว่าการพบจิตแพทย์เท่ากับเป็นโรคจิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องมีการส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ เพราะจริงๆ แล้วคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่ได้หมายความว่าเป็น คนบ้า หรือเป็นโรคจิต และหลายๆโรคทางจิตเวชสามารถป้องกัน รักษาได้

เหตุใด?คนเรียนจิตแพทย์น้อยลง \"ภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล\"

คนไทยป่วยจิตเวชเพิ่ม

รายงานสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 จัดทำโดยสภาพัฒน์ ระบุ ว่า ประเทศไทย พบผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวชมากขึ้น จากจำนวน 1.3 ล้านคน ในปีง2558 เป็น 2.8 ล้านคน ในปี.2562 และ 2.9 ล้านคน ในปี.2566

ทั้งนี้ แม้จะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก จากปี 2556 พบผู้มีปัญหา 7 ล้านคน ส่วนปี 2566 พบผู้มีปัญหา 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก

ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 256,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา 28,775 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนการประเมินสุขภาพจิตตนเอง กรมสุขภาพจิต ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.2566- 22 เม.ย.2567 พบว่า ปีงบฯ 2567 มีผู้เข้ารับการประเมิน 8.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยผู้เข้ารับการประเมิน จะมีอัตราความเครียดสูง ร้อยละ 15.4 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.2 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 10.6