คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ๒๕๖๗ “บุหรี่ไฟฟ้า: หยุดโกหกได้แล้ว”
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ของทุกปี คือวันที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งกระแสจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเน้นประเด็น “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เนื่องจากการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นวิกฤติการณ์ด้านสาธารณสุข
หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภท ทอย พอดส์ ซึ่งออกแบบเป็นรูปตุ๊กตา ตัวการ์ตูน หรือกล่องนม สำหรับเด็ก บ่งชี้ถึงเป้าประสงค์ของการตลาดล่าเหยื่อ มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน องค์การอนามัยโลกจึงใช้คำขวัญว่า “บุหรี่ไฟฟ้า: หยุดโกหกได้แล้ว”
บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพสำหรับผู้สูบบุหรี่มวน ตามที่มีการกล่าวอ้าง เอกสารภายในของผู้ผลิตข้ามชาติ บ่งชี้ถึงแผนการตลาดเพื่อดึงดูดทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่มวนแล้วและกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน การตลาดล่าเหยื่อโดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนคือการบ่อนทำลายความมั่นคงและอนาคตของชาติ
ข้ออ้างว่าประเทศไทยห้ามนำเข้าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มาตลอด ๑๐ ปี แต่ไม่ได้ผลเพราะมีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เถื่อนอยู่มากมาย เมื่อสอบถามในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุม กำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ว่า
หากทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายแล้ว มีใครจะรับประกันได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เถื่อนจะหมดไป คำตอบคือไม่มีใครรับประกันได้
ประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนำความหายนะมาสู่อนาคตและความมั่นคงของชาติ
จึงทบทวนนโยบาย และห้ามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทใช้แล้วทิ้ง และ ทอย พอดส์ แต่มีความพยายามของอนุกรรมาธิการร่างกฎหมาย ในกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่จะทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองประเภทนี้ถูกกฎหมาย
นอกจากจะห้ามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนแล้ว ประเทศสหราชอาณาจักรยังผ่านร่างกฎหมาย “ยุคปลอดบุหรี่” (Tobacco-Free Generation) เพราะเด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง จากการตลาดล่าเหยื่อโดยบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร
ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งรัฐ แทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ต่างบังคับใช้กฎหมาย “คนรุ่นใหม่ปลอดยาสูบ” ซึ่งเป็นมาตรการลดอุปทานเพื่อไม่ให้คนรุ่นใหม่เสพติด นิโคติน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่เกิดหลังจากปี พ.ศ. ๒๕๔๓
การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เมื่ออายุยังน้อย เป็นกุญแจสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรแพร่กระจายออกไป เนื่องจากร้อยละ ๘๐ ของผู้สูบบุหรี่เริ่มต้นสูบบุหรี่ที่อายุประมาณ ๑๘ ปี และเกือบทุกคนเริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ ๒๖ ปี เมื่อเริ่มเสพติดนิโคตินแล้ว เป็นการยากมาที่เลิกสูบบุหรี่
มาตรการนี้มีหลักการจากแนวคิดที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่เกิดในปีใดปีหนึ่งที่รัฐกำหนดไว้ ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินตลอดชีวิต เช่น รัฐกำหนดไว้ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นไป บุคคลที่เกิดในปีนั้น และหลังจากนั้นจะไม่สามารถซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินได้ตลอดชีวิต มาตรการนี้จะทำให้การเสพติดนิโคตินเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ
แม้จะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ โดยอุตสาหกรรมยาสูบ แต่มาตรการนี้ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนต่างๆ ถึงร้อยละ ๗๕ และผู้ที่สูบบุหรี่ก็สนับสนุนถึงร้อยละ ๗๒ มากไปกว่านั้น ชาวออสเตรเลียอยากให้รัฐบาลควบคุมกำกับอุตสาหกรรมยาสูบเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าอุตสาหกรรมยาสูบจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หนึ่งในหลักการสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง จากสารเสพติดต่างๆ
ดังนั้น รัฐบาลไทย และกรรมาธิการวิสามัญฯ จำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิทธิของเด็ก ซึ่งรัฐมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เป็นเหยื่อของบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร
บทความจากวารสาร The Lancet เกี่ยวกับต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อจากการประกอบธุรกิจที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของอุตสาหกรรมข้ามชาติ ๔ ประเภท คือ สุรา ยาสูบ อาหารแปรรูป และพลังงานจากฟอสซิล
ซึ่งพลังอำนาจทางธุรกิจและอิทธิพลของอุตสาหกรรมข้ามชาติดังกล่าว จะต่อต้านนโยบายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางหนทางสู่กำไร ด้วยการล้อบบี้ผู้กำหนดนโยบาย แทรกซึมกลุ่มนักวิชาการและนักวิจัยเพื่อผลิตผลงานวิจัยให้เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับธุรกิจ และบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัย และหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของการมุ่งสู่ผลกำไรสูงสุด
ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลต่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ หรือการดำเนินการของธุรกิจข้ามชาติ ที่ส่งผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ เป็นเครื่องมือ โครงสร้าง และอำนาจ ที่ใช้โดยบริษัทข้ามชาติบางองค์กร ในการบ่อนทำลายนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่เป็นภัยคุกคามต่อกำไร
การปกป้องนโยบายสาธารณะเพื่อความเท่าเทียมทางสุขภาพ ไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยบริษัทข้ามชาติ ต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใสโดยกลไกที่มีประสิทธิผล ในการสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจากหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าการใช้ ‘วาทกรรม’ ในการพิจารณากฎหมายที่เหมาะสมในการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลต่อสุขภาพ เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายที่ ๑๗ ซึ่งบ่งชี้ว่าต้องทำให้เกิดความสอดคล้องทางนโยบายเพื่อปกป้องนโยบายสาธารณะ และต้องจำกัดอิทธิพลของอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ด้วยการทำให้สังคมมั่นใจในความโปร่งใสของกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ
มีความพยายามผลักดันในเวทีขององค์การสหประชาชาติเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ บังคับให้บริษัทยาสูบข้ามชาติ ‘รับผิดชอบ’ ต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการสูญเสียชีวิตจาก ‘ผลิตภัณฑ์แห่งความตาย’ และการหลอกลวงสาธารณะเกี่ยวกับ ‘การลดอันตราย’
วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ และปีต่อๆ ไป สังคมต้องช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ “หยุดโกหกเสียที บริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร”