นวัตกรรม 'สุมนไพร' ฝีมือคนไทย รักลูก รักษ์โลก
“สมุนไพรไทย” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิด-19 จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52.10 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 8
KEY
POINTS
- “สมุนไพรไทย” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52.10 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 8
- ขณะเดียวกัน สินค้าสำหรับแม่และเด็กยังคงเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณแม่ยุคใหม่ ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญการออกแบบ การผลิต ฟังชั่นก์ และความรู้สึกในการใช้สินค้าหลังการซื้อ
- “ดำเกิง ทองซ้อนกลีบ” CEO & Co-Founder Great Indeed Co.,Ltd. หนึ่งในผู้ประกอบการไทย ที่เข้ามาในตลาดแม่และเด็กย่างเข้าปีที่ 3 ด้วยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ซึ่งเติบโตกว่า 100% ทุกปี
“สมุนไพรไทย” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิด-19 จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52.10 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 8 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากมีความปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า และมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการเติบโตที่สูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 74.0 พันล้านบาท ในปี 2570
ขณะเดียวกัน สินค้าสำหรับแม่และเด็กยังคงเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ เผยข้อมูลตลาดในประเทศจีน พบว่า ในปี 2022 มูลค่าการขายปลีกออนไลน์สินค้าสำหรับแม่และเด็กของจีนจะสูงถึง 835.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งตามข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดสินค้าแม่และเด็กของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และในอนาคตการบริโภคของคุณแม่ยุคใหม่จะมีแนวโน้มการบริโภค 3 ประการ คือ การวางแผนการซื้อตุนสินค้าที่ครบครัน การเรียนรู้ผ่านทางระบบออนไลน์ และ การเลือกผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบและใส่ใจกับความปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นว่าแนวคิดของผู้บริโภคของคุณแม่ยุคใหม่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบสินค้า กรรมวิธีการผลิต ฟังชั่นก์การใช้งาน และความรู้สึกในการใช้สินค้าหลังการซื้อ ส่วนที่เป็นสินค้าประเภทอาหารจะคำนึงถึงสารอาหารโภชนาการและความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าแม่และเด็ก ควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและสถานการณ์แนวโน้มความเป็นไปได้ และติดตามข่าวสารของตลาดแม่และเด็กอย่างต่อเนื่อง
นวัตกรรมสมุนไพรเพื่อลูก
“ดำเกิง ทองซ้อนกลีบ” CEO & Co-Founder Great Indeed Co.,Ltd. หนึ่งในผู้ประกอบการไทย ที่เข้ามาในตลาดแม่และเด็กย่างเข้าปีที่ 3 จากประสบการณ์การเป็นนักโฆษณาบริษัทเอเจนซี่ใหญ่ๆ หลายแห่ง และเปิดบริษัท ADVERTISING AGENCY ของตัวเองมากกว่า 10 ปี การเป็นนักโฆษณามักจะเจอกับคำท้าทายเสมอว่า หากเป็นแบรนด์ของคุณ คุณจะทำได้จริงหรือไม่ จุดประกายให้อยากทำสินค้าสักหนึ่งตัวขึ้นมา
Dragkooler ผ้าเปียกผสมสมุนไพร สำหรับเด็ก เป็นสินค้าชิ้นแรกของบริษัทฯ ที่ผ่านการวิจัยพัฒนา ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทดสอบทางคลินิกที่ รพ.จุฬาฯ และได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) , TED Fund ที่มาช่วยผลักดันให้สินค้าเกิด
“จุดเริ่มต้นของสินค้าดังกล่าวมาจากช่วงที่ลูกอายุ 1 ขวบ ไม่สบาย สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เช็ดตัว ปรากฏว่าไข้ไม่ลด ทำให้ต้องขับรถกลางดึกเพื่อพาลูกไปโรงพยาบาล ตอนนั้นภาพที่เห็น คือ พยาบาลต้องเช็ดแรงๆ เพื่อเปิดรูขุมขน ซึ่งมันจำเป็นไม่เช่นนั้นเด็กไข้สูงจะชัก ปรากฎว่าไข้ลดลงจริงๆ จึงมองว่าอยากทำให้การเช็ดตัวลดไข้เป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพ”
จาก Pain Point ดังกล่าว แนวคิดถัดมา คือ อยากให้สมุนไพรของไทยมาเป็นส่วนผสม ต้องสะดวก แค่ฉีกซอง เป็นผ้าผืนหนึ่งเช็ดตัวเลย มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ Dragkooler นวัตกรรมผ้าเปียกสมุนไพร ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาโดย ศ.ภญ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอยู่ภายใต้ความคุ้มครองจากอนุสิทธิบัตร อ่อนโยนต่อผิวด้วยสารสกัดสมุนไพรธรรมชาติ
นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังคว้ารางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมยอดเยี่ยมอันดับ 1 ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จัดโดย กระทรวงพาณิชย์ รางวัลนวัตกรรม Success Case โดย กระทรวงอุตสาหกรรม รางวัลนวัตกรรมเหรียญทอง จากงานนวัตกรรม Intarg ประเทศโปแลนด์ และ รางวัลนวัตกรรมเหรียญทอง จากงานนวัตกรรม IITE ประเทศอังกฤษ
รักลูกแล้ว รักษ์โลกด้วย
Dragkooler มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายในปีแรก อยู่ที่ 5 ล้านบาท ปีถัดมายอดขายเติบโตอยู่ที 10 ล้านบาท และในปีนี้ ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 20 ล้านบาท เรียกว่าเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบ Pain Point ของลูกค้า และยังตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“ดำเกิง” กล่าวต่อไปว่า เราพยายามคิดให้ครบ ด้วยแนวคิด BCG “รักลูกแล้ว รักษ์โลกด้วย” โดยใช้สมุนไพร ธรรมชาติ 100 % ตัวผ้าทำจากเส้นใยธรรมชาติสามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ ขณะที่ซองใช้เกรดอลูมิเนียมรีไซเคิลได้ และกล่องกระดาษมีมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship council) ทุกอย่างจึงครบลูปการรักษ์โลก
ปัจจุบัน สินค้าดังกล่าวมีวางขายทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ อาทิ เซ็นทรัลฯ โรบินสัน ทุกสาขาในแผนกแม่และเด็ก เชนร้านขายยาไม่ว่าจะเป็น ร้านยากรุงเทพ SAVE DRUG เป็นต้น รวมถึงกว่า 1,000 สาขาของซีเอ็ด และส่งออกไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ตัวที่ 2 อย่าง “ลูกกลิ้งกาวไหม” สำหรับใช้ทาหลังยุงกัด สารสกัดจากโปรตีนกาวไหม หยุดอาการคัน ลดรอยแดง รอยดำจากแผล ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน
“มองว่าตัวเองเป็น เอสเอ็มอี ที่ใช้นวัตกรรมในทุกสินค้าที่เราออกมา และพยายามเอาตัวเองไปอยู่ในอีโคซิสเต็มที่ดี เช่น เป็นสมาชิกหอการค้า , กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP เพื่อสมัครออกบูธงานต่างๆ และ สมาชิกสภาอุตสาหกรรม พยายามหาทางพาเราไปอยู่ในที่ที่เราอยากจะไปให้ได้ ถึงแม้ว่ากำลังน้อยกว่ารายใหญ่แต่เราก็สู้เขาได้ ถ้าธุรกิจคุณเซ็กซี่พอ มองว่า Investor จะเข้ามาเอง”
สำหรับ การขยายในอนาคต CEO & Co-Founder Great Indeed Co.,Ltd. มอง 2 ทาง คือ New Product และ New Market ไม่ใช่แค่ไปต่างประเทศแต่เป็น New Age ตอนนี้คนที่ซื้อ คือ คุณแม่ เพื่อไปใช้กับคุณลูก แต่ความจริงคุณแม่สามารถซื้อให้ตัวเองได้ ซื้อให้คุณพ่อคุณแม่ของเขาได้ หากมีสินค้าที่ซัพพอร์ตและทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ซึ่งมีสินค้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย เราพยายามโตในสินค้าประเภท Health & Beauty และไปในกลุ่ม Silver Age ต่อไป
สมุนไพรไทย ควรเป็นของคนไทย
ดำเกิง เล่าย้อน ความฝันตอนเรียนมหาวิทยาลัยว่าเคยไปนอนที่สวนสมุนไพรแห่งหนึ่ง และเจอคนญี่ปุ่นมากันเต็มไปหมด ตอนนั้นข้องใจว่าเขามาทำอะไร ผลปรากฎว่าเขามาเพื่อขุดสมุนไพรไทย เพื่อไปวิจัยและจดสิทธิบัตรสมุนไพรในประเทศไทยให้เป็นของเขา และหากใครจะใช้ต้องไปซื้อสิทธิจากเขา เราก็รู้สึกว่ามันเป็นของที่อยู่ในประเทศไทย เช่น กาวเครือขาว ก็เป็นสิทธิบัตรของต่างชาติ ความฝันตอนนั้นเราอยากจะทำให้สมุนไพรไทย เป็นสิทธิบัตรของเราใครจะใช้ต้องมาขอเรา
ปัจจุบัน ต่างชาติให้ความสนใจโดยเฉพาะสมุนไพรที่เป็นนวัตกรรม และต้องตอบ Pain Point สินค้าต้องมาจากปัญหาของลูกค้า มีความต้องการจริงๆ หากเปรียบสมุนไพรเช็ดตัวลดไข้ มันตอบโจทย์ เพราะเด็กทุกคนต้องไม่สบายและพ่อแม่ทุกคนจะมีโอกาสเจอปัญหา คือ เช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด
นับว่าสมุนไพรไทย เป็นกระแสที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่คนเริ่มใช้ฟ้าทะลายโจร และรู้ว่ามีประสิทธิภาพ เพียงแต่ว่า การเอาสมุนไพรมาใช้ ต้องบวกกับวิทยาศาสตร์ ต้องควบคุมคุณภาพ ปริมาณ สารสกัด ซึ่งด้วยภาพรวมของสมุนไพรไทยดีขึ้น การรับรู้ในมุมของผู้บริโภคดีขึ้น