สัญญาณเตือน “ใบหน้ากระตุกครึ่งซีก”...โรคที่คุณอาจเป็นได้
คงตกใจไม่น้อย หากอยู่ดีๆ ใบหน้าของเรามีความผิดปกติ เพราะหน้าตาถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทุกคนต่างดูแลให้ใบหน้าของตนเองดูดี ยิ่งมีอาการกระตุกของเปลือกตาและมุมปากเป็นๆหายๆ อาจจะสงสัยและกังวลว่าตัวเองเป็นอัมพาต หรือไม่?
KEY
POINTS
- โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 2 เท่า และเป็นโรคของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักเริ่มพบในวัยกลางคนช่วงอายุ 44-50 ปีขึ้นไป และพบในเด็กโตและผู้อายุต่ำกว่า 30 ปีประมาณ 1-6%
- เมื่อมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตา โดยมีการเกร็งกระตุกเป็นระยะและเป็นมากขึ้น จะมีการกระตุกที่มุมปากข้างเดียวกัน จนอาจทำให้มีลักษณะตาปิดร่วมกับมีปากเบี้ยวข้างเดียวกันเป็นพักๆ ได้ ควรรีบพบแพทย์
- แนวทางการรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก สามารถรักษาได้ทั้งการรับประทานยา โดยใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท การผ่าตัด และการฉีดยา Botulinum toxin type A ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี
คงตกใจไม่น้อย หากอยู่ดีๆ ใบหน้าของเรามีความผิดปกติ เพราะหน้าตาถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ทุกคนต่างดูแลให้ใบหน้าของตนเองดูดี ยิ่งมีอาการกระตุกของเปลือกตาและมุมปากเป็นๆหายๆ อาจจะสงสัยและกังวลว่าตัวเองเป็นอัมพาต หรือไม่?
แถมเมื่อเกิดอาการกระตุกเปลือกตา และมุมปาก หลายคนมักจะคุ้นเคยกับการไปฉีดโบท็อก มากกว่าจะไปพบแพทย์เฉพาะทางในการดูแล รักษา "โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก"
“โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก” คือ โรคทางระบบประสาทที่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของใบหน้าโดยเป็นครึ่งซีก เกิดจากการที่มีการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ถูกควบคุมโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เคลื่อนที่ผิดปกติไป มีลักษณะแบบเกร็งกระตุกเป็นระยะโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้แม้กระทั่งตอนนอนหลับก็คงยังกระตุกอยู่ อาจเป็นสาเหตุที่รบกวนการนอนหลับในผู้ป่วยบางราย
ทั้งนี้ โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก สามารถพบได้ทั่วโลกแต่พบได้น้อย และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า โดยมีรายงานเพศหญิงพบ 14.5 รายต่อประชากรหญิงหนึ่งแสนคน ส่วนเพศชายพบ 7.4 รายต่อประชากรชายหนึ่งแสนคน ทั่วไปเป็นโรคของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักเริ่มพบในวัยกลางคนช่วงอายุ 44-50 ปีขึ้นไป พบน้อยมากๆ ในเด็กเล็ก พบในเด็กโตและผู้อายุต่ำกว่า 30 ปีประมาณ 1-6%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"มะเร็งสตรี" รู้ก่อน รักษาไว มีโอกาสหาย ป้องกันได้ คุณภาพชีวิตดี
เช็กลักษณะอาการ สาเหตุเกิดโรค
พญ.ปิยวดี ชัยมงคลตระกูล แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทจักษุและกล้ามเนื้อตา โรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวถึงลักษณะของใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ว่า อาจเริ่มต้นกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาก่อน โดยมีการเกร็งกระตุกเป็นระยะ เมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น จะมีการกระตุกที่มุมปากข้างเดียวกัน จนอาจทำให้มีลักษณะตาปิดร่วมกับมีปากเบี้ยวข้างเดียวกันเป็นพักๆ ได้
โรคดังกล่าว จะมีการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง อาการกระตุกมักมาเป็นกลุ่มๆไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นจังหวะ หรืออาจมีการกระตุกแล้วเกร็งร่วมด้วยก็ได้ การกระตุกมักเป็นๆหายๆ เป็นเรื้อรัง ไม่หายขาด ผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินเสียงกึ๊กๆในหูขณะที่ใบหน้ากระตุก ซึ่งเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ
โดยสาเหตุของใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ที่สามารถพบได้ มีดังนี้
- อาจเกิดตามหลังจากประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบ (Bell’s palsy) หรือได้รับอุบัติเหตุ
- เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ถูกกดเบียดโดยเส้นเลือดที่อยู่ชิดกันบริเวณก้านสมอง
- เกิดจากเนื้องอกบริเวณก้านสมองไปกดทับประสาทสมองคู่ที่ 7 และ 8 ทำให้มีใบหน้ากระตุกร่วมกับการได้ยินลดลง
- โรคของปลอกหุ้มประสาทสมองส่วนกลางอักเสบ
- ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกนั้น ความจริงแล้ว ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดที่ทำให้เกิดโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก โรคนี้พบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ และพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้สูงขึ้นกว่าคนความดันโลหิตปกติ
ปัจจัยที่ทำให้ใบหน้าเกิดการการกระตุกมากขึ้นนั้น สามารถแบ่งออกเป็น เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- ภาวะความเครียดทางจิตใจ: เช่น ความเครียด ความกังวลมาก ความหงุดหงิด โมโห เป็นต้น
- ความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การยิ้ม การพูด การใช้สายตา มากเกินไป เป็นต้น
หากเกิดอาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก แต่อาการไม่รุนแรงและผู้ป่วยไม่กังวลใจ อาจไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความกังวลใจและมีอาการรุนแรง ซึ่งความรุนแรงนั้นขึ้นกับผู้ป่วยประเมินตนเอง เช่น ถ้าเป็นนานๆครั้ง หรือถ้ากระตุกแรงมาก เป็นต้น ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ รับการวินิจฉัย และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
รักษาโรคหายได้หรือไม่ มีวิธีอะไรบ้าง?
พญ.ปิยวดี กล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางการรักษาโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก สามารถรักษาได้ทั้งการรับประทานยา การผ่าตัด การฉีดยา ซึ่งแต่ละวิธีจะให้ผลที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- การรับประทานยา ใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น clonazepam เพื่อลดการกระตุก โดยพบว่ามีประสิทธิผลเพียง 30% แต่มักจะมีผลข้างเคียง เช่น ง่วงนอน อาจไม่สามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ปกติ
- การผ่าตัดเพื่อแยกส่วนของหลอดเลือดที่กดทับประสาทสมองคู่ที่ 7 ออกจากกัน ถือเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยง เนื่องจากอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น การได้ยินลดลง ปากเบี้ยว มีเลือดออกที่ก้านสมอง เป็นต้น
- การฉีดยา Botulinum toxin type A เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี โดยสารโบทูลินัมท็อกซินเป็นโปรตีนที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ในการสกัดกั้นกระแสไฟฟ้าจากปลายประสาทมากล้ามเนื้อ ทำให้การเกร็งกระตุกลดลงได้ชั่วคราวหลังจากฉีด โดยยาจะออกฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมาฉีดยาซ้ำทุก 3-4 เดือน ตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยา วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลดีและปลอดภัยได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการใบหน้ากระตุกอย่าพึ่งตกใจ และถ้ากังวลควรจะรีบพบแพทย์ เพื่อทำการแยกโรคก่อนเป็นลำดับแรก ว่าจัดอยู่ในกลุ่มโรคใด จะได้รักษาอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นโรคที่ไม่อันตรายร้ายแรง แต่อาจต้องใช้เวลาในการรักษาก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ สามารถปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการรักษาได้ที่ “ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง” โรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งในขณะนี้มีโปรแกรมตรวจสุขภาพตาสำหรับเด็ก และโปรแกรมตรวจสุขภาพตาสำหรับผู้ใหญ่
อ้างอิง: ศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลเจ้าพระยา , หาหมอ.com