"รพ.กรุงเทพ"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

"รพ.กรุงเทพ"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

“หุ่นยนต์ทางการแพทย์” เป็นเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นและพัฒนามายาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวิธีรักษาที่ทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง

KEY

POINTS

  • สถิติการผ่าตัดในโรงพยาบาลกรุงเทพ อยู่ที่  20-25 รายต่อวัน โดยเป็นการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ 1-2 รายต่อวัน หรือประมาณ 5-10% ของการผ่าตัด
  • ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” ช่วยให้มีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก ลดความเสี่ยง ลดความเจ็บปวด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัด
  • การเปิดศูนย์การผ่าตัด The da Vinci Xi  ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือโรงพยาบาลในเครือเท่านั้น แต่ผู้ป่วยทุกโรงพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาได้

หุ่นยนต์ทางการแพทย์” เป็นเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นและพัฒนามายาวนานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวิธีรักษาที่ทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง ก้าวพ้นความบกพร่องของอดีตที่ผ่านมาด้วยการใช้สมองกลอันชาญฉลาดในการสั่งงานหุ่นยนต์ให้ทำงานตามวัตถุประสงค์การใช้งานของทีมแพทย์ เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟู ช่วยเหลือการเจริญเติบโตของวัยเด็กจนไปถึงการช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ

รวมถึงการผ่าตัดที่ครอบคลุมถึงความสามารถในการทำงานร่วมด้วยกับทางทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการทำการผ่าตัดทางไกลซึ่งสามารถควบคุมวิธีการรักษาต่างสถานที่ได้ ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนต่างมีการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา ดูแลผู้ป่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ดูแล 'อายุครรภ์' สำคัญกว่าสิ่งไหน ในวันที่คุณแม่ แก่เกินอุ้มท้อง

โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดตัว 'Precision Medicine : การแพทย์แม่นยำ'

“รพ.กรุงเทพ” ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ 5-10%

วันนี้ (20 มิ.ย.2567) โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เปิด “ศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” หนึ่งในเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่าก้องแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery:MIS) เป็นการผ่าตัดที่แม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วยผ่าตัด เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าสถิติการผ่าตัดในโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น จะอยู่ที่  20-25 รายต่อวัน โดยในจำนวนดังกล่าวจะมีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ 1-2 รายต่อวัน หรือประมาณ 5-10% ของการผ่าตัด ซึ่งจำนวนตัวเลขดังกล่าวอาจจะยังไม่มาก เนื่องจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะใช้ในการผ่าตัดที่มีความยากและซับซ้อน ต้องการเทคนิคขั้นสูง  เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต ส่วนการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง จะใช้การเทคนิคการผ่าตัดเดิม

\"รพ.กรุงเทพ\"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

 

“โรงพยาบาลกรุงเทพ มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดเมื่อประมาณ 10 กว่าปี โดยหุ่นยนต์รุ่นแรก จะเป็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ปี2000  ซึ่งจะใช้ในการผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดต่อมลูกหมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีรุ่นแรกมีข้อจำกัด และเราก็หยุดใช้ไปช่วงหนึ่งจนกระทั่งหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” รุ่นใหม่ มาใช้ประมาณเดือนต.ค.2566 และเรามีทีมแพทย์ผ่าตัดที่เชี่ยวชาญในหลายสาขา หลายโรคที่สามารถใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดได้”นพ.เอกกิตติ์ กล่าว

เปิดศูนย์การผ่าตัด“The da Vinci Xi”

“หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi)” เป็นระบบที่พัฒนาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการใช้งานตั้งแต่ปี 2000 มีการผ่าตัดด้วยเครื่องดังกล่าวมากกว่า 10ล้านครั้งทั่วโลก ทั้งนี้ ในรพ.กรุงเทพ ขณะนี้มีเครื่องเดียว ซึ่งราคารวมภาษีเกินกว่า 100 ล้านบาท

“โรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลชั้นนำด้านหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงได้ลงทุนกว่า 200 ล้านบาทในการเปิดศูนย์การผ่าตัด“The da Vinci Xi” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi” ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ รักษาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก ช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยระหว่างการรักษา ลดความเจ็บปวด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังการผ่าตัด” นพ.เอกกิตติ์ กล่าว

\"รพ.กรุงเทพ\"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

นพ.เอกกิตติ์ กล่าวต่อว่ารพ.กรุงเทพ ได้มีการนำระบบหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วย มากกว่า 200 ราย พบว่ามีข้อดีในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง ระยะเวลาการฟื้นตัวสั้นลง ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลง และอัตราการกลับเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ลดลง

นอกจากนั้น ยังช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้ประณีตละเอียดขึ้นในหลายโรค โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน อาทิ โรคที่เกี่ยวกับทรวงอก โรคที่เกี่ยวกับระบบช่องท้อง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมไธมัส มะเร็งปอด มะเร็งตับ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับนรีเวช  ภาวะก้อนที่รังไข่ ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือการผ่าตัดเพื่อรักษาการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในผู้ป่วยมะเร็งปอด  หุ่นยนต์ช่วยให้การผ่าตัดไม่กระทบหรือทำลายเส้นประสาท ส่งผลให้การรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีส่วนต่าง และค่าอุปกรณ์หุ่นยนต์ ต้นทุนประมาณ 1-2 แสนบาท สำหรับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จากสถิติจะเป็นใช้ในการผ่าตัดในช่องท้อง การผ่าตัดถุงน้ำดี ขณะนี้ ทุกประเทศที่มีความเจริญทางการแพทย์ได้มีการนำหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาใช้จำนวนมาก ซึ่งในกลุ่มอาเซียนนั้น  สิงคโปร์ มีการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเทียบเท่ากับประเทศไทย มีประมาณ 10 กว่าเครื่อง รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเป็นการผ่าตัดเฉพาะโรค เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมีจำกัด ส่วนประเทศไทย รพ.กรุงเทพมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเรามีทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ หุ่นยนต์การผ่าตัด และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”นพ.เอกกิตติ์ กล่าว

\"รพ.กรุงเทพ\"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

ตั้งเป้าเพิ่มการผ่าตัด 500-1000 คนต่อปี

ปัจจุบัน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ สามารถช่วยผู้ป่วยได้เดือนละ 30 กว่าราย ซึ่งในแต่ละวัน สามารถผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ได้มากสุดเพียง 3 ราย  แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่อาจจะได้เพียง 1-2 รายเท่านั้น

“การเปิดศูนย์การผ่าตัด The da Vinci Xi  เราไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือโรงพยาบาลในเครือเท่านั้น แต่ผู้ป่วยทุกโรงพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาได้ หากแพทย์ประจำตัวได้ส่งผู้ป่วยมาปรึกษา ก็จะเปิดกว้างให้มาปรึกษากับทีมแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพราะเราต้องการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด และอยากทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”  นพ.เอกกิตติ์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งเป้าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ประมาณ 500-1,000 คน รองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการลงทุนในการเปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ สอดคล้องกับวิจัยทัศน์ และแผนงานระยะเวลา 5 ปี ในการขยายขีดความสามารถในการผ่าจัดด้วยหุ่นยนต์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ศัลยกรรมหู คอ จมูก ควบคู่กับการลงทุนด้วยพัฒนาทักษะ การศึกษาและอบรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการเพิ่มสิทธิการรักษาให้แก่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม รวมถึงประกันสุขภาพต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้

\"รพ.กรุงเทพ\"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”

\"รพ.กรุงเทพ\"ทุ่ม 200 ล้าน เปิดศูนย์การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ “The da Vinci Xi”