ปิดช่องว่าง ‘คัดกรองมะเร็งปอด’ ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ รู้เร็วรักษาทัน
เครือ BDMS นำร่อง รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ จับมือ แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ร่วมกัน ปิดช่องว่างและเติมเต็มศักยภาพเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจาก 'โรคมะเร็งปอด' ด้วยเทคโนโลยี AI เนื่องใน 'วันมะเร็งโลก' World Cancer Awareness Month 2024: Close the Care Gap
Key Point :
- อดีตเรารู้กันดีว่า 'บุหรี่' เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเป็น 'มะเร็งปอด' แต่ปัจุจบันพบว่า คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้จากมลภาวะ PM2.5
- การคัดกรองมะเร็งปอด ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษา และโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
- รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ จับมือ แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) มุ่งใช้เทคโนโลยี AI ปิดช่องว่างในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปอด
โรคมะเร็ง เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งใน 48 ประเทศ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ขณะเดียวกัน 1 ใน 5 ของช่วงชีวิตคนมีโอกาสเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 10 มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
คนไทยราว 1 ใน 6 มีโอกาสเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 10 มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเช่นกัน ดังนั้น โรคมะเร็งนับเป็นเรื่องใกล้ตัว ในแต่ละปีเรามีผู้ป่วยมะเร็ง 1.9 แสนคน เสียชีวิต 1.2 แสนคน หรือ 1 ชั่วโมงมีผู้เสียชีวิต 14 คน
มะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้
‘มะเร็งปอด’ พบมากเป็นอันดับ 2 ของไทย สาเหตุไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่เท่านั้น แต่มลภาวะ PM2.5 ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 2.3 หมื่นคน เสียชีวิตราว 1.9 หมื่นคน หรือกว่า 90%
ดังนั้น การที่จะรักษามะเร็งปอดได้อย่างรวดเร็ว คือ การคัดกรอง อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์ปอดทั่วไป ยังไม่สามารถตรวจพบมะเร็งในระยะแรกได้ ทำให้ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีการเอกซเรย์ 3 มิติ รวมถึง AI เข้ามาช่วยเพราะให้ค้นหามะเร็งได้เร็วขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘มะเร็งปอด’ มีโอกาสพบใน ‘ผู้หญิง’ มากกว่าผู้ชาย แม้ไม่เคยสูบบุหรี่
- 5 เรื่องน่ารู้ ตอบทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับการผ่าตัด 'ปอด'
- 'มะเร็ง' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน 'มะเร็งปอด' คัดกรองไว รักษาทัน
AI ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
4 กุมภาพันธ์ เนื่องใน ‘วันมะเร็งโลก’ หรือ World Cancer Day ซึ่งในปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญกับการ 'Close the care gap' หรือ การปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการ 'Collaboration towards excellence in lung cancer' นำร่องที่ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มุ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาเสริมการปิดช่องว่างในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปอด
รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคประชาชนในการประเมินความเสี่ยงและเข้ารับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อร่วมรณรงค์ไปกับแคมเปญ Close the care gap ขององค์การอนามัยโลก (WHO) วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2567
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันเราพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็นอย่างมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่ และมีภัยคุกคามต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น ฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR หรือ KRAS และในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรองในมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่
ดังนั้น การที่จะปิดช่องว่างหรือ Close the care gap ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเสริม เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. มาช่วยในการวินิจฉัยภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอกในผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และโรงพยาบาลนำชุดตรวจหาสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในร่างกายจากเลือด (Circulating Tumor DNA : ctDNA)
โดยใช้เทคโนโลยี Next-Generation Sequencing ที่สามารถตรวจหามะเร็งหลายชนิดพร้อมกัน เพื่อค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงระยะเริ่มต้น ซึ่งช่วยเสริมการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า รพ.กรุงเทพ เน้นในเรื่องของการปิดช่องว่างการรักษา เพื่อให้คนมีโอกาสรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยการแพทย์แม่นยำ โดยมีการนำมาใช้ทุกภาคส่วน รวมถึง โรคมะเร็ง โดย 3 เสาหลัก ในการรักษาโรคมะเร็ง คือ
- การใช้ยาเคมีบำบัด ใช้การตรวจยีน สามารถรักษาเฉพาะบุคคล
- การผ่าตัด แม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย
- ฉายแสง ไปตรงจุดที่ต้องการ
สาเหตุมะเร็งปอด
นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ อธิบายว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด แบ่งเป็น ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน แต่ปัจจุบัน สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ปัจจัยภายนอก
"อดีตมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการสูบบุหรี่ ชัดเจนว่าบุหรี่เป็นภัยอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ช่วง 10-20 ปีหลัง มีการตรวจ วิจัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับมลภาวะ PM2.5 พบว่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่"
การคัดกรอง
นพ.ผดุงเกียรติ อธิบายต่อไปว่า การตรวจคัดกรองในปัจจุบัน การตรวจเอกซเรย์ปอด ไม่ได้ช่วยให้เราเจอมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นได้เร็วขึ้น และไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ดังนั้น จึงมีงานวิจัยเพิ่มขึ้นมาว่า หากตรวจคัดกรองคนไข้ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สร้างภาพ 3 มิติ ช่วยให้เจอมะเร็งปอดได้เร็วขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิต
สำหรับในกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ที่ได้รับมลภาวะ และมียีนที่ผิดปกติสูงกว่าทางยุโรป พบว่า ทำให้เจอมะเร็งปอด ง่ายขึ้น เร็วขึ้น กลุ่มนี้ต้องได้รับการคัดกรองเป็นพิเศษ ปัจจุบัน มีงานวิจัยที่ไต้หวัน ที่มีกลุ่มประชากรใกล้เคียงกับไทย พบว่า คนไข้ที่ไม่สูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าประชากรทางยุโรป สหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมา คนไข้มะเร็งปอดของ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มากกว่า 20% มีอายุน้อยกว่า 40 ปี สาเหตุจากยีน มลภาวะ ทำให้เจอมะเร็งปอดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ เกินครึ่งเป็นคนไข้มะเร็งปอดระยะที่ 1 ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลทั่วโลก จะพบว่า คนไข้มะเร็งปอดเกินครึ่ง จะพบว่าเป็นระยะที่ 4 ดังนั้น เป็นตัวอย่างที่ว่า หากคัดกรองคนไข้อย่างเหมาะสม ได้รับการรักษา จะทำให้หายขาดจากมะเร็งปอดได้
การรักษามะเร็งปอด
ระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง ให้ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด เคมีบำบัด หรือ อาจจะมีฉายแสง โอกาสหายขาดน้อย
ระยะที่ 2-3 มีการลามไปยังอวัยวะภายในช่องอก ต่อมน้ำเหลือง จะมีการให้ยา ฉายแสง ซึ่งยังหวังผลหายขายได้ อย่างไรก็ตาม คนไข้ต้องได้รับการรักษา และ ผลข้างเคียง ซึ่งกินระยะเวลายาวนานจากการให้ยาและฉายแสง
ระยะที่ 1 รักษาด้วยการผ่าตัด ไม่ต้องให้ยา ไม่ต้องฉายแสง
“ปัจจุบัน เรามีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว ระยะเวลาเฉลี่ยที่นอน รพ. คือ 2-3 คืน หลังจากนั้นคนไข้จะเริ่มพักฟื้น ทานอาหาร และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ คนไข้จะฟื้นตัวได้เร็วหากมีการผ่าตัดที่เหมาะสม” นพ.ผดุงเกียรติ กล่าว
ลดอัตราการเสียชีวิต ผู้ป่วยมะเร็งปอด
โรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรคมะเร็ง หากรู้เร็ว สามารถรักษาได้ โรคมะเร็ง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลา 40 ปี เราพร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมคนไทยหันมาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมากขึ้น
ทั้งนี้ ในฐานะบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก เรามุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด ล่าสุดกับการนำเสนอการใช้เทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ปอด เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบเงาของก้อนเนื้อในปอดซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยากภายในระยะเวลา 3 นาที ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งปอดได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาของโรงพยาบาลที่ครบครัน แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในสมาชิกของ The Lung Ambition Alliance (LAA) เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติ 4 องค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อร่วมกันสานต่อเป้าหมายในการเพิ่ม ‘อัตราการรอดชีวิต 5 ปี’ ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดให้เป็น 2 เท่า ภายใน พ.ศ. 2568 พร้อมศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
พญ.เมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กว่า 10 ปีของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรามุ่งมั่นให้การบริการทางด้านสุขภาพและศูนย์แห่งความเป็นเลิศในโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง รองรับผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งการร่วมมือกับ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพของโรงพยาบาล ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการทางคลินิกวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสถาบันมะเร็งระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงการถ่ายทอดนวัตกรรม และความเชี่ยวชาญขั้นสูงให้แก่ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multi-disciplinary team – MDT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกับแนวทางการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ส่งเสริมให้โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิกในอนาคต
ความร่วมมือของทั้งสององค์กรในครั้งนี้ จะช่วยปิดช่องว่างการตรวจวินิจฉัย และดูแลเติมเต็มทุกการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง Close the Care Gap ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนคนไทยและทุกเชื้อชาติ ห่างไกลจากโรคมะเร็ง และข้ามผ่านการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น