เปิดเหตุผลทำไม 'คนจีนคลั่งรักทุเรียน' ปีที่แล้วนำเข้ากว่า 2 แสนล้านบาท
สื่อจีนรายงานที่มาที่ไปทำไม 'คนจีน' ถึงคลั่งไคล้ 'ทุเรียน' มีการนำเข้าทุเรียนสดเกือบ 2.3 แสนล้านบาท และทำให้ 95% ของการค้าทุเรียนทั่วโลกในวันนี้ล้วนส่งออกไปยังจีน
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า หลายปีที่ผ่านมา คีย์เวิร์ด "จีน" และ "ทุเรียน" กลายเป็นหัวข้อยอดฮิตที่ได้รับความสนใจจากทั้งเกษตรกร ผู้ค้าผลไม้ และประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงนำไปสู่การรายงานเชิงวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบจากหลายแง่มุมว่า "ทำไมคนจีนถึงชื่นชอบการกินทุเรียน" และ "จำนวนผู้บริโภคทุเรียนในจีนจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่"
ข้อมูลศุลกากรจีนชี้ว่าความชื่นชอบทุเรียนในจีนนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 ยอดการนำเข้าทุเรียนสดของจีนแตะที่ 604,700 ตัน แซงหน้า "เชอร์รี" และขึ้นแท่นเป็นผลไม้นำเข้ายอดนิยมของจีน และเมื่อเทียบกับปี 2017 มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.88 หมื่นล้านบาท) มาอยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.48 หมื่นล้านบาท)
ปี 2023 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดกว่า 1.42 ล้านตัน มูลค่ารวม 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.29 แสนล้านบาท) รายงานภาพรวมการค้าทุเรียนโลก ประจำปี 2023 ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า 95% ของทุเรียนที่มีการซื้อขายในทั่วโลกนั้นถูกส่งขายให้แก่จีน จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลก
คนจีนคลั่งรักทุเรียนมากแค่ไหน?
รายงานว่าด้วยการบริโภคทุเรียนของเจดีดอทคอม (JD.Com) บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนระบุว่าตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา การซื้อทุเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทของจีน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 7.7 เท่า
หากมองในแง่ของ "กลุ่มอายุ" ผู้บริโภคที่เกิดหลังปี 90 (ปี 1990-1999) เป็นกลุ่มผู้ซื้อทุเรียนออนไลน์กลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะครองสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด ในจำนวนนี้ผู้หญิงจีนที่เกิดหลังปี 90 ซื้อทุเรียนในสัดส่วนมากถึง 30% ของทุเรียนทั่วประเทศ
ข้อมูลจากศุลกากรจีนทำให้ทราบว่าช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 จีนนำเข้าทุเรียนสดแล้ว 1.48 ล้านตัน ซึ่งทะลุปริมาณนำเข้ารวมของทั้งปี 2023 เห็นได้ชัดว่าความนิยมกินทุเรียนของคนจีนมีแต่เพิ่มไม่มีแผ่ว และจากการสำรวจของนักข่าวจีนพบว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนจีนตกหลุมรักผลไม้ชนิดนี้มีหลายด้านดังนี้
1. รสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวที่กระตุ้นความอยากลอง
เฉินหัวเฉียง ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการการค้าผลไม้มายาวนาน กล่าวว่าทุเรียนมีรสชาติที่นุ่มลิ้นและหวานมัน แต่ด้วยกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างแรงทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะลิ้มลอง ต่อมาในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์จากสิงคโปร์พบว่ากลิ่นฉุนของทุเรียนเกิดจากสารประกอบซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ที่ระเหยได้ง่าย ทำให้บางคนรู้สึกว่าทุเรียนมีกลิ่นคล้ายกำมะถัน
"แต่กลิ่นที่แรงนี้เองที่ทำให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่ดูท้าทายและกระตุ้นความสนใจของผู้คน" เฉินกล่าวพร้อมเสริมว่า แม้กลิ่นจะไม่หอมชวนดม แต่เนื้อทุเรียนกลับเนียนนุ่มเหมือนครีมหรือไอศกรีม ความคอนทราสต์อย่างชัดเจนนี้เองที่ทำให้คนจีนติดใจชนิดวางไม่ลง
2. คุณค่าทางโภชนาการไม่ธรรมดา
ฟู่เสี่ยวหยวน นักโภชนาการจากปักกิ่ง กล่าวว่าทุเรียนมีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด ทั้งยังอุดมด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ แม้ว่าทุเรียนจะมีแคลอรีและไขมันสูงแต่ก็มีใยอาหารและโปรตีนมาก ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี ทุเรียนยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียม กรดโฟลิก และวิตามินซี ซึ่งช่วยบำรุงหัวใจ และเป็นสารอาหารที่ดีสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณค่าทางโภชนาการจึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบทุเรียน
3. กินแบบไหนก็อร่อยถูกใจ 'วัยรุ่นจีน'
คนจีนไม่ได้กินแค่ทุเรียนสดเท่านั้น แต่ยังชอบกินผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทุเรียนด้วย เช่น ทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง รวมถึงของหวานและเมนูอาหารต่างๆ เช่น ไอศกรีมทุเรียน เค้กทุเรียน พิซซ่าทุเรียน และ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียน เป็นต้น ความหลากหลายของสินค้าจากทุเรียนตอบโจทย์ความต้องการด้านรสชาติที่แตกต่างกัน และยังทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีโอกาสสัมผัสทุเรียนมากขึ้น
พิซซ่าฮัท (Pizza Hut) ระบุว่าสามไตรมาสแรกของปี 2024 "พิซซ่าหน้าทุเรียน" ยังคงครองแชมป์ในตลาดพิซซ่าด้วยยอดขาย 30 ล้านชิ้น และเมนูใหม่อย่าง "ชีสเบอร์เกอร์เนื้อวัวใส่สับปะรดและทุเรียนหมอนทอง" ก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามและขายหมดอย่างรวดเร็ว
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไอเดียการตลาดของผลิตภัณฑ์ทุเรียนมีความสร้างสรรค์มากขึ้น มีคำศัพท์ใหม่ๆ ที่สะพัดไปบนโลกออนไลน์จีน เช่น "เสรีภาพทุเรียน" "กล่องสุ่มทุเรียน" (หมายถึงซื้อทุเรียนทั้งลูกมาปอกเองโดยที่ไม่รู้ว่าด้านในเนื้อเยอะหรือไม่) "ทุเรียนกตัญญู" (คำเรียกทุเรียนที่ปอกแล้วเจอเนื้อเยอะ) "ทุเรียนเนรคุณ" (คำเรียกทุเรียนที่ปอกแล้วเจอเนื้อน้อยหรือไม่มีเนื้อ) คำศัพท์ใหม่ๆ ที่เป็นกระแสเหล่านี้ต่างดึงดูดคนหนุ่มสาวในจีนให้อยากลิ้มลองทุเรียนมากขึ้น
4. การเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นของประชากรจีน เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันความนิยมของทุเรียน ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ปี 2023 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวจีนอยู่ที่ 26,796 หยวน (ราว 1.25 แสนบาท) หลังหักปัจจัยด้านราคาแล้ว พบว่าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 82.1% จากปี 2012 ขณะที่อัตราการเติบโตแท้จริงเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2013-2023 อยู่ที่ 5.6%
โจวชิงเจี๋ย ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและธุรกิจปักกิ่ง (BTBU) กล่าวว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคชาวจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความตระหนักรู้ด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน ชาวจีนจึงต้องการผลไม้ที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น ผลไม้นำเข้าอย่างเช่น "กีวีนิวซีแลนด์ ทุเรียนไทย และเชอร์รี่ชิลี" ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเนื่องจากมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ การดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการปรับใช้นโยบายต่างๆ เช่น อัตราภาษีต่ำ การตรวจสอบและกักกันอย่างรวดเร็ว ก็เปิดทางให้ผลไม้ต่างประเทศเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ
5. ทุเรียนกับมิติทางวัฒนธรรม
นักวิชาการบางคนเชื่อว่าความนิยมทุเรียนของคนจีนอาจมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยเจิ้งเหอ ผู้บัญชาการทหารเรือในยุคราชวงศ์หมิงที่เดินเรือมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อกว่า 600 ปีก่อน และนำทุเรียนกลับไปถวายแด่ราชสำนักจีน เรื่องราวนี้จึงยิ่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผลไม้ที่ล้ำค่าของทุเรียน นอกจากนี้จีนยังพบบันทึกที่กล่าวถึงทุเรียนในเอกสารโบราณ ซึ่งได้มอบนัยสำคัญทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นแก่ราชาผลไม้ชนิดนี้
ผู้เชี่ยวชาญในวงการบางรายยังมองว่า ช่วงแรกที่ทุเรียนกลายเป็นกระแสนิยมในจีนมีความเกี่ยวข้องกับ "อิทธิพลของคนดัง" เนื่องจากทุเรียนมักปรากฏอยู่ในซีรีส์ ภาพยนตร์ และวรรณกรรม ซึ่งมักเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของ "ความหรูหรา" และ "ความมั่งคั่ง" ซึ่งสะกิดความสนใจของชาวจีนและทำให้อยากเลียนแบบตามกระแสนิยม