ยกระดับ 'การแพทย์-สุขภาพ' ดึง Medical Tourism ดัน Medical Hub

ยกระดับ 'การแพทย์-สุขภาพ' ดึง Medical Tourism ดัน Medical Hub

ในปี 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี

KEY

POINTS

  • ในปี 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี
  • ไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่กำลังแพร่หลายโดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19
  • อีกทั้ง ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก

 

รายงานวิจัยของ McKinsey ระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนคาดว่าจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพถึง 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมทั้ง ความต้องการในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของประชากรที่มากขึ้น

 

ส่งผลให้เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีการวินิจฉัย แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัล รวมถึงการบริการทางการแพทย์เข้าถึงทุกภาคส่วน เมื่อปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ตลาดเครื่องมือแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในอาเซียนมีการเติบโตที่ยั่งยืนและส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนหลายล้านคน

 

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า ในปี 2566-2568 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี จากปัจจัยหนุนหลายด้าน อาทิ อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเกิดโรคอุบัติใหม่ การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

 

ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่กำลังแพร่หลายโดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 รวมถึงความต้องการเครื่องมือ/อุปกรณ์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญของไทย และที่สำคัญ คือ นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ปัจจัยข้างต้น สะท้อนโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

การแพทย์ สุขภาพ อุตฯ ศักยภาพสูง

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการภาคธุรกิจต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมของไทยสู่เวทีโลก

 

“กันยารัตน์ กุยสุวรรณ” รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว จัดงาน “Medlab Asia &Asia Health 2024” โดยระบุว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและดึงดูดนักลงทุน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ และมาตรฐานการบริการในราคาที่เหมาะสม การพัฒนานี้สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพได้

 

สำหรับ Medical Hub เป็นนโยบายหลักของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์มูลค่าสูง เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยทั้งในภาคบริการ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ

 

ยุทธศาสตร์การทำงานในเรื่องของ Medical Hub ของ กรม สบส. เรามีกลไกในการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้ง Medical , Wellness , Service และ Academic การส่งเสริมการพัฒนา วิจัย นวัตกรรม นิทรรศการ อุตสาหกรรมไมซ์ จะนำเม็ดเงินให้กับประเทศ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดบุคลากรที่เข้ามารองรับในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะภาคบริการ นักวิชาการ นักวิจัย ที่จะสร้างนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม จะเกิดไม่ได้หากขาดนิเวศ

 

 

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ สร้างนิเวศ ที่จะทำให้เกิดส่งเสริมการแพทย์ครบวงจรในอีโคซิสเต็ม ประกอบด้วย กฎหมาย กฎระเบียบ โดยลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าไปแข่งขันกับต่างชาติ ส่งเสริมการค้าการลงทุน เจรจาการค้า การทำข้อตกลงทางการค้า และการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยอยู่ระหว่างการสร้างเมืองนวัตกรรมทางการแพทย์และ Wellness โดยขณะนี้มีต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างการจ้างงาน เพื่อให้ภาพอุตสาหกรรมโต ขับเคลื่อน GDP

 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การประชาสัมพันธ์ และ การตลาด ไม่ใช่แค่การจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ แต่ต้องทำให้เกิดการรับรู้ ภาพลักษณ์ของไทย ว่าเป็น Destination of Wellness ซึ่งมีกว่า 11 อุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ Wellness สร้างเม็ดเงินให้ไทย ไม่ว่าจะภาคบริการ ผู้สูงอายุ สินค้าสมุนไพร ความงาม อาหาร ระบบการดูแลระยะยาว (Long–term care) ฯลฯ รวมถึง น้ำพุร้อน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่สินค้าในอุตสาหกรรม Wellness & Spa ได้ โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างการร่างใหม่ และเข้าพิจารณาบอร์ด Medical Hub ในช่วงเดือนหน้า

 

วีซ่า ใหม่ นทท.สุขภาพ

กันยารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบการเดินทางผ่านวีซ่า Medical Tourism และ Wellness Tourism ไม่ป่วยแต่มาอยู่ระยะยาว และวีซ่าใหม่ รหัส Non-MT ที่กำลังจะเปิดตัวในเดือน ส.ค. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย จากเดิมที่มีกำหนดบางประเทศที่มุ่งเป้า อยู่ได้ 90 วัน

 

ขยายครอบคลุมได้ทุกประเทศทั่วโลก สามารถอยู่ 1 ปี เดินทางเข้าออกได้หลายครั้ง รวมถึงผู้ติดตาม 3 คน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ โดยจะมีการเปิดตัวในปีงบประมาณนี้ หลังจากนั้นจะมีระบบอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยร่วมกับ รพ.เอกชน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย

 

“นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการเจรจาในประเทศทางตะวันออกกลาง ในการจัดทำ MOU โดยให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้สวัสดิการจากประเทศต้นทาง เพื่อใช้บริการใน รพ.เอกชน ลดหนี้ศูนย์ ส่งเสริม Wellness Tourism สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยโดยผนวกกับ Wellness ให้การบริการลงสู่ฐานรากชุมชน พร้อมกับการจัดประกวด TIWA (Thailand Wellness Awards) เพื่อให้เกิดมาตรฐานสถานประกอบการชุมชนและผลิตภัณฑ์ ยกระดับ Wellness อย่างแท้จริง โดยทางกรม สบส. ร่วมกับหน่วยงานหลักด้านสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการส่งเสริมการตลาด”

 

โปแลนด์ ขยายตลาด “เครื่องมือแพทย์” ในเอเชีย

ปัญกร ญาณวัจนกรณ์ Business Development Manager, Polish Investment and Trade Agencyในฐานะองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนรัฐบาลโปแลนด์ จากกระทรวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโปแลนด์ กล่าวว่า โปแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รายใหญ่ของยุโรป โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 15% ของมูลค่าตลาดรวม และรายได้กว่า 60% มาจากการส่งออก

 

โดยประเทศคู่ค้าสำคัญที่นำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของโปแลนด์ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร โดยโปแลนด์กำลังขยายตลาดเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มประเทศในเอเชีย และมองหาโอกาสการต่อยอดธุรกิจ

 

ทั้งนี้ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของโปแลนด์ ถือว่ามีชื่อเสียงในด้านคุณภาพสูง อัตราความผิดพลาดต่ำ ค่าการดำเนินงานและค่าชิ้นส่วนอะไหล่ต่ำ มีความทนทานสูง สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายอื่นได้ง่าย และมีราคาที่คุ้มค่ากับคุณภาพที่ดีเยี่ยม มีจุดเด่นในด้านการบริการทางแพทย์ทางไกล การวินิจฉัยสมัยใหม่ ระบบติดตามสุขภาพเคลื่อนที่ การพิมพ์ 3 มิติ หุ่นยนต์ทางการแพทย์และ AI เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียในวงกว้าง