ความเชื่อ "โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน" ที่วัยทำงานควรรู้

ความเชื่อ "โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน" ที่วัยทำงานควรรู้

คนส่วนใหญ่ต่างรู้จัก "โรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อน" อยู่แล้ว โดยเฉพาะวัยทำงานที่สามารถพบโรคดังกล่าวได้บ่อยมาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็น ความเครียดจากการทำงาน การทำงานเลิกดึก

KEY

POINTS

  • การใช้ชีวิตของวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ความเครียดจากการทำงาน การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ล้วนส่งผลให้เป็นวัยที่เสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อนมากที่สุด
  • กินอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด ไม่ได้ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหาร เช่นเดียวกับการกินรสจืด ไม่ได้ช่วยบรรเทาโรคกรดไหลย้อน
  • พฤติกรรมส่วนตัว อาหารการกิน และการนอน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อนทั้งสิ้น

 

คนส่วนใหญ่ต่างรู้จัก "โรคกระเพาะอาหาร และ กรดไหลย้อน" อยู่แล้ว โดยเฉพาะวัยทำงานที่สามารถพบโรคดังกล่าวได้บ่อยมาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็น ความเครียดจากการทำงาน การทำงานเลิกดึก ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการพักผ่อนน้อย และทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา

"กรดไหลย้อน" หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease)โรคนี้เกิดจากการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร หากปล่อยจนเรื้อรังจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อหลอดอาหารในระยะยาวได้ เช่น หลอดอาหารตีบ หรือมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ

แต่หลักๆ แล้วเกิดจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร (Esophageal Sphincter) ที่มีภาวะคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้กรดสามารถไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่  อาหารและยาบางชนิด ภาวะน้ำหนักเกิน และความเครียด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“เครียดลงกระเพาะ” โรคฮิตที่อย่ามองข้ามความเครียด จุดเริ่มต้นของโรคร้าย

'กรดไหลย้อน' โรคใกล้ตัวที่ใครก็เป็นได้ กินแล้วนอน เสี่ยง 2 เท่า

ความเชื่อ โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน 

ในโลกโซเชียลมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร และกรดไหลย้อน ซึ่งมีทั้งความเชื่อที่เป็นจริง และความเชื่อแปลกๆ ที่ส่งต่อกัน จนทำให้หลายๆ คนสับสนว่า ความเชื่อไหนถูก บางอย่างก็น่าจะเป็นไปได้ แต่บางอย่างก็น่าสงสัย

วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับที่จะมาช่วยคลายข้อสงสัยให้เคลียร์ ๆ เริ่มด้วย 

1. กินเผ็ด ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง เพราะสารที่ทำให้รู้สึกเผ็ดในพริกอย่าง Capsaicin ที่ทำให้เรารู้สึกแสบร้อนเวลาเคี้ยว แม้จะสามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเฉพาะที่ได้ แต่ไม่ได้มีผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้เกิดเป็นหลุมแผล ให้นึกถึงเวลาที่เรารู้สึกแสบร้อนที่ปากจากการเคี้ยวพริก นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า อาการระคายเคือง เมื่อพริกลงไปในกระเพาะอาหารก็อาจรู้สึกแสบร้อนในท้องเนื่องมาจากการระคายเคืองเช่นกัน แต่ไม่ได้มีแผลที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

2. อาหารรสเปรี้ยวจัด หวานจัด ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง ด้วยเหตุผลเดียวกันกับการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด เพราะอาหารรสเปรี้ยวจัดนั้น อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารแต่อย่างใดเช่นกัน ส่วนอาหารรสหวานจัดนั้น อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้บ้าง ซึ่งจะส่งผลให้อาการของคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคกรดไหลย้อนอยู่แล้ว มีอาการที่แย่ลงได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

ความเชื่อ \"โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน\" ที่วัยทำงานควรรู้

จริงหรือไม่? เป็นกรดไหลย้อนห้ามออกกำลังกายหลังกินข้าว

3. กินข้าวไม่ตรงเวลา ทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่?

คำตอบคือ มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคจริง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว กระเพาะอาหารของคนเราจะมีการหลั่งกรดออกมาเป็นเวลา หากถึงเวลาของมื้ออาหารแล้ว แต่เรายังไม่ได้รับประทานอะไรเข้าไป ไม่มีอาหารลงถึงท้อง ภายในกระเพาะอาหารของเราก็จะมีปริมาณของกรดที่มากเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นอาการของโรคกระเพาะอาหาร รวมถึงกรดไหลย้อนได้

นอกจากนี้ การกินข้าวไม่ตรงเวลา เป็นพฤติกรรมที่สร้างความเครียดให้กับร่างกายโดยไม่รู้ตัว ทำให้กระตุ้นอาการของโรคมากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญ มีงานวิจัยพบว่า คนที่กินข้าวไม่ตรงเวลา จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori ได้ง่ายกว่าคนที่กินข้าวเป็นเวลา ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้เป็นศัตรูตัวร้ายของกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

4. ถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อน ห้ามออกกำลังกายหลังกินข้าว จริงหรือไม่?

คำตอบคือ เป็นจริงได้ ในกรณีที่เป็นการออกกำลังกายที่ใช้แรงเยอะ เช่น เวทเทรนนิ่ง ที่จะเพิ่มความดันในช่องท้อง อาจทำให้อาเจียน และทำให้อาการของโรคกรดไหลย้อนแย่ลงได้

5. ความเครียดทำให้เป็นโรคกระเพาะ หรือที่เรียกว่าเครียดลงกระเพาะ จริงหรือไม่?

คำตอบคือ จริง ร่างกายของเรานั้น มักจะสะสมความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับหรือการต้องออกไปเบียดเสียดกับผู้คน การเจอกับรถติด เป็นต้น และความเครียดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเมื่อร่างกายมีความเครียดสะสมสูง จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายถูกกระตุ้น ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารถูกหลั่งออกมามากกว่าปกติ เป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้

ความเชื่อ \"โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน\" ที่วัยทำงานควรรู้

6. กินอาหารรสจืด ช่วยรักษากรดไหลย้อน จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง การรับประทานอาหารรสจืดนั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยในการรักษาแต่อย่างใด การที่แพทย์ทางเดินอาหารและตับมักจะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารประเภท เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด นั่นเป็นเพราะอาหารกลุ่มดังกล่าว จะไปกระตุ้นอาการของกรดไหลย้อน และก่อความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ ในทางกลับกันไม่สามารถสรุปว่าเป็นจริง

7.เมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อนต้องลดปริมาณการทานอาหารทุกชนิด

คำตอบคือ จริงๆ แล้วเราควรลดอาหารบางชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้ ชา และอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งอาหารเหล่านี้มีผลทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากกว่าปกติจึงทำให้กรดไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารง่ายขึ้น

8.ยาสมุนไพรที่ช่วยขับลม กินแล้วช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้ จริงหรือไม่?

คำตอบคือ จริง แต่เป็นบางชนิดเท่านั้น เช่น ขมิ้นชัน เพราะมีการศึกษาวิจัยแล้วว่า สาร Curcuminoid ที่อยู่ในขมิ้นชันนั้น มีฤทธิ์การลดอาการอักเสบในทางเดินอาหารได้จริง แต่ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อจากแหล่งขายที่ได้มาตรฐาน ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน มีการรับรองจาก อย. เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

9.โรคกรดไหลย้อน มีอาการผิดปกติแค่แสบร้อนยอดอก จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง แม้อาการผิดปกติหลักของโรคกรดไหลย้อนตามตำราแพทย์นั้น จะมี 2 อาการ ได้แก่ อาการแสบร้อนกลางหน้าอก และ เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดอยู่ในคอ แต่จริง ๆ แล้วโรคกรดไหลย้อนนั้นยังส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการที่พบได้ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ  หรือแม้ต่ออาการแน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

10. ผักผลไม้ ที่มีความเป็นกรดสูง หรือมีรสจัด จะทำให้เป็นกรดไหลย้อน จริงหรือไม่?

คำตอบคือ จริง เพราะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม สับปะรด มะนาว องุ่น รวมถึงผักที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดลมในช่องท้องเยอะเช่น พริก กระเทียม หรือตระกูลสะระแหน่ กะเพรา ต่าง ๆ ต่างก็เป็นปัจจัยกระตุ้น ทำให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน หรือทำให้ท้องอืดได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามร่างกายของแต่ละคน ดังนั้นเราต้องคอยสังเกตร่างกายของตัวเอง

ความเชื่อ \"โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน\" ที่วัยทำงานควรรู้

11.ควรหลีกเลี่ยงไขมันทุกชนิด

คำตอบคือ ถึงแม้การเป็นโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าเราเลือกทานไขมันที่มีผลดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าว ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ดีกว่าการงดไขมันไปเลยเช่นกัน

12.ยาลดกรด สามารถกินเมื่อไรก็ได้ กินปริมาณเท่าไรก็ได้ จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง และไม่ควร ที่สำคัญยาลดกรดนั้น อาจเป็นคำเรียกชนิดของยาแบบเหมารวมจนอาจเกิดความเข้าใจผิด และทำให้เกิดการใช้งานผิดประเภท ซึ่งโดยตามความเป็นจริงแล้ว ยาลดกรดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ยาลดกรด ที่มีฤทธิ์ในการลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารจริง ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ด กับยาบรรเทาอาการที่มักจะเป็นยาน้ำ

ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีวิธี และปริมาณในการใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นยาลดกรดแบบเม็ด ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 ครั้ง ส่วนยาบรรเทาอาการนั้น แนะนำว่าไม่ควรรับประทานเกินวันละ 3-4 ครั้ง ที่สำคัญ หากรับประทานยาด้วยตัวเองไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างเหมาะสม

13. ท้องอืดให้เอาใบไม้เหน็บท้อง จะช่วยให้หายอืด จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง เป็นเพียงความเชื่อของคนสมัยโบราณ ไม่ได้มีส่วนช่วย หรือมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

14. การนอนเอาหัวไว้ที่สูง ช่วยลดอาการกรดไหลย้อน จริงหรือไม่? 

คำตอบคือ ไม่จริง เพราะการเอาหมอนมาหนุนเพิ่มความสูงแค่บริเวณศีรษะนั้น ไม่ได้ช่วยให้อาการของกรดไหลย้อนดีขึ้นแต่อย่างใด การนอนให้สูงที่สามารถช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ หมายถึงการนอนให้ร่างกายตั้งแต่บริเวณลิ้นปี่ขึ้นไปนั้นอยู่สูง เนื่องจากจุดนั้นคือบริเวณหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร การนอนให้ร่างกายช่วงบนทั้งหมดอยู่สูง จะช่วยลดโอกาสที่อาหารจะย้อนขึ้นมาจากกระเพาะได้

15.ควรทานผักผลไม้แทนการทานมื้ออาหารหลัก จริงหรือไม่?

คำตอบคือ ผักและผลไม้ส่วนใหญ่มีผลดีกับสุขภาพ แต่ก็มีผักและผลไม้บางชนิดที่ทำให้กรดไหลย้อนมีอาการมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โรคทางระบบทางเดินอาหารและตับ ส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจวินิจฉัยเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น หากกำลังสงสัยว่าตนเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร ขอแนะนำว่าควรมาปรึกษากับแพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับ  เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ทำการรักษา รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ตามแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน

ความเชื่อ \"โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน\" ที่วัยทำงานควรรู้

พฤติกรรมที่ควรเปลี่ยน รักษา “กรดไหลย้อน”

พฤติกรรมส่วนตัว

  • อย่าให้เครียด และงดการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่น โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
  • พยายามลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
  • ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษาและหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

  • หลังรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การยกของหนัก การเอี้ยวหรือก้มตัวในทันที ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ชม.
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ และอาหารฟาสต์ฟู้ด
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม peppermints เนย ไข่ นมหรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด  กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มแน่นท้องมาก

พฤติกรรมการนอน

  • ไม่ควรนอนหลังการรับประทานอาหารทันที  หรืออย่างน้อยควรเว้นระยะห่าง 3 ชม.
  • เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ

อ้างอิง:โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลพญาไท