"ถั่ว" โปรตีนจากพืช สู่ตลาด Plant-based สุดยอดอาหารสุขภาพ
“ถั่ว” เป็นอาหารที่คนไทยหลายคนรู้จักมาช้านาน และเป็นกลุ่มอาหารที่เรียกได้ว่ามีประโยชน์ นอกจากนี้ถั่วยังมีหลากหลายสายพันธุ์เยอะแยะไปหมด
KEY
POINTS
- พืชตระกูลถั่วสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ถั่วเมล็ดแห้ง (Beans) และถั่วฝักอ่อน หรือถั่วผัก
- ถั่ว 8 ชนิดที่ควรจะรับประทานเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดี ป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ ที่จะตามมาได้
- อาหาร plant-based เป็นกลุ่มอาหารที่มีสารอาหารหนาแน่นและเต็มไปด้วยไฟเบอร์ ไขมันดี โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง เป็นวิธีการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
กลุ่มอาหารประเภท “ถั่ว” นั้นมีมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย จัดได้ว่าเป็นอาหารที่หาง่าย และมีราคาหลากหลาย เหมาะสำหรับเป็นทั้งอาหารหลัก และอาหารว่าง โดยวันนี้จะขอแบ่งประเภทถั่วแบบง่ายๆ ตามลักษณะ และคุณค่าทางสารอาหารหลัก ดังนี้
1. สำหรับถั่วเปลือกแข็ง (Nut)
2. สำหรับถั่วเมล็ดแห้ง สามารถเลือกทานได้หลากหลายแบบ
3. สำหรับถั่วผัก หรือ ถั่วฝักอ่อน อาจเลือกเป็นถั่วที่สามารถนำมากินได้ง่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้จักถั่วในแต่ละประเภท
- ถั่วเปลือกแข็ง (Nut)
เช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท ถั่วลิสง แมคคาดีเมีย ซึ่งเป็นแหล่งของไขมันไม่อิ่มตัวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีโปรตีน ใยอาหาร วิตามินอี และ แมกนีเซียม อีกด้วย ถั่วประเภทนี้จัดเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม มีงานวิจัยพบว่า การรับประทานถั่ววันละ 1 ฝ่ามือ หรือ 30 กรัม สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ลดไขมัน LDL ทั้งยังลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
ตัวอย่าง ถั่ว 30 กรัมได้แก่ อัลมอนด์ หรือ ฮาเซลนัท 20 เม็ด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พีแคน 15 เม็ด พีตาชิโอ ถั่วลิสง 30 เม็ด เชสนัท 4 เม็ด และ บราซิลนัท 10 เม็ด
- ถั่วเมล็ดแห้ง (Beans)
เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วเขียว ซึ่งเป็น แหล่งของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร วิตามินบี 1 และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ยังมีสารพฤกษเคมีหลายชนิด ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ในรูปแบบหุงต้มผสมพร้อมข้าว หรือเป็นลักษณะของการแปรรูป เช่น เต้าหู้ และน้ำเต้าหู้ (ควรระวังปริมาณน้ำตาลด้วย) ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถรับประทานเสริมได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถั่วเมล็ดแห้งที่ต้มสุกแล้วประมาณ ½ ถัวยตวง มีคาร์โบไฮเดรตพอๆ กับข้าว 1 ทัพพี และโปรตีนพอๆ กับไข่ 1 ฟอง
- ถั่วฝักอ่อน หรือ ถั่วผัก
เช่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วพู หรือ ถั่วงอก ซึ่งเป็นแหล่งของใยอาหารเป็นหลัก รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินบี โฟเลต และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ ถั่วประเภทนี้ จัดได้ว่ามีพลังงานต่ำที่สุด แต่ให้ประโยชน์เรื่องของการอิ่มท้องจากการได้รับใยอาหาร ถั่วประเภทนี้เหมาะกับการทำเป็นกับข้าว เช่น ผัด อบ ลวก ต้ม ยกตัวอย่างเช่น ผัดถั่วฝักยาว ยำถั่วพูเป็นต้น
กิน “โปรตีนจากพืช” ไม่ก่อเกิดโรคภัย
โปรตีนจากพืช (Plant-based protein) เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สำคัญรองจากเนื้อสัตว์ และปัจจุบันกำลังเป็นเทรนที่มาแรงสำหรับสายเฮลท์ตี้ หรือกลุ่มวีแกน ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ นั่นก็เพราะ โปรตีนจากพืชมีประโยชน์มากมาย ดังนี้
1.มี Phytonutrient (สารพฤกษเคมีที่มอบประโยชน์ต่อร่างกาย)
2.มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกาย
3.มีวิตามิน และแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด
4.มีใยอาหารสูงดีต่อลำไส้
5.แคลอรี่ต่ำ ลดความอ้วนได้
6.เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมกล้ามเนื้อ แต่มีภาวะ Lactose-intolerance ทำให้ไม่สามารถทานเวย์โปรตีนได้
7. เป็นโปรตีนที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย
โปรตีนจากพืชแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม
โปรตีนจากพืชมีแหล่งที่มาหลากหลาย สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1. โปรตีนจากธัญพืช (cereal) เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์
2. โปรตีนจากถั่ว (legume) เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลายเสือ กลุ่มถั่วฝักเมล็ดกลม
3. โปรตีนจากเมล็ดพืช (seed) และนัท (nut) เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา เมล็ดลินิน เมล็ดกัญชง เมล็ดป๊อปปี
4. โปรตีนจากหญ้าที่ไม่ใช่ธัญพืช (pseudo-cereal) เช่น บักวีท (buckwheat) เจีย (chia) ควินัว (quinua) อะมารัน (amaranth)
5.โปรตีนจากพืชผัก (vegetable protein) เช่น บร็อกโคลี เคลป์ กะหล่ำดอก มันฝรั่ง สะตอ ผักหวาน ชะอม ยอดแค ยอดกระถิน ขี้เหล็ก ใบมะรุม และใบชายา
โปรตีนจากพืช ที่ควรกินเป็นประจำ
1. ถั่วเหลือง
โปรตีนจากถั่วเหลืองนั้นเรียกได้ว่ามีสูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์เสียอีก เพราะในถั่วเหลือง 100 กรัม มีโปรตีนถึง 36 กรัม เลยทีเดียว (เนื้อวัว และเนื้อหมู 100 กรัม มีโปรตีนเพียง 23 กรัม เท่านั้น) แถมยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีเส้นใยอาหารสูงจึงช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี
2. เมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทอง มีโปรตีนสูงถึง 19 กรัม ต่อ 100 กรัม เป็นของกินที่หลายคนติดใจ เนื่องจากเคี้ยวเพลิน กินง่าย คลายเครียด แถมได้ประโยชน์ เมล็ดฟักทอง อุดมด้วยสังกะสีสำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มการขับถ่าย และลดอาการท้องผูกในระยะยาว
3. เต้าหู้
เต้าหู้เกิดจากการแปรรูปของถั่วเหลือง จึงมีโปรตีนสูงไม่แพ้กัน แถมยังมีกรดอมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายถึง 8 ชนิด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท ที่เกี่ยวกับความทรงจำ เต้าหู้มีโปรตีนที่ให้ไฟเบอร์ หรือกากใยอาหารที่ช่วยในระบบย่อยอาหาร
4. ข้าวกล้อง
ข้าวถือเป็นอาหารหลักของเราทุกคนอยู่แล้ว จึงแนะนำให้เลือกกินข้าวกล้อง เป็นประจำทุกวันไปเลย ในข้าวกล้อง อุดมไปด้วยโปรตีน และวิตามินต่าง ๆ มากมาย เช่น มีวิตามินบี 3 วิตามินอี ช่วยบำรุงสุขภาพผิวให้เปล่งปลั่งสดใส มีแคลอรี่ต่ำ เส้นใยสูง และข้าวกล้องยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้ด้วย
5. ธัญพืช
พืชตระกูลถั่ว ให้พลังงานสูง มีโอเมก้า 3 บำรุงหัวใจ และร่างกาย เป็นโปรตีนย่อยง่าย ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ควรเลือกใช้ที่เป็นแบบเมล็ดเต็มรูปแบบ เพื่อให้ได้รับสารอาหารเต็มที่ ไม่ควรเลือกแบบบด, ขัดสี หรือบี้ป่นแล้ว
6. ลูกเดือย
ลูกเดือยเป็นธัญพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับข้าว มีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกาย อย่างเช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส โดยเฉพาะวิตามินบี 1 ที่มีปริมาณสูงมาก
7. ผักโขม
ผักโขม ที่หลายคนคิดว่าจะมีรสขม แต่จริง ๆ ไม่ได้ขมอย่างที่คิด กินง่ายแน่นอน มีโปรตีนสูง กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 ฯ ช่วยบำรุงกำลังทำให้มีสุขภาพแข็งแรง
8. ข้าวโอ๊ต
ข้าวโอ๊ต เหมาะที่จะรับประทานเป็นอาหารมื้อเช้า เพราะอุดมไปด้วยเส้นใย และให้พลังงานสูง มีแมกนีเซียมที่สำคัญต่อระบบการทำงานของเอนไซม์ในระบบย่อยอาหาร แคลอรีต่ำ กินแล้วทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่อยากลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก เป็นอย่างดี
Plant based เทรนด์อาหารจากพืช เพื่อสุขภาพ
แพลนต์ เบส ฟู้ด (Plant-based food) หรืออาหารแพลนต์ เบส คือ รูปแบบการทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก แทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การทานอาหารแพลนต์ เบส ไม่เพียงรวมถึงการทานอาหารจำพวกผัก และผลไม้หลากสีตามฤดูกาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธัญพืช ถั่วเมล็ดแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืช น้ำมันจากพืช โฮลเกรน หรือธัญพืช
การทานอาหารแพลนต์ เบส ไม่ใช่รูปแบบการทานอาหารแบบมังสวิรัติที่เลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ นม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมทั้งหมด แต่การทานอาหารแพลนต์ เบส คือการทานอาหารที่เน้นสัดส่วนของผัก ผลไม้ และธัญพืชชนิดต่าง ๆ เป็นหลักในขณะที่ยังสามารถทานเนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรือนมได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าอาหารกลุ่มแพลนต์ เบส นั้นเอง
ข้อดีของการทานอาหาร plant-based
การทานอาหาร plant-based มีงานวิจัยรองรับในเชิงวิชาการมากมายว่าช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น เนื่องจากการทานอาหารแบบแพลนต์ เบส มีความคล้ายคลึงกับการทานอาหารแบบมังสวิรัติ และการทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ที่เน้นพืชผัก เนื้อปลา ไข่ ชีส โยเกิร์ตแบบกรีก ผลไม้ ถั่วและธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระเป็นหลัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันมะกอก “ราชาแห่งน้ำมัน” ที่มีกรดไขมันโอเลอิค ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดในสมอง นอกจากนี้การทานอาหาร plant based ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น
- ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค
เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) และมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ในพืชตระกูลต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ฮาเซลนัท แมคคาดีเมีย หรือวอลนัท ยังเป็นแหล่งของโปรตีน และไขมันชนิดดี ที่ช่วยในเรื่องความจำ ช่วยลดภาวะโรคซึมเศร้า รวมถึงภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุได้อีกด้วย
- ช่วยควบคุมน้ำหนักให้ง่ายขึ้น
อาหารแพลนต์ เบส มีคอเลสเตอรอลน้อย และช่วยลดการดูดซึมไขมัน การทานอาหารแพลนต์ เบส อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดค่า BMI หรือค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น ผู้ที่ลดน้ำหนักมากมายจึงนิยมเลือกการทานอาหารแบบแพลนต์ เบส ระหว่างทำการลดน้ำหนักเพื่อให้ง่ายต่อการรักษารูปร่าง และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปริมาณแคลอรี่ที่เข้าสู่ร่างกายมากจนเกินไป
- ช่วยป้องกันโรค
การทานอาหารแบบแพลนต์ เบส ที่ประกอบไปด้วยพืชผัก และธัญพืชเป็นหลักในแต่ละวัน สามารถช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคความจำเสื่อม และโรคเรื้อรังบางชนิดได้ ช่วยระงับการอักเสบของลำไส้ โรคในระบบทางเดินอาหาร และทำให้ลำไส้แข็งแรง นอกจากนี้ยังพบว่าการทานอาหารแบบแพลนต์ เบส ยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคข้ออักเสบ ช่วยปรับปรุงการทำงานของตับให้ดีขึ้น ช่วยให้ไตแข็งแรงขึ้น และช่วยชะลอกระบวนการเสื่อมและชราภาพของร่างกายได้
- ช่วยให้อิ่มท้องได้นาน
เนื่องจากอาหารแบบแพลนต์ เบส เป็นแหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์สูง มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ช่วยควบคุมความอยากอาหาร และช่วยในการขับถ่าย
- ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การทานอาหารแบบแพลนต์ เบส เน้นการทานอาหารจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแปรรูป ทำให้ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกในการคมนาคมขนส่ง และการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ เป็นการประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
เริ่มต้นทานอาหาร plant based อย่างไร?
การทานอาหาร plant-based อาจทำได้ลำบากในช่วงแรก เนื่องจากร่างกายต้องการปรับตัว ผู้ที่ทานอาหารแพลนต์ เบส อาจเริ่มต้นค่อย ๆ ทานโดยให้มีผักและผลไม้หลากหลายชนิดตามฤดูกาลกับอาหารทุกมื้อ รวมทั้งเมล็ดธัญพืช เช่น ผักสลัด ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ควินัว หรือขนมปังโฮลวีต และอาหารที่มีไขมันชนิดดี เช่น ถั่ว เมล็ดพืช อะโวคาโด ซึ่งจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน
ในการเริ่มต้นทานอาหาร plant-based อาหารหรือของว่างแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยพืชผัก 2/3 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไม่เกิน 1/3 ส่วน รวมถึงไข่ ชีส โยเกิร์ต หรือน้ำผึ้ง เมื่อร่างกายเคยชินกับการกินผักมากขึ้นแล้ว ให้ลองจำกัดการทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพียงหนึ่งอย่างต่อวัน
อ้างอิง :โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,gedgoodlife