แพทย์เตือน ‘สายตาสั้นรุนแรง’ พบในคนเอเชียมากขึ้น ปล่อยไว้อาจถึงขั้นตาบอด

แพทย์เตือน ‘สายตาสั้นรุนแรง’ พบในคนเอเชียมากขึ้น ปล่อยไว้อาจถึงขั้นตาบอด

“สายตาสั้น” หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต ก็แค่หาแว่นมาใส่ แต่รู้หรือไม่? หากเกิดกรณี “สายตาสั้นรุนแรง” โดยเฉพาะในเด็ก จะยิ่งเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม-หลุดลอก อาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอด!

KEY

POINTS

  • เมื่อพูดถึง “สายตาสั้น” หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร ก็แค่หาแว่นมาใส่หรือไม่ก็ทำเลสิคเพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้น 
  • แต่นั่นอาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะในกรณีที่มีภาวะ “สายตาสั้นรุนแรง” โดยเฉพาะหากพบในเด็ก จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคทางตาอีกหลายโรค อาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอด!
  • แพทย์หญิงเตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะ พาบุตรหลานไปตรวจวัดค่าสายตาตั้งแต่เด็ก เพื่อป้องกันสายตาสั้นรุนแรงได้ทันก่อนสายเกินไป

ตามรายงานของ WHO มีข้อมูลคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ประชากรเกือบ 50% ทั่วโลกจะมีภาวะสายตาสั้น และเกือบพันล้านคนอาจเผชิญภาวะสายตาสั้นรุนแรง อีกทั้งผู้คนในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ จะมีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 80-90% โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ขณะที่ในประเทศไทยก็พบคนสายตาสั้นมากขึ้นเช่นกัน

แพทย์เตือน ‘สายตาสั้นรุนแรง’ พบในคนเอเชียมากขึ้น ปล่อยไว้อาจถึงขั้นตาบอด

จากข้อมูลข้างต้นทำให้บุคลากรในแวดวงจักษุแพทย์มีความกังวลว่า หากไม่รีบแก้ไขเรื่องนี้ให้ทันท่วงที ผู้ที่เริ่มมีสายตาสั้นเร็วโดยเฉพาะในเด็ก อาจมีความเสี่ยงสายตาสั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และสามารถนำไปสู่โรคทางตาอื่นๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้น ยิ่งรู้ปัญหาสายตาสั้นได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งแก้ไขได้ทันก่อนจะสายเกินไป 

กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์เอ็กคลูซีฟ แพทย์หญิงเตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา-คอนแทคเลนส์ และจักษุวิทยาทั่วไป เพื่อค้นหาว่าภาวะ “สายตาสั้นรุนแรง” มีความอันตรายแค่ไหน ผู้ปกครองจะสามารถป้องกันบุตรหลานให้ห่างไกลจากโรคภัยนี้ได้อย่างไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลและสรุปมาให้ครบจบในที่เดียว

สายตาสั้นรุนแรง ตาบอด  แพทย์หญิงเตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทำไมคนสายตาสั้น มองเห็นไม่ชัดเหมือนคนสายตาปกติ? 

สำหรับผู้ที่ “สายตาสั้น” นั้น แพทย์หญิงเตือนใจอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนว่า เป็นภาวะที่มีปัญหาในการมองวัตถุที่อยู่ห่างออกไปไม่ชัดเจน ในขณะที่วัตถุที่อยู่ใกล้มองเห็นชัดเจนดี คนสายตาสั้นจะมีลูกตาที่ยาวขึ้น ซึ่งหมายถึงจอประสาทตาถูกยืดออกไปผิดปกติ หากพบสายตาสั้นในเด็ก จะส่งผลเสียต่อชีวิตเด็กหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการศึกษา พัฒนาการของเด็ก สุขภาพจิตใจ สุขภาพร่างกาย อีกทั้งกระทบถึงครอบครัวด้วย

“สายตาของคนปกติ แสงจะตกอยู่ที่ ‘จอรับภาพหรือเรตินา’ พอดี แต่ถ้าเป็นคนสายตาสั้น แสงจะตกอยู่ที่ข้างหน้า ก่อนจะถึงจอรับภาพ แพทย์จะแนะนำให้ใส่เลนส์เว้าเพื่อยืดแสงให้ตกไปตรงจอเรตินาพอดี ก็จะทำให้มองเห็นภาพคมชัดขึ้น สายตาสั้นในผู้ใหญ่อาจไม่น่ากังวลมากนัก แต่ถ้าสายตาสั้นเกิดในเด็ก 6-7 ขวบ นี่คือเรื่องใหญ่แล้วค่ะ เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการรักษาทันที สายตาก็จะสั้นไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นสายตาสั้นรุนแรง ยิ่งเด็กเริ่มมีสายตาสั้นเร็ว เท่าไหร่ โอกาสที่จะเป็นสายตาสั้นรุนแรงก็ยิ่งมากขึ้น” แพทย์หญิงเตือนใจ อธิบาย

ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่าง “สายตาสั้นทั่วไป” กับ “สายตาสั้นรุนแรง” อยู่ที่ค่าของสายตาที่ตรวจวัดได้ (มีหน่วยเป็น Diopter) หากจักษุแพทย์วัดค่าสายตาในเด็กคนหนึ่งแล้วพบว่ามีค่าสายตาตั้งแต่ -0.25 ไดออปเตอร์ ไปจนถึง -0.50 ไดออปเตอร์ หรือในภาษาพูดทั่วไปคือสายตาสั้น 25-50 แพทย์ก็จะให้ใส่แว่นปรับสายตา ส่วนในกรณีของเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นรุนแรง ตามข้อมูลของทาง WHO ระบุว่าต้องตรวจพบค่าสายตาที่มากกว่า -5 ไดออปเตอร์ หรือสายตาสั้นตั้งแต่ 500 ขึ้นไป

สายตาสั้นรุนแรง ตาบอด

สาเหตุของสายตาสั้น อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรมส่วนบุคคล

แพทย์หญิงเตือนใจ บอกอีกว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาสั้นยังไม่รู้แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ แพทย์พบว่าคนที่มีสายตาสั้นมักมีพันธุกรรมมาจากพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายาย ถ้าแม่สายตาสั้น ลูกที่เกิดมาก็จะพบว่ามีสายตาสั้นไปด้วย ถ้าทั้งพ่อทั้งแม่สายตาสั้น เปอร์เซ็นต์ที่เด็กจะเกิดมาสายตาสั้นก็ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก

หรือแม้กระทั่งกรณีข้ามเจเนอเรชัน คือพ่อแม่สายตาปกติแต่รุ่นปู่ย่าตายายสายตาสั้น เด็กที่เกิดมาก็มีโอกาสสายตาสั้นได้เช่นกัน รวมถึงพันธุกรรมจากเชื้อชาติด้วย โดยกลุ่มคนแถบเอเชียพบว่ามีภาวะสายตาสั้นมากกว่าคนในชาติตะวันตก

สายตาสั้นรุนแรง ตาบอด สายตาสั้นรุนแรง (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ สายตาปกติ (ขวา)

นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีผลให้เกิดสายตาสั้นได้ กล่าวคือ เด็กในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยกว่าเด็กสมัยก่อน ทำกิจกรรมเอาท์ดอร์น้อย ไม่โดนแสงแดดธรรมชาติ รวมถึงการเรียนหนักของเด็กเอเชีย (ใช้สายตาดูหน้าจอหรืออ่านหนังสือนานๆ ทั้งวัน) ก็มีผลให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นมากขึ้น 

“ในสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง พบว่าเด็กๆ ในประเทศเหล่านี้มีสายตาสั้นจำนวนเยอะมาก เด็กอายุประมาณ 16-18 ปี พบมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง 80-90% ส่วนในไทยเองก็มีรายงานว่าเด็กสายตาสั้นมากขึ้นเช่นกัน ถ้าในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งเป็นสายตาสั้นรุนแรง ก็จะกระทบสุขภาพของเขามาก สมมติเด็กอายุ 8-9 ปี มีสายตาสั้น 200 แล้วเด็กๆ สายตายังไม่เสถียรดี ยิ่งโตขึ้นก็จะยิ่งสั้นไปได้อีกเรื่อยๆ อาจจะสั้นปีละ 50-100 ในอนาคตอาจสั้น 700-900 ซึ่งเป็นสายตาสั้นรุนแรงแล้ว” แพทย์หญิงอธิบาย 

ภาวะ ‘สายตาสั้นรุนแรง’ อันตรายแค่ไหน? 

ในคนสายตาปกตินั้นจะมีกระบอกตายาวประมาณ 23.5 - 24.5 มม. แต่ภาวะสายตาสั้นรุนแรง จะทำให้กระบอกตายืดยาวออกไปเรื่อยๆ ยิ่งยืดยาวออกไปมากเท่าไหร่ จอประสาทตาก็จะยืดยาวตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาจอประสาทตาบาง พอบางมากๆ เข้า ก็จะฉีกขาดได้ง่าย ที่อันตรายกว่านั้นคือ ถ้ากระบอกตายืดมากๆ ก็จะเกิดจอประสาทตาเสื่อม หรือที่เราเรียกว่า “จอประสาทตาเสื่อมที่เกิดจากสายตาสั้น” รวมไปถึง “จอประสาทตาหลุดลอก” 

โดยเฉพาะกรณีจอประสาทตาหลุดลอก ถ้าผ่าตัดไม่ทัน ก็จะทำให้คนไข้สูญเสียการมองเห็นหรือ “ตาบอด” ได้ เพราะฉะนั้น ภาวะสายตาสั้นรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่จักษุแพทย์ไม่อยากให้เด็กต้องเผชิญ ยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาพบเปอร์เซ็นต์การเกิดสายตาสั้นรุนแรงค่อนข้างสูง ซึ่งมีปัจจัยจากพฤติกรรมที่เด็กๆ ใช้งานหน้าจอต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ภาวะสายตาสั้นรุนแรงยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็น ต้อกระจก ต้อหิน ได้ง่ายตามมาเช่นกัน

สายตาสั้นรุนแรง ตาบอด  แพทย์หญิงเตือนใจ วงศ์วรเศรษฐ์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“ยกตัวอย่างเคสหนึ่งเป็นเด็กอายุ 16 ปี มีภาวะสายตาสั้น 700-800 หมอตรวจดูก็พบว่ามีอาการจอประสาทตาฉีกขาดหลุดลอก ทั้งๆ ที่อาการนี้มักจะเกิดกับผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป สุดท้ายต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หลังผ่าตัดแม้จะกลับมามองเห็น แต่ก็ไม่เป็นปกติเหมือนเดิม เคสนี้ย้ำให้เห็นว่าโรคจอประสาทตาหลุดลอกก็เกิดกับเด็กได้” แพทย์หญิงเตือนใจ อธิบายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ภาวะสายตาสั้นในเด็ก (แม้จะไม่ใช่สายตาสั้นรุนแรง) นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพตาของเด็กแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ เนื่องจากโดนเพื่อนบูลลี่จากการใส่แว่นหนาเตอะ หรือต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยจนรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระ รวมถึงกระทบต่อการเรียน กระทบเศรษฐฐานะของครอบครัว ถ้ามองในภาพใหญ่ขึ้น ก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปในสังคมวงกว้าง เพราะหากมีผู้ป่วยมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นตามไปด้วย

เช็กอาการเข้าข่ายสายตาสั้นรุนแรง แล้วจะมีวิธีรักษาให้หายได้ไหม?

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสายตาสั้นรุนแรงได้อย่างไรบ้าง ก่อนอื่นมาเช็กลิสต์อาการเข้าข่าย “สายตาสั้น” ในเด็กกันก่อน แพทย์หญิงเตือนใจบอกว่า โดยปกติเด็กๆ จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองสายตาสั้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานไปตรวจสุขภาพดวงตาตั้งแต่ขวบปีแรก รวมถึงตรวจวัดค่าสายตาในวัย 3 ปี และ 5 ปี เพื่อดูว่ามีภาวะสายตาสั้นหรือไม่ เพราะยิ่งตรวจเจอเร็วก็ยิ่งรักษาได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตสัญญาณบางอย่างจากพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบว่าเด็กมักจะวิ่งไปดูใกล้ๆ หน้าจอทีวี หรือเวลาเรียนมีพฤติกรรมเพ่งมองกระดานดำ หรือมีพฤติกรรมเอียงหน้า ก้มหน้า เวลาเพ่งมองบางอย่าง รวมถึงการขยี้ตาบ่อยผิดปกติ ก็ให้สันนิษฐานว่าเด็กอาจมีสายตาสั้นและควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์

สำหรับวิธีการดูแลรักษานั้น แพทย์หญิงคนเดิมแนะนำว่าการบรรเทาอาการสายตาสั้นเบื้องต้นโดยไม่ต้องใช้ยาเลยก็คือ ลดการใช้งานหน้าจอต่างๆ พาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้เจอแสงแดดธรรมชาติบ่อยๆ มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า “แสงแดดธรรมชาติทําให้สายตาสั้นช้าลง” ป้องกันไม่ให้มีภาวะสายตาสั้นตั้งแต่อายุน้อย อีกทั้งเป็นการลดการจ้องหน้าจอทางอ้อม ซึ่งช่วยป้องกันสายตาสั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

แพทย์เตือน ‘สายตาสั้นรุนแรง’ พบในคนเอเชียมากขึ้น ปล่อยไว้อาจถึงขั้นตาบอด

ส่วนในกรณีที่ตรวจพบว่าเด็กมีสายตาสั้นมาก หรือเริ่มมีความเสี่ยงจะเป็นสายตาสั้นรุนแรง แพทย์จะรักษาโดยให้ใช้ยาหยอดตา กลุ่ม Low-dose Atropine ที่ช่วยชะลอให้สายตาสั้นช้าลง และแนะนำให้ใส่แว่นปรับสายตาชนิดพิเศษที่มีเทคโนโลยีในการช่วยชะลอสายตาสั้นได้ประมาณ 30% ซึ่งแว่นชนิดพิเศษนี้มีใช้มานาน 10 กว่าปีแล้ว แต่ปัจจุบันนี้พบว่ามีนวัตกรรมเลนส์แว่นตาชนิดใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น 

โดยในช่วงปีสองปีมานี้ มีเลนส์แว่นตาชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี H.A.L.T (Highly Aspherical Lenslet Target) มาออกแบบเลนส์แว่นตาให้สามารถรวมแสงเข้ามากระทบบนจอเรตินาได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงช่วยควบคุมและชะลอสายตาสั้นได้ดียิ่งขึ้น โดยมีผลวิจัยทางคลินิกซึ่งศึกษามานานกว่า 3 ปี พบว่า ช่วยชะลอสายตาสั้นโดยเฉลี่ย 67% ซึ่งเลนส์ชนิดนี้มีเข้ามาในไทยแล้ว อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เด็กไทยต่อสู้กับภาวะสายตาสั้นรุนแรงได้

แพทย์เตือน ‘สายตาสั้นรุนแรง’ พบในคนเอเชียมากขึ้น ปล่อยไว้อาจถึงขั้นตาบอด

“ยิ่งถ้าเด็กสายตาสั้นได้ใช้แว่นตาเลนส์ชนิดพิเศษบวกกับการรักษาด้วยยาหยอดตา ผลการรักษาก็จะยิ่งดีขึ้น บางคนสามารถชะลอสายตาสั้นได้ถึง 70-80% เลยค่ะ หมอมองว่าเด็กๆ ก็จะได้มีอาวุธสู้กับภาวะสายตาสั้น และจากการที่หมอได้ลองใช้เลนส์ตัวนี้มาดูแลคนไข้เด็กสายสั้นและติดตามผลดู ก็พบว่าค่าสายตาออกมาดีมาก มีสั้นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ตัวเด็กเองต้องมีวินัยในการสวมใส่แว่นตา คือต้องใส่ให้ได้ 12 ชั่วโมงต่อวัน อย่าใส่ๆ ถอดๆ เพราะยิ่งใส่ต่อเนื่องก็จะยิ่งรักษาได้ผลดี” แพทย์หญิงกล่าวย้ำ 

ท้ายที่สุดแพทย์หญิงเตือนใจยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการถนอมสายตาด้วย “กฎ 20-20-20” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ คนสายตาปกติหรือสายตาสั้น ก็สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ โดยหากจำเป็นต้องใช้งานหน้าจอนานๆ ให้กำหนดเวลาการจ้องหน้าจอ คือ ทุกๆ 20 นาทีที่มองหน้าจอ ต้องพักสายตา 20 วินาที โดยการมองไประยะไกล 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) อีกทั้งระหว่างการใช้งานหน้าจอ ควรกะพริบตาบ่อยๆ ตามปกติคนเราควรกะพริบตา 12-14 ครั้งต่อนาที หรือหากรู้สึกตาแห้งก็ใช้น้ำตาเทียมบ้าง จะช่วยถนอมสายตา ป้องกันอาการตาเหนื่อยล้า และลดความเสี่ยงต่อภาวะสายตาสั้นได้