เทรนด์สุขภาพ‘เสริมอาหาร’มาแรง ดันตลาดโต 239 พันล้านบาทปี 69
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าสามารถเข้าถึงผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศในภูมิภาคได้ง่าย
KEY
POINTS
- ตลาดสารสกัดและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceuticals) ของประเทศไทยมีมูลค่าหนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านบาทในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 239 พันล้านบาท ในปี 2569
- “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2024” (Vitafoods Asia 2024) ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 2567 งานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบด้านการเกษตร ขยายโอกาสธุรกิจ
- ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมาก จากปัจจัยโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าสามารถเข้าถึงผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศในภูมิภาคได้ง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในการจัดงานขนาดใหญ่ มีสถานที่จัดงานที่ทันสมัยและมีระบบขนส่งที่ดีเยี่ยมและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักธุรกิจที่เดินทางมาเจรจาธุรกิจและพักผ่อนท่องเที่ยว
เป็นหนึ่งในตลาดเสริมอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามรายงานของ Euromonitor โดยตลาดผลิตเสริมอาหารของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า หนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านบาท ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 239 พันล้านบาทในปี 2569 จากรายงานวิจัยตลาดเสริมอาหารในประเทศไทยคาดว่ามีการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2570 จาก COVID-19 ได้ทำให้แนวโน้มการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเชิงรุกเป็นจุดสนใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสนใจและลงทุนในสุขภาพของตนมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“InterCare Asia 2024 งานนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของคนทุกวัย
อย. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ข้าวยีสต์แดง ไม่พบการขออนุญาตนำเข้า
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโต 239 พันล้านบาท ในปี 2569
“รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเสริมอาหารและสารสกัดกำลังเติบโตอย่างมากในตลาดเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อ้างอิงรายงานจาก Euromonitor International ตลาดสารสกัดและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceuticals) ของประเทศไทยมีมูลค่าหนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านบาทในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 239 พันล้านบาท ในปี 2569
โดยกระแสความคึกคักของตลาดที่เกิดขึ้นนั้น มาจากผู้ผลิตที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และการตอบรับของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดในประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิม และ ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เริ่มขยายงานเข้าสู่ตลาดเสริมอาหารมากขึ้น
ดังนั้นการจัดงาน “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2024” (Vitafoods Asia 2024) ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 2567 ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีผู้ร่วมออกงานกว่า 10,000 ราย จึงมุ่งตอบโจทย์ความต้องการที่รอบด้าน ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯ และผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องไปกับผลการสำรวจไลฟ์สไตล์ของ Euromonitor ที่ผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อพวกเขามากขึ้นอีก 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ดีเพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต
ไฮไลท์งาน “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2024”
เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการได้ใช้พื้นที่ของการจัดงานสำหรับการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือในระยะยาว รวมทั้งใช้โอกาสนี้ในการจัดหาส่วนผสมและผลิตภัณฑ์คุณภาพจากบรรดาผู้ผลิตและเจ้าของนวัตกรรม และพบปะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของธุรกิจและซัพพลายเออร์คุณภาพสูง มากกว่า 600 แบรนด์ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าและนวัตกรรม จาก 70 ประเทศมาร่วมจัดแสดง
โดยแบ่งเป็นโซลูชันหลากหลายประเภท ได้แก่ ส่วนผสมและวัตถุดิบ (Ingredients & Raw Materials), การผลิตตามสัญญาและฉลากส่วนตัว (Contract Manufacturer & Private Label), ผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Branded Finished Product), ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, วิตามิน, ส่วนผสมจากธรรมชาติ, สารสกัดสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์ทางโภชนาการ, บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
จัดแสดงนวัตกรรม อาทิ หัวข้อสัมมนาเสริมโนว์ฮาวธุรกิจแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มจากเติบโตและโอกาสธุรกิจเสริมอาหารในเอเชียและออสเตรเลีย การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร การทำฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อผู้สูงอายุ กลยุทธ์การตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงการอัปเดตงานวิจัยเรื่อง Pre-Pro-Postbiotics, Collagen Peptides หรือ สารสกัดที่กำลังมาแรง เช่น Ashwagandha และสารสกัดจากเห็ด เป็นต้น
รวมทั้งพื้นที่การจัดแสดงวัตถุดิบและสินค้าเสริมอาหารจากหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัย (Academic to Commercial), พื้นที่จัดกิจกรรมทานอาหารตามธาตุเจ้าเรือน (Lift Elements activity) และอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าจับตามองเป็นการเสนอเทรนด์ในอุตสาหกรรมเสริมอาหาร (Innovative Health Hub) รวมทั้งกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Square) และ เวทีสัมมนาใหญ่จำนวน 2 เวที เพื่อการถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจและข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
"การจัดงานครั้งนี้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเสริมอาหารไทย เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบด้านการเกษตร ขยายโอกาสธุรกิจ และผลักดันอุตสาหกรรมเสริมอาหารไทยเติบโตในตลาดโลกพร้อมเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการผลักดันโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจในไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิตและการตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในภูมิภาคเอเชีย”
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในไทยมูลค่าตลาดสูงกว่า 30%
ดร.ภก.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ ประธานกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบสำหรับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพในหลายด้าน ทั้งความเข้มแข็งด้านการศึกษาและการวิจัยด้านชีวภาพทางการแพทย์ (Biomedical Science) ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นจุดแข็งในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้ไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ
ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภท ผลิตภัณฑ์สมุนไพร Functional Foods ชีวเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ Active Pharmaceutical Ingredients (APIs) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพที่เข้มแข็ง ซึ่งนอกจากเป็นการลดการนำเข้าของผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพแล้ว ยังเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้
เชื่อว่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรในประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมากจากปัจจัยโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ความต้องการ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ในไทยเติบโต โดยมีมูลค่าตลาดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 30% ของกลุ่มผลิตความงาม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ และกระตุ้นอุตสาหกรรมเสริมอาหารและสารสกัดของไทยให้เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้ที่สนใจในนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จะได้เข้าถึงนวัตกรรมใหม่และพบปะผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนวัตกรรมส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
อย.คุมเข้ม“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว (อย.) ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Good Complaint Handling Practice : GCHP) เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศมีความเป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายในปี 2569
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการรับเรื่องร้องเรียนของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชน จากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนางานบริการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
จึงได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Good Complaint Handling Practice : GCHP) เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย และถ่ายทอดหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้หน่วยงานในระดับภูมิภาคใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยขณะนี้มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 16 จังหวัด ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ นครนายก สุพรรณบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และ พัทลุง
ทั้งนี้ ในอนาคตจะผลักดันให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เป็นหน่วยงานที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (GCHP) ภายในปี 2569 เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการด้านการจัดการเรื่องร้องเรียนให้สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ นำไปสู่กลไกที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) สามารถลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย ตามเป้าหมาย “ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการพัฒนาไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน
แนะรัฐสนับสนุนเอสเอ็มอี สมุนไพรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
‘สิทธิชัย แดงประเสริฐ’ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลาดสมุนไพรโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ปี 2573 ทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพยา เครื่องสำอาง สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขิง กระเทียม โสม และคาโมมายล์
ในส่วนของประเทศไทยมูลค่าการส่งออกสมุนไพรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สมุนไพรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ จากคาดการณ์ตลาดสมุนไพรในประเทศ ในปี 2570 มีมูลค่า 100,000 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ ยาอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางเครื่องดื่มสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก
ขณะเดียวกันต้องมีการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูง อาทิ สารสกัด สมุนไพรแปรรูป ยาและอาหารเสริม ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความต้องการสูงในการบริโภคสมุนไพร อย่าง ตลาดอาเซียน และ CLMV ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงการวิจัยและพัฒนาในห้องแล็บที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างมาตรฐานรองรับสินค้า
“จำเป็นต้องมีการสร้างแบรนด์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับในตลาดทั่วโลก ไปพร้อมกับการสื่อสารเรื่องราวและคุณค่า เพื่อดึงดูดและเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการโปรโมตเข้าถึงผู้บริโภคและการเก็บฐานข้อมูลไว้ต่อยอดในการวางกลยุทธ์ผลักดันสมุนไพรไทยได้แม่นยำมากขึ้น โดยเชื่อมโยงความร่วมมือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสมุนไพร“
การนำ ‘Economy Sharing’ให้ภาครัฐ-เอกชน ใช้ทรัพยากรร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา และสร้างพันธมิตรเพื่อรวมกลุ่มเข้าถึงโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกสมุนไพรไทยยังมีข้อจำกัดจากบางประเทศที่ไม่สามารถส่งออกไปได้
ปัจจุบันมีความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และเครือข่าย TOPT เพื่อพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตามการยกระดับสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยให้ตอบโจทย์ตลาด สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทยในการช่วยกันสร้างผลิตภัณฑ์ ช่องทางการสร้างมูลค่าในตลาด และผลักดันเรื่อง Soft Powerในด้านแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุน เนื่องจากโรงงานยาสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก