"มะระขี้นก" ผักริมรั้ว มูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท

"มะระขี้นก" ผักริมรั้ว  มูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท

มะระขี้นก ผักริมรั้ว แต่มูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท ไทยส่งออกได้แค่ 18 ล้านบาท พัฒนาสายพันธุ์สาเกต101 สารสำคัญมากขึ้น ขายได้ราคาเพิ่มเกือบ 2 เท่า บริษัทจีนสั่งซื้อแล้ว มูลค่า 250 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้  
  • มะระขี้นก ตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกมีการส่งออกสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท
  • ประเทศไทยมะระขี้นก เป็นหนึ่งในสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ แต่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 18 ล้านบาท  มีการวิจัยพัฒนาจนได้สายพันธุ์ สาเกต 101  ลูกใหญ่ สารสำคัญมากขึ้น ขายได้ราคาเพิ่มเกือบ 2 เท่า

มะระขี้นกตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท

สำหรับประเทศไทย มะระขี้นกเป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions 15  รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 แต่ยังมีการส่งออกได้เพียง 18 ล้านบาทเท่านั้น

ที่ผ่านมาจึงได้มีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้  จนได้มะระขี้นกสาเกต 101 มีการนำร่องให้เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามนำไปขยายพันธุ์ปลูก

บพท.ให้ทุนพัฒนามะระขี้นก

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา  ผู้อำนวยการน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม(Cluster) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่นำแนวคิดห่วงโซ่คุณค่ามุ่งเน้นเป้าหมายกลุ่มคนยากจน

\"มะระขี้นก\" ผักริมรั้ว  มูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท

โดยมีการออกแบบการพัฒนาธุรกิจการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ทำการวิจัยและพัฒนา  มะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ทำให้เกษตรกรแต่ละชุมชนร่วมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตของมะระสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ ชุมชนร่วมผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ ผู้ปลูกมะระขี้นก  ผู้รวบรวมมะระขี้นก  ผู้แปรรูปมะระขี้นก โรงงานผลิตยาแผนโบราณจากมะระขี้นก

บพท.เร่งการเปลี่ยนแปลงฐานราก 2 ระดับ คือ 1.กลุ่มธุรกิจชุมชนไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน โอท็อป เอสเอ็มอีหรือทุกอาชีพ   เป็นกลุ่มที่รัฐส่งเสริมอยู่แล้ว มีทั้งเข้มแข็งแล้วก็ยังไม่เข้มแข็ง กลุ่มที่เข้มแข็งไปได้ไม่เป็นไร ชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง

บพท.จะเอาตลาดเข้ามาจับแล้วสร้างโอกาสทางด้านการตลาด ไปสู่ฐานราก ส่งเสริมการพัฒนาเขาด้วยงานวิจัยนวัตกรรม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารสำคัญ  วิธีการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างเชิงธุรกิจ เชิงผู้ประกอบการ   บพท.จะเป็นตัวกลางทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมะระขี้นกซึ่งไม่เคยมีในประเทศไทย

2.กลุ่มแบบนี้จะต้องเชื่อมโยงกับครัวเรือนยากจน ครัวเรือนที่เป็นฐานรากจริงๆแล้วตอนนี้เรามีระบบข้อมูล   ชี้เป้าครัวเรือนยากจนที่อยู่ในจังหวัดยากจนไม่ว่าจะเป็นสุรินทร์  ร้อยเอ็ด บพท.จะชี้ให้เห็นเลยว่า ครัวเรือนยากจนที่กระจายอยู่ในพื้นที่  สามารถเข้ามาเพาะปลูก เข้ามาใช้แรงงาน  เข้ามาสร้างรายได้ได้เช่นกัน  กลายเป็นฐานการผลิตที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร  ใช้พื้นจำกัด ใช้ความชำนาญที่มีงานวิจัยประกอบ สามารถกระจายเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะครัวเรือนยากจน 

มะระขี้นกสาเกต101 ขายได้ราคาเพิ่มเท่าตัว

ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า การทำโมเดล การเกษตรต้นน้ำมูลค่าสูงของมะระขี้นก เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยเป็นการพัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก เพื่อให้ได้สารสำคัญคือ ชาแรนตินในปริมาณที่สูงขึ้น

 ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนา คือ มะระขี้นกสาเกต 101 ทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และสามารถให้สารชาแรนตินมากกว่าเดิม ประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้ราคามะระขี้นก เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการยกระดับรายได้ของคนในจังหวัด สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก

\"มะระขี้นก\" ผักริมรั้ว  มูลค่าสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่า ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ มะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส  เป็นต้น  เป็นการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูงสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ  ที่มีความมุ่งมั่นในการผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ

โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเปลี่ยนเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆที่มีมูลค่าสูง เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพร เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรไทย

มะระขี้นกสาเกต 101 ซื้อขายแล้ว 250 ล้านบาท

ด้านนายสมประสงค์  พยัคฆพันธ์ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีประเทศไทย ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม(Cluster) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้การสนับสนุนของบพท. กล่าวว่า  ล่าสุดมีบริษัทผู้ผลิตสมุนไพรรายใหญ่ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการการผลิตมะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่แล้ว ได้แก่ บริษัทสยามวิสดอม จำกัด มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท เจียเก๋อ เกาซัว เมดิคอล เทคโนโลยี(เซี่ยงไฮ้) สาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่าซื้อขายทั้งหมด 250 ล้านบาท

และบริษัท ซีเอ็มเอช ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผลิตและจำหน่ายสมุนไพรสุขภาพระดับโลกที่มุ่งเน้นด้านคุณภาพ ส่งเสริมชุมชน เป็นมิตรกับท้องถิ่น พร้อมนำวัตถุดิบจากมะระขี้นกสายพันธุ์สาเกต 101ผลิตเป็นยารักษาเบาหวานต่อไป

ดร.รัฐวิชญ์ สิริอมรสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีเอ็มเอช ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนด้านการผลิตมะระขี้นกสายพันธุ์สาเกต 101 บริษัทมีแผนรองรับด้านการผลิต โดยนำมะระขี้นกสายพันธุ์สาเกตมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเบาหวานต่อไป