“กระท่อม” 2 ปีปลดล็อก แต่ “ผลิตภัณฑ์กระท่อม” กลับติดล็อก

“กระท่อม” 2 ปีปลดล็อก แต่ “ผลิตภัณฑ์กระท่อม” กลับติดล็อก

ปลดล็อก "กระท่อม" 2 ปี  ผลิตภัณฑ์กระท่อมไม่เกิด มูลค่าเศรษฐกิจไม่โต มีแต่ขายน้ำกระท่อมเกลื่อนริมทาง เหตุจากติดข้อกำหนดอย. อนุญาตใส่สารสำคัญต่ำมาก กินแล้วไม่ได้ประโยชน์ เชื่อรัฐหนุนเจาะกลุ่มชูกำลัง-บูสเตอร์ไทยเบอร์ 1โลก

KEY

POINTS

  • กระท่อมปลดล็อกจากยาเสพติดมา 2 ปี  มีแต่คนปลูกเพิ่มขึ้น  ขายน้ำริมทาง แต่ไร้ผลิตภัณฑ์กระท่อม จำหน่าย ส่งออก ในการที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • ภาคธุรกิจเผยผลิตภัณฑ์กระท่อม เพราะติดล็อกข้อกำหนดอย. ต้องมีปริมาณไมทราไจนีนสารสำคัญของพืชกระท่อมไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม  ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำไม่ได้ประโยชน์ 
  • มั่นใจรัฐผลักดันผลิตภัณฑ์กระท่อมจริงจัง ส่งเสริมเจาะกลุ่มชูกำลัง บูสเตอร์  จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยเบอร์ 1 คลองตลาด ทั่วโลก เพราะกระท่อมเป็นพืชแถบถิ่นอาเซียน

ตามพ.ร.บ.พืชกระท่อม 2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2565 โดยเป็นการปลดล็อก “ใบกระท่อม” ให้ขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่กรณีผลิตภัณฑ์กระท่อม การใช้ใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึง การนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณาให้เป็นไปตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด ห้ามขายใบกระท่อม หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี, สตรีมีครรภ์ ,สตรีให้นมบุตรและ บุคคลอื่นใดตามที่รมว.ยุติธรรมและรมว.สาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด โดยให้ผู้ขายมีหน้าที่ปิดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่ขาย ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคล

หากจะนำใบกระท่อมมาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กระท่อมทั้งสมุนไพร อาหารและเครื่องสำอาง จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ทว่า  หลังปลดล็อกกระท่อมมา 2 ปี ปัจจุบันประเทศไทย

  • มีแปลงปลูกพืชกระท่อม 13,912 แปลง
  • พื้นที่ประมาณ 34,514.09 ไร่
  • ต้นกระท่อมมากกว่า 2 ล้าน 25 แสนต้น 
    สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นมีการ “ขายน้ำกระท่อมริมทาง” โดยไม่ผ่านการขออนุญาตใดๆ ถือว่าผิดกฎหมาย 

น้ำกระท่อม ตรวจพบการปนเปื้อน

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมี.ค. พ.ศ. 2567 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำกระท่อมจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย จำนวน 52 ตัวอย่าง พบว่าน้ำกระท่อมทุกตัวอย่าง มีปริมาณสารไมทราไจนีนเกินค่าที่ อย. แนะนำที่ 0.2 มิลลิกรัม โดยพบในช่วงความเข้มข้น 22.5 - 352.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 109.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

  • สำหรับสารเสพติดและยาแผนปัจจุบันที่อาจมีการปลอมปนนั้น ไม่พบน้ำกระท่อมที่ผสมสารโคเดอีน แต่พบยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ คลอเฟนิรามีน 10.3 % และ ไดเฟนไฮดรามีน  17.9 %
  • ตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 144 สาร พบการตกค้าง 23.1 %ได้แก่ อะซีทามิพริด ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ใช้ป้องกันและกำจัดเพลี้ย 19.2 % คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารกลุ่มเบนซิมิดาโซล ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา 3.8 %
  • การวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา พบว่า  80 %ของตัวอย่างทั้งหมด มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มมากที่สุด  79.2 %รองลงมาคือ ยีสต์และรา พบในสัดส่วน 59.6% และเชื้ออีโคไล 19.2 %

“ขอย้ำเตือน นักดื่มน้ำกระท่อม การได้รับสารไมทราไจนีนในปริมาณสูง การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน การปนเปื้อนจุลินทรีย์ หรือสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง หากบริโภคเป็นระยะเวลานาน และมีความถี่ในการบริโภคสูง ทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำกระท่อม อาจจะก่อให้เกิดอาการมึนเมาและเกิดการทะเลาะวิวาทได้ เป็นต้น”นพ.ยงยศกล่าว

ผลิตภัณฑ์กระท่อม อนุญาตสารไมทราไจนีนต่ำเกิน

แต่ในส่วนผลิตภัณฑ์กระท่อม ที่มีใบกระท่อมเป็นส่วนประกอบกลับไม่ได้ออกมาสู่ตลาด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  อย.ได้จัดทำคำแนะนำการพัฒนาและขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพน้ำใบกระท่อม โดยกำหนดให้มีปริมาณสารไมทราจีนีนที่ได้รับไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการกำหนดตัวเลขดังกล่าวนี้ ได้มาจากการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังในสัตว์ทดลอง และนำมาคำนวณจนได้ขนาดสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวันโดย ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายของคนปกติทั่วไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกระท่อมที่นอกเหนือจากที่กำหนดในคำแนะนำ โดยจะพิจารณาอนุญาตจากเอกสารหลักฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ยื่นมา

กรณีการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอนุญาตให้ใช้สารไมทราจีนีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น อนุญาตไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นปริมาณที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่หากผู้ผลิตอาหารต้องการเพิ่มปริมาณการใช้เกินกว่า 0.2มิลลิกรัมต่อวัน  ต้องประเมินความปลอดภัยของอาหารกับหน่วยประเมินที่อย.ให้การยอมรับ
“กระท่อม” 2 ปีปลดล็อก แต่ “ผลิตภัณฑ์กระท่อม” กลับติดล็อก

ผลิตภัณฑ์จากกระท่อม ควรเพิ่มปริมาณสารไมทราไจนีน

ขณะที่สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ใบกระท่อมขายได้เป็นพืช แต่พอจะขึ้นทะเบียนอย.เป็นผลิตภัณฑ์กระท่อม ทำเป็นเครื่องดื่ม เป็นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ  จะใส่สารไมทราไจนีนได้แค่ 0.2 มิลลิกรัมเป็นปริมาณที่น้อยกว่าการเคี้ยวใบกระท่อม น้อยมากจนอุตสาหกรรมไม่สามารถทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ พออุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน GMP ทำไม่ได้  ก็เกิดเป็นการต้มน้ำกระท่อมมาวางขายตามริมทาง แต่คนไม่ได้กินน้ำกระท่อมจากโรงงานที่มีมาตรฐาน

“หากอ้างอิงวิทยาศาสตร์ อย.มีผลการศึกษาความปลอดภัยของกระท่อม กืนได้ถึง 200 มิลลิกรัมต่อวัน  แต่อย.ให้ใส่ได้แค่ 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณกินแล้วไม่ได้ผล คนก็ไปกินริมทาง ซึ่งอย.บอกเอกชนอยากทำให้ใส่ได้ 20 มิลลิกรัมหรือ 100 มิลลิกรัม ก็ให้วิจัยเองแล้วคนวิจัยก็จะมีสิทธิบัตรก็จะกลายเป็นล็อกให้รายเดียว แต่ผู้ผลิตรายเดียวจะไปซื้อกระท่อมจากเกษตรกรปริมาณมากได้อย่างไร”สิทธิชัยกล่าว

สิทธิชัย กล่าวอีกว่า อย.ต้องกำหนดปริมาณสารไมทราไจนีนที่อนุญาตให้ใส่ในผลิตภัณฑ์กระท่อมเพิ่มขึ้น สมมติถ้าจะทำกระท่อมเป็นอาหารเสริมให้ใช้ได้ 10 -50 มิลลิกรัม เป็นสมุนไพรให้ 100-200 มิลลิกรัม แต่หากจะใช้ 200 มิลลิกรัมต้องเป็นยาสมุนไพรที่ขายในร้านขายยาเท่านั้น เป็นต้น

หากอย.ประกาศแบบนี้ ประเทศไทยดำเนินการตรงนี้ให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการ เกษตรกร จะอยู่ได้ทั้งอุตสาหกรรม โดยคำตอบเรื่องกระท่อมคือเพิ่มโดสของสารไมทราไจนีนให้ได้ จะไม่มีกระท่อมที่ไม่ปลอดภัยอยู่ริมถนนและส่งออกได้ด้วย โดยข้อดีต่อประเทศไทยคือทั่วโลกใช้คำว่า kradomหรือ กระท่อมที่เป็นภาษาไทย เพราะเป็นพืชที่มีแค่ประเทศไทย ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ผลิตภัณฑ์กระท่อม รัฐต้องส่งเสริมจริงจัง

ถ้าประเทศไทยทำกระท่อมให้โดสเท่ากับที่ทั่วโลกใช้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ให้ใช้สารไมทราไจนีน 10,20,100 มิลลิกรัม และเดิมซื้อกระท่อมจากอินโดนีเซียเพื่อไปใช้เกี่ยวกับพลังงาน เอเนอจี้ บูสเตอร์เพิ่มพลังงาน หรือเป็นโอปิออยด์ลดการอยากยาเสพติดประเภทอื่น 

“กระท่อม” 2 ปีปลดล็อก แต่ “ผลิตภัณฑ์กระท่อม” กลับติดล็อก

ดังนั้น ทั่วโลกจะต้องมาซื้อผลิตภัณฑ์กระท่อมจากประเทศไทยที่กระท่อมถูกกฎหมาย มีการส่งออก ก็จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด คนทำแบรนด์ร่ำรวย คนปลูกอยู่รอด ไม่ต้องไปขายริมถนน แต่ขายเข้าโรงงานเพื่อส่งออกทั่วโลก

รัฐบาลหรือรมว.สาธารณสุขคนปัจจุบันที่ผลักดันปลดล็อกกระท่อม ควรสนับสนุนกระท่อมให้เต็มที่ กำหนดเพิ่มโดสสารไมทราไจนีน ทำให้เกิดผลิตยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง สมุนไพรแล้วส่งออกให้ได้ กระท่อมจะเป็นพืชอีกตัวที่ทำให้ประเทศไทยดังไปทั่วโลก เพราะชื่อกระท่อมเป็นภาษาไทย คิดถึงกระท่อมต้องมาประเทศไทย พูดเรื่องกระท่อมไทยก็ชนะ เหมือนพูดคำว่าโสมเกาหลีใต้ก็ชนะ

ผลิตภัณฑ์กระท่อม ซอฟต์พาวเวอร์เจาะกลุ่มชูกำลัง

สิทธิชัย กล่าวด้วยว่า  ไทยแลนด์ซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าบรรจุเรื่องสมุนไพรแล้วมีกระท่อม โดยการแข่งขันกีฬา เช่น วิ่งมาราธอน เทนนิส และกีฬาต่างๆ โดยประเทศไทยเป็นสปอนเซอร์กระท่อม เพราะกระท่อมไม่ได้ติดดรักลิสต์ ไม่ใช่ยาโด๊ป ถ้านักกอล์ฟ นักเทนนิส นักวิ่งมาราธอน กินกระท่อม จะทำให้ประเทศไทยดังระเบิดเรื่องผลิตภัณฑ์ชูกำลังเหมือนกระทิงแดง หรือคาราบาวแดง

รวมถึง เรื่องบูสเตอร์แทนที่จะต้องกินคาเฟอีนที่ต้องนำเข้า หรือกาแฟซึ่งทั่วโลกมีหมด แล้วใช้กระท่อมแทนที่มีแต่ประเทศไทย ทั่วโลกต้องมากินที่ไทย แต่ซอฟต์พาวเวอร์กระท่อมไม่มีใครลอกได้ ต้องประเทศไทยเท่านั้น 

“ตอนนี้ซัพพลายเออร์กระท่อมที่มาติดต่อผมรวมกัน 3 ล้านต้น แต่ไม่มีที่ไป มาขอร้องทุกวันให้ซื้อ แต่ผมก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไม ผลิตได้แค่ 0.2 มิลลิกรัม มันขายไม่ได้ เหมือนน้ำเปล่าไม่ได้ผลอะไรเลย คนทำงานออฟฟิตต้องการกินกระท่อมเพื่อลดน้ำตาล หรืออยากให้ตื่น หรือจะไปตีกอล์ฟ จะให้เคี้ยวแบบใบกระท่อมคงไม่ไหว หรือซื้อน้ำที่ขายริมทางก็ไม่ซื้อ แต่ถ้ามีผลิตภัณฑ์ดีๆเราก็กล้ากิน”สิทธิชัยกล่าว