ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

ขณะนี้มีหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่ม ซึ่งจากภาพถ่ายดาวเทียม ล่าสุดของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

KEY

POINTS

  • เมื่อเกิดน้ำท่วม สิ่งแรกที่ควรทำ คือการตั้งสติ ทำใจให้สงบ การโทษตัวเองจากภัยทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ทุกด้าน
  • ควรติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสัญญาณเตือนความผิดปกติต่าง ๆ จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสำเร็จรูป หรือยาที่จำเป็น โทรศัพท์ รวมถึงเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ
  • การดูแลสุขภาพ เริ่มจากร่างกายสะอาด อาบน้ำ ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาด กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด ห้ามอุจจาระลงน้ำท่วม และป้องกันอุบัติภัยจากสัตว์มีพิษ ไฟฟ้าช็อต ลื่นล้ม หากมีบาดแผล มีไข้เฉียบพลัน รีบพบแพทย์

ขณะนี้มีหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่ม ซึ่งจากภาพถ่ายดาวเทียม ล่าสุดของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า จ.เชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ยังมีน้ำท่วมขัง รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 471,206 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 252,362 ไร่ ลักษณะของพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่ชุมชน และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ในช่วงวันที่ 16-26 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 13 จังหวัดภาคเหนือและภาคใต้ ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,953 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย

ล่าสุด แจ้งเตือน 43 จังหวัด ในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สถานการณ์ ‘น้ำท่วม 2567’ มวลน้ำใหญ่ไหลผ่านสุโขทัยแล้ว น้ำโขงเสี่ยงล้นตลิ่ง

น้ำท่วม  สธ.เผยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย สะสม 29 ราย 

เตรียมพร้อม ดูแลตัวเองเมื่อน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมนอกจากสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนแล้ว  ยังมีเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องระวัง พญ.ภัทราวลัย สิรินารา แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า การเตรียมพร้อมล่วงหน้า เพื่อป้องกันแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • ติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสัญญาณเตือนความผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
  • จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสำเร็จรูป หรือยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ ยารักษาโรคประจำตัว ให้เพียงพอต่อการยังชีพได้อย่างน้อย 3-5 วัน
  • จดหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน 
  • 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
  • 1784 สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
  • ศึกษาแนวทางการอพยพและแผนปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของหมู่บ้าน หรือชุมชน
  • เตรียมกระสอบทราย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำ
  • มองหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับฝากเด็ก คนชรา สัตว์เลี้ยงพร้อมอาหารที่จำเป็น และยานพาหนะ
  • เตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบไฟสำรอง
  • เขียนหรือระบุที่ฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่า ตัวใดควบคุมการใช้ไฟฟ้าจุดใดในบ้าน
  • จัดเตรียมอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง โทรศัพท์มือถือ กรณีการติดต่อขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉิน 
  • เรียนรู้เส้นทางการอพยพ ไปที่ปลอดภัยในพื้นที่
  • ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

ระวัง 6 โรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือน โรคที่มากับน้ำ 6 ภัยร้ายอันตรายต่อสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อันได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า, โรคไข้เลือดออก, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคตาแดง,โรคฉี่หนู และ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร

โรคน้ำกัดเท้า

  • อาการ : ผู้ป่วยอาจรู้สึกเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังมีอาการลอกเป็นขุย บางรายอาจผิวหนังอักเสบ บวมแดง หรือเป็นผื่นแผลพุพอง เท้าเปื่อย เท้าเป็นหนอง

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการแช่ การลุยน้ำ ลุยโคลน
  • สวมรองเท้าบู๊ทเมื่อต้องลุยน้ำ
  • หากจำเป็นต้องลุย รีบล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็ว
  • หากมีบาดแผลใช้แอลกอฮอล์เช็ด และทายาฆ่าเชื้อ

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

โรคไข้เลือดออก

  • อาการ : ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงลอย 2-7 วัน อุณหภูมิสูงกว่าปกติตลอด 24 ชั่วโมง โดยอุณหภูมิสูงและต่ำสุดต่างกันไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส มีอาหารปวดศีรษะ ปวดเมื่อตามตัว มีจุดเลือดสีแดงตามผิวหหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร หรืออารกมีเลือดออกตามไรฟัน

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด
  • ทายากันยุง นอนในมุ้ง
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  • กำจัดแหล่งน้ำขัง บริเวณที่พักชั่วคราว

 โรคระบบทางเดินหายใจ

  • อาการ : ผู้ป่วยจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรศะ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

การป้องกัน

  • รักษาร่างกายให้แห้งและอบอุ่นโดยเสมอ
  • เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
  • รักษาสุขอนามัยอย่างดี
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำสะอาด
  • ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
  • หากมีอาการนานเกิน 7 วันรีบไปพบแพทย์

โรคตาแดง

  • อาการ : ผู้ป่วยที่มีอาการตาแดง จะเริ่มจากการรู้สึกระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล ตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตามากกว่าปกติ เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ตาสู้แสงไม่ได้

การป้องกัน

  • ล้างตาด้วยน้ำสะอาด เมื่อมีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเข้าตา
  • ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือสกปรก เมื่อรู้สึกระคายเคือง
  • แยกตัวจากคนอื่นเมื่อมีอาการตาแดง
  • แยกของใช้ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้ป่วยตาแดง

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

 โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส

  • อาการ : ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา หรือหลัง ปวดศีรษะ ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง เจ็บคอ เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง รวมถึงมีอาการปัสสาวะน้อย

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการแช่ การลุยน้ำ ลุยโคลน
  • สวมรองเท้าบู๊ทเมื่อต้องลุยน้ำ
  • หากจำเป็นต้องลุย รีบล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็ว
  • ดูแลที่พักไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อ

โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร อาทิ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ

  • อาการ : ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินอาหาร จะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร หรือมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

การป้องกัน

  • ทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก
  • ดื่มน้ำสะอาด น้ำที่มีฝาปิด หรือน้ำต้มสุก
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง
  • ระวังการขับถ่ายส่วนตัวเป็นประจำ

ทั้งนี้ นอกจากอันตรายจาก โรคที่มากับน้ำ ภัยร้ายต่อสุขภาพที่ต้องระวัง เมื่อเกิด น้ำท่วม 2567 แล้ว ยังมีอุบัติเหตุและการถูกกัดจากสัตว์มีพิษร้ายที่ควรต้องระวังช่วง น้ำท่วม เช่น อาการไฟดูด, จมน้ำ หรือเยียบของมีคอม รวมถึงต้องะระวังงู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาอาศัยบริเวณบ้านเรือนอีกด้วย

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

หลักสุขบัญญัติป้องกันโรคและภัยสุขภาพ 

1.ร่างกายสะอาด อาบน้ำ ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาด ระวังอย่าให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ถ้าลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ต

2.กินอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด

 3.หยุดการแพร่ระบาด ด้วยการถ่ายลงส้วม ห้ามถ่ายลงน้ำที่ท่วมอยู่ ทิ้งขยะต้องปิดปากถุงให้มิดชิด

4.ป้องกันอุบัติภัย จากสัตว์มีพิษ ไฟฟ้าช็อต ลื่นล้ม หากมีบาดแผลเป็นแผลอักเสบ เป็นหนอง มีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษาทันที

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเกิดน้ำท่วม

  • งดเล่นน้ำ หรืออยู่ใกล้ทางน้ำหลาก
  • ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือบริเวณที่มีน้ำหลาก ให้ออกจากรถและไปอยู่ที่สูงทันที
  • สอนให้เด็กเล็กรู้จักป้องกันตนเอง เช่น ขณะน้ำท่วม ไม่สัมผัสปลั๊กไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

วิธีรับมือน้ำท่วม หลังน้ำลด ทางด้านร่างกายและจิตใจ

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อระดับน้ำลดลง สมาชิกครอบครัวอาจเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ต้องใช้เวลาในการเยียวยาเพื่อกลับสู่สภาวะปกติ โดยมีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้

  • ให้เวลากับครอบครัว เพราะความอบอุ่นในครอบครัวจะช่วยเยียวยาได้ดี
  • พูดคุยปัญหากับครอบครัว ร่วมแบ่งปันความกังวล เพื่อระบายและผ่อนคลายความเครียด
  • พักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • จัดลำดับสิ่งที่ต้องทำ ตามลำดับก่อนหลัง ตามลำดับความสำคัญที่ทำได้
  • ขอความช่วยเหลือกับจิตแพทย์ หากรู้สึกว่าอาการหนักเกินกว่ารับมือได้
  • ดูแลสมาชิกที่อาจมีอาการหวาดกลัว ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้ว และเกาะติดตลอดเวลา เพราะเพิ่งผ่านเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตมา
  • ระวังสุขลักษณะอนามัย เมื่อกลับไปอาศัยในพื้นที่เคยน้ำท่วม

เมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว อันดับแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ ทำใจให้สงบ การโทษตัวเองจากภัยทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ทุกด้าน ของที่เสียไปแล้วมันสามารถสร้างใหม่ได้ จากนั้นค่อย ๆ ไล่ลำดับความสำคัญ ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง อิงจากลำดับความเร่งด่วนของสิ่งที่ต้องทำ หากวางแผนทุกอย่างเรียบร้อยก็ให้เริ่มต้นตามกำหนดการดังกล่าว ทั้งนี้ก่อนการกลับเข้าไปอยู่ในที่พักอาศัยเดิม ต้องตรวจสอบความเรียบร้อยอื่นก่อนว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง

ใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพกาย- ใจอย่างไร? ทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม

ขั้นตอนการตรวจสอบที่พักอาศัย หลังสถานการณ์น้ำลด

  1. ปรับจูนคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อติดตามการรายงานสถานการณ์
  2. ติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อประเมินความเสียหาย และซ่อมแซม
  3. ถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้ เพื่อทำการเบิกเงินคืนจากประกัน
  4. ตรวจรอบบ้าน เช็กสายไฟ ถังแก๊ส
  5. ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างบ้าน ตัวบ้าน ระเบียง หลังคา
  6. เข้าบ้านด้วยความระวัง และไม่ใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดประกายไฟ
  7. เก็บกู้สิ่งของมีค่า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
  8. เก็บกวาด ทำความสะอาดบ้าน ระบายอากาศเสีย
  9. ตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างบ้าน และซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย
  10. เก็บกวาดกิ่งไม้หรือสิ่งปฏิกูลอื่นภายในบ้าน
  11. ตรวจหารอยแตก รอยรั่วของท่อน้ำ และไม่ควรใช้น้ำจนกว่าจะซ่อมแซม
  12. ระบายน้ำออกช้า ๆ ระวังแรงดันน้ำภายนอกทำให้เกิดรอยแตก
  13. กำจัดตะกอนที่มาจากน้ำ แหล่งเพาะเชื้อโรค

แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำ

ความร่วมมือร่วมใจและช่วยเหลือกันในชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด เช่น การไม่ลักลอบตัดต้นไม้ การไม่ทำลายป่า ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำธาร คลอง ที่เป็นตัวช่วยในการป้องกันน้ำท่วมในระดับหนึ่ง ถึงแม้น้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แต่สามารถทำให้ความรุนแรงลดลงได้ หากร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หากต้องตกเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม การกลับเข้าสู่สภาพเดิมที่คล่องตัวโดยเร็วเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการจัดการที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง วิธีรับมือน้ำท่วม หลังน้ำลด ลำดับต่อไปคือ การพยายามเข้าถึงและสิทธิ์ที่ควรได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถใช้ชีวิตต่อได้ ทั้งที่เพิ่งเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ การรับความช่วยเหลือจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

อ้างอิง : ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ,ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ADPC  ,อนามัยมีเดีย ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย