ผิวสวยหน้าใสด้วย "มังคุด" ศาสตร์ความงามที่สาวๆ พลาดไม่ได้
ปัจจุบันตลาดความงามของประเทศไทยมีมูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาทและเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องทุกปี หลายๆ องค์กร
KEY
POINTS
- ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
- "มังคุด" เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใช้รักษาสิว คุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติ ช่วยให้ผิวของคุณดูอ่อนเยาว์ได้ ช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิว และต่อสู้กับโรคผิวหนัง
- การนำเปลือกมังคุดมาใช้ประโยชน์ภายนอกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดการแพ้ อาการข้างเคียง และขนาดที่ปลอดภัย
ปัจจุบันตลาดความงามของประเทศไทยมีมูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาทและเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องทุกปี หลายๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา ภาครัฐอย่างนาโนเทค หรือภาคเอกชน ต่างให้ความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดความงาม
อย่าง "สารสกัดจากมังคุด" ผลไม้ที่ได้รับขนานนามว่า เป็น "ราชินีแห่งผลไม้" ที่ได้มีการศึกษาวิจัย คิดค้น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม การดูแลผิวพรรณสำหรับสาวๆ อาทิ
ผลิตภัณฑ์แผ่นแปะสิว (Q-Acnes) หรือคิว แอคเน่ ของนาโนเทค ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย โดยได้มีการถ่ายทอดให้แก่เอกชนเพื่อผลิตเป็นสินค้าออกวางจำหน่ายคาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ในปี 2557
ผลิตภัณฑ์ Nora serum “เซรั่มจากสารสกัดเปลือกมังคุดและส้มแขก” ของนักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีฤทธิ์ในการลดริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ และยับยั้งแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
“PHARM2GM เซตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดเปลือกมังคุด”ผลงานวิจัยของนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในขณะนี้มีสินค้า ผลิตภัณฑ์ความสวยความงามที่สกัดจากมังคุดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เซรั่ม ครีมแต้มสิว ครีมบำรุง หรือน้ำมังคุด เพื่อดูแลสุขภาพและความงาม หน้าใสไร้สิว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ม.วลัยลักษณ์ พัฒนา 'Nora serum' สารสกัดจากเปลือกมังคุด-ส้มแขก
"มังคุด" บำรุงผิวพรรณ ช่วยรักษาโรค
“มังคุด (Mangosteen)” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก
สรรพคุณตามตำรายาไทยของมังคุดระบุไว้ว่า
- ราก ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รักษาโรคบิดมูกเลือด
- ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด
- เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล
- ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด
- เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย
- เนื้อในผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความเป็นพิษของการนำเปลือกมังคุดมาใช้สำหรับบริโภค ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดที่ใช้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับของสารกลุ่มแซนโทนที่พบในเปลือกมังคุด
สำหรับการรับประทานเนื้อมังคุดสด ถึงแม้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงเล็กน้อย แต่รสชาติก็หวานอร่อยถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ มังคุดยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เปลือกมังคุดซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว
รวมคุณประโยชน์ของมังคุดด้านผิวพรรณ
มังคุดมีคุณประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของผิวพรรณ ที่จะช่วยรักษาสิวและปรับสภาพผิวหน้าให้ดีขึ้นได้
- มังคุดรักษาสิว
หากคุณเบื่อกับความทุกข์ทรมานจากสิวและต้องการวิธีแก้ไขด่วนหรือไม่? เรื่องสิว จะเป็นเรื่องสิว ๆ เพราะมังคุดเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใช้รักษาสิว คุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติที่มีอยู่ในผลไม้นี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการรักษาความไม่สมบูรณ์ของผิว รวมทั้งสิว ไม่ว่าจะเป็นผิวแห้ง หรือผิวมัน
- มังคุดมีคุณสมบัติต่อต้านริ้วรอย
มังคุดสามารถช่วยให้ผิวของคุณดูอ่อนเยาว์ได้ ผ่านสารที่อยู่ในมังคุด ช่วยต้านการอักเสบและทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ลดสารพิษ และลดความเสี่ยงของการเกิดสิว นอกจากนี้ มังคุดยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งต่อสู้กับสารออกซิแดนท์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการแก่ก่อนวัย
- มังคุดช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิว
เพราะมังคุดประกอบด้วยแซนโทน สารประกอบนี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบเท่านั้น แต่ยังช่วยต่อสู้กับโรคผิวหนัง ซ่อมแซมและปกป้องเซลล์ผิวที่เสียหายด้วย
ผลิตภัณฑ์ความงามจากมังคุด ผลงานจากนักวิจัย
นอกจากนั้น ในส่วนของนักวิจัยได้มีการพัฒนา คิดค้นงานวิจัย และนวัตกรรมจากมังคุด นำมาสู่การสร้างสรรค์สินค้า และผลิตภัณฑ์ความงามจากสารสกัดมังคุด
ผศ.มรกต ชาตาธิคุณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์และสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Innovation and Health Products มวล. เปิดเผยว่า ตนเองและทีมนักวิจัยจากมวล.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดจากเปลือกส้มแขกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
"โดยผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า สารสกัดจากเปลือกส้มแขกที่สกัดด้วยน้ำมีปริมาณ ฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในการสร้างเมลานินในผิวหนังชั้นนอกสุด สาเหตุของการเกิดฝ้า กระ และจุดด่างดำบนผิวหนัง และยังมีฤทธิ์ยับยั้ง เมลานินในเซลล์เมลาโนไซต์ชนิด B16F10 ที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเมลาโนไซต์สติมูเลติง ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Journal ปี 2020"
ส่วนผลการวิจัยในเปลือกมังคุดพบว่า มีปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูง ซึ่งประกอบด้วย สารแซนโทนและสารแทนนินเป็นองค์ประกอบหลัก มีฤทธิ์ในการต้านสารอนุมูลอิสระสาเหตุของการเกิดริ้วรอยและยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวได้ ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงได้นำสารสกัดจากผลไม้ทั้งสองชนิดนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นาโนอิมัลชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง
โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ที่สำคัญได้ผ่านการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและการทดสอบการระคายเคืองจากอาสาสมัครจำนวน 24 คน และผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก ผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษาปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติด้วย
จากนั้นทีมนักวิจัยได้นำสารสกัดจากเปลือกมังคุดและส้มแขกมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มาส์กหน้า โดยใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชันและเซรั่ม (Nora serum) ที่มีคุณสมบัติในการลดริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว ลดปัญหาผิวที่เกิดจากการสะสมของสารเคมี โดยไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และพาราเบน
ขณะเดียวกันตนได้เป็นที่ปรึกษาให้กับทีม Mora bright ซึ่งมีสมาชิกในทีม ได้แก่ 1. นายพิทักษ์สิทธิ์ ทรัพย์เจริญ 2. นางสาวพัชราภรณ์ พรมลัทธิ์ 3.นายอิทธิ คงแก้วและ 4.นางสาวอาทิตยา เพชรรัตน์ นักศึกษาสาขาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มวล. ซึ่งนักศึกษาได้เป็นตัวแทนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาส์กหน้าในโครงการ Startup Prototype Showcases of the Entrepreneurial university และคว้ารางวัลชนะเลิศ ทุนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จากโครงการ Walailak Enterpreneurial Ecosystem Development 2020 จากผลิตภัณฑ์เซรั่ม อีกด้วย
“ผลงานวิจัยดังกล่าว ร่วมกันค้นคว้าวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้งานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมังคุดและส้มแขกที่ผลผลิตราคาตกต่ำในบางฤดูกาล และการนำเอาสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่มักถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่ามาพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยและได้แจ้งจด อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
เซตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดเปลือกมังคุด
ขณะที่ ศ.ดร.ภญ.กนกวรรณ จารุกำจร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเสวนานำเสนอผลงานวิจัย “PHARM2GM เซตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดเปลือกมังคุด” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเด่นมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้แนวคิด BGC Model และ Waste to Value ที่บูธ RUN Expo 2022 (Research University Network) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 Thailand Research Expo 2022 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดยผลงาน PHARM2GM เซตผลิตภัณธ์บำรุงผิวจากสารสกัดเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต้านออกซิแดนซ์ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านจุลชีพ และมีฤทธิ์สมานผิว จึงเหมาะสำหรับการเป็นเครื่องสำอางดูแลผิวพรรณ ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ โฟมล้างหน้า PHARM2GM Facial Cleansing Foam, สเปรย์บำรุงผิวหน้า PHARM2GM Facial Mist, เซรั่มบำรุงผิวหน้า PHARM2GM Intensive Serum และ รองพื้นเนื้อเซรั่ม PHARM2GM Intensive Serum Foundation
นอกจากนั้น ปัจจุบันยังมีการศึกษานำเปลือกมังคุดมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก
- เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก
- มีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าได้ผลดี
อย่างไรก็ตามการนำเปลือกมังคุดมาใช้ประโยชน์ภายนอกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดการแพ้ อาการข้างเคียง และขนาดที่ปลอดภัย จะเห็นได้ว่ามังคุดนอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน สมกับเป็นราชินีแห่งผลไม้ของไทยจริงๆ
อ้างอิง: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ,NSTDA-สวทช.,กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น