คุยกับ Claude AI เรื่องสุขภาพ (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ผมคุยค้างเอาไว้กับ Claude AI ครั้งที่แล้ว เกี่ยวกับการออกกำลังกาย โดยที่ Claude ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่ผมต้องการวิ่งอาทิตย์ละ 30 กิโลเมตรต่อเนื่องไปอีก 20 ปี (เพราะปัจจุบัน ผมอายุเกือบ 68 ปีแล้ว)
โดยบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการวิ่งออกกำลังกาย เพื่อให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงแต่เพียงอย่างเดียว และควรระมัดระวังว่า การวิ่งนั้นมีแรงกระแทกสูง กล่าวคือ ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายประเภทยกน้ำหนัก และการทำให้ร่างกายยืดหยุ่นและมีความสมดุลด้วย
ผมถามต่อไปว่า หากจะเปลี่ยนจากการวิ่ง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเดินเร็วจะได้ไหม ซึ่ง Claude ตอบว่า การเดินจะเป็นกิจวัตรหลักที่ดีเยี่ยม (excellence main routine) เป็นการรักษาสุขภาพให้ดีตลอดไปสำหรับคนที่อายุ 68 ปี จะทำให้ร่างกายแข็งแรงต่อไปได้อีกนับ 20 ปี
โดยอธิบายว่า การเดินเร็ว มีข้อดี 7 ประการ เช่น ไม่กระแทกข้อต่อกระดูก จะทำให้กระดูกแข็งแรง สามารถทำได้โดยง่าย ทำได้ยาวนานและทำให้จิตใจเบิกบาน นอกจากนั้นยังจะช่วยควบคุมให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ และทำให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง
ผมเปลี่ยนไปถาม Claude ว่า โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอะไร ที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด Claude ตอบว่า “โรคหัวใจ” เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก มีค่ารักษาพยาบาลสูง และส่งผลกระทบในเชิงลบกับคุณภาพชีวิตอย่างมาก
แต่จากการที่ผมอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพมาหลายปีนั้น คำตอบในใจผมคือโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานที่จะลุกลามเป็นโรคอื่นๆ รวมทั้งโรคหัวใจ
ผมถามต่อไปว่า ผมจะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้หรือไม่ Claude รับว่า โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก (major risk factor) สำหรับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease - CVD)
โดยกล่าวว่า คนที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็น CVD เพิ่มขึ้นถึง 2-4 เท่า แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คือ ความดันเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และการดื่มสุรามากเกินไป
แต่หากแยกแยะปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่า เป็นปัจจัยเดียวกันกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน เช่น โรคเบาหวานทำให้ความดันและคอเลสเตอรอลสูง และ การกินมากเกินไปและการไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดภาวะอ้วน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงเป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคหัวใจ
อีก 2 ปัจจัยเสี่ยง คือการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ผมจึงถาม Claude ต่อไปว่า การสูบบุหรี่นั้นทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นหรือไม่
คำตอบคือ คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 30-40% แต่หากสูบหนัก (มากกว่า 20 มวนต่อวัน) ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-70%
ทั้งนี้ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดอาการดื้ออินซูลิน (ที่ร่างกายใช้เอาน้ำตาลออกจากเส้นเลือด ไม่ให้ระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสูงเกินไป) ทั้งยังจะเพิ่มการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวานและเพิ่มปริมาณไขมันที่ท้องอีกด้วย
สำหรับการดื่มสุรากับโรคเบาหวาน Claude ตอบว่า ความสัมพันธ์มีความสลับซับซ้อน (complex) คือ การดื่มสุราโดยเฉพาะการดื่มไวน์แดงอย่างจำกัด (ดื่ม 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้วสำหรับผู้ชาย) นั้น
มีงานวิจัยพบว่า อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและการเป็นโรคเบาหวาน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน องค์กรที่กำหนดมาตรฐานในด้านสุขภาพ แนะนำว่า หากยังไม่เคยดื่มสุรา ก็ไม่ต้อง (คิด) เริ่มดื่ม และสำหรับคนที่ดื่มอยู่แล้วก็ขอให้ดื่มในปริมาณที่จำกัด
สำหรับการดื่มสุราและปริมาณมากๆ นั้น ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เช่น งานวิจัยพบว่าการดื่มสุรามากเกินควร สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 50-100% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม สำหรับโรคเบาหวาน คนที่ดื่มสุรามากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยง 50-75% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม
น่าสังเกตว่า ยาประเภท GLP-1 receptor agonist (เช่น Semaglutide) ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน และได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันนั้น
จากการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ยาดังกล่าวพบว่า นอกจากจะช่วยรักษาโรคเบาหวานแล้วก็ยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้อีกด้วย ที่สำคัญคือ ยาประเภทนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต หรืออาการป่วยรุนแรงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 20%
ในความเห็นของผมนั้น เป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันว่า โรคเบาหวานกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น น่าจะมีต้นเหตุและพื้นฐานเดียวกัน ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ ผมขอขยายความ 3 ข้อคือ
1.คนไทยเป็นโรคเบาหวาน 5.2 ล้านคน ( 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป) โดยกว่า 40% ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองป่วย และคนที่ได้รับการรักษาได้สำเร็จมีเพียง 1 ล้านคน ทำให้ปัจจุบันมีคนไทยเสียชีวิตเพราะโรคเบาหวาน 200 คนต่อวัน และมีคนเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ ปีละกว่า 100,000 คน (ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย)
2.ช่วงเริ่มต้นของการเป็นโรคเบาหวานนั้น สามารถตรวจพบได้โดยง่ายจากการวัดระดับน้ำตาลในเลือด แต่การเป็นโรคหัวใจนั้นใช้เวลานับ 10 ปีก่อนที่จะมีอาการ ดังนั้น การ “ป้องกัน” ที่ดีที่สุดคือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
3.ภาวะก่อนเบาหวาน (pre diabetes) น่าจะสามารถควบคุมได้โดยไม่ยากนัก และไม่น่าจะต้องใช้เงินมาก เพราะเป็นเรื่องของการปรับการดำเนินชีวิตเป็นหลัก นอกจากนั้น ความเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวานมักจะเริ่มขึ้นหลังอายุ 35 ปี ก่อนความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มักจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 50 ปี
ข้อสรุปคือ หากเกิดภาวะเบาหวานตอนอายุ 35-40 ปี ก็ให้รีบรักษาให้หาย มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มไปอีกตอนแก่ตัวครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร