สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน(ตอน 6): โรคเบาหวาน
การดูแลตัวเองให้สุขภาพดีและอายุยืนนั้น หากดูจากข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับคนที่อายุยืนถึงร้อยปี สรุปได้ว่า คนกลุ่มดังกล่าว หลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวาน
หมายความว่า หากสามารถหลีกเลี่ยงการเป็น 4 โรคดังกล่าว ก็จะทำให้สุขภาพดีและอายุยืนต่อไปได้เรื่อยๆ และคนที่อายุยืนเป็นร้อยปีจะมีพันธุกรรมพิเศษ ที่น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้เป็นโรคดังกล่าวทั้ง 4 โรค หรือเริ่มเป็นโรคดังกล่าว เมื่ออายุเกือบ 90 ปี หรือมากกว่านั้น
ในทั้ง 4 โรคดังกล่าวข้างต้นนั้น จากการอ่านงานวิจัยมากมายหลายฉบับ ผมมีข้อสรุปว่าโรคที่จะต้องหลีกเลี่ยง และสามารถหลีกเลี่ยงได้มากที่สุดคือ “โรคเบาหวาน” และเมื่อหลีกเลี่ยงโรคนี้ไปแล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อมไปได้อย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเรากินอาหารที่เป็นน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรต (อาหารแป้ง) ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง (sugar spike)
เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นมา ตับอ่อนจะต้องเร่งผลิตอินซูลินออกมา เพื่อเปิดทางให้น้ำตาลในเลือดไหลเข้าไปสะสมอยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อเพื่อควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ แต่เกณฑ์ที่ว่านี้คือ ประมาณ 7 กรัมหรือไม่ถึง 2 ช้อนชา และหากน้ำตาลในเลือดเพิ่มเกินกว่านั้น ก็แปลว่าเราเป็นโรคเบาหวานไปแล้ว
จะเห็นได้ว่า ร่างกายของเราต้องการน้ำตาลน้อยมาก คือประมาณ 6-7 ช้อนชาต่อวัน แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยวันละกว่า 26 ช้อนชา ดังนั้น หากกินน้ำตาลในปริมาณสูงต่อเนื่องยาวนาน ก็จะทำให้ตับอ่อนทำงานหนักมาก และในที่สุด ร่างกายก็จะเข้าสภาวะดื้ออินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ซึ่งจะค่อยๆ ทำลายเส้นเลือดเริ่มจากเส้นเลือดฝอย
ในอีกด้านหนึ่ง หากเรากินอาหารที่มีพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย น้ำตาลส่วนเกินที่ถูกนำไปเก็บสำรองในเซลล์นั้น ก็จะเก็บพลังงาน (ที่นำออกมาใช้ได้โดยง่าย) ในรูปของ glycogen
ซึ่งร่างกายเก็บ glycogen ได้เทียบเท่ากับพลังงาน 2,000-2,400 แคลอรี (เท่ากับพลังงานที่สามารถใช้วิ่งได้ประมาณ 40 กิโลเมตร) หรือเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อที่รวมอาหารหวานด้วย
ปัญหาที่ตามมาคือ หากเรากินอาหารเต็มมื้อ 3 มื้อ (มื้อละ 800-900 แคลอรี) แต่ไม่ได้ออกกำลังกายมากพอ (เช่น วิ่งทุกวัน วันละ 4-5 กิโลเมตร) ก็จะทำให้มี glycogen ส่วนเกินที่ต้องถูกแปลงเป็นไขมัน
โดยไขมันดังกล่าวในขั้นแรกจะถูกนำเอาไปซุกเอาไว้ที่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในกล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นก็จะลามไปสู่การพอกอวัยวะที่อยู่กลางตัวของเรา (ไขมันช่องท้อง) เช่น ที่ตับ ไตและลำไส้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราอย่างมาก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า สิ่งที่จะต้องระมัดระวังและควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นคือ ภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติหรือ metabolic syndrome ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้จากภาวะความเสี่ยงใน 5 ข้อดังต่อไปนี้
1.ความดันโลหิตสูงกว่า 130/85
2.ระดับ triglyceride เกิน 150 mg/dl
3.ระดับ HDL cholesterol ต่ำกว่า 40 mg/dl สำหรับผู้ชาย หรือต่ำกว่า 50 mg/dl สำหรับผู้หญิง
4.เอวเกินกว่า 40 นิ้วสำหรับผู้ชายและ 35 นิ้วสำหรับผู้หญิง
5.ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 mg/dl
หากคุณเข้าข่ายใน 3 ข้อจาก 5 ข้อดังกล่าวก็สรุปได้ว่าคุณมีปัญหา metabolic syndrome แล้วและแน่นอนว่า ควรจะไม่เข้าข่ายใดเลยใน 5 ข้อข้างต้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดีเป็นเลิศ
สังเกตว่า 5 ข้อข้างต้น ไม่ได้กล่าวถึงระดับ LDL cholesterol ที่มักจะถูกกล่าวถึงว่า เป็นไขมัน “ไม่ดี” ตรงนี้ผมเข้าใจว่า การมี LDL cholesterol สูงเกินเกณฑ์นั้น ย่อมไม่ดีแน่นอน แต่ได้มีงานวิจัยที่แบ่งแยก LDL cholesterol เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่มีขนาดเล็กและแข็ง (small dense LDL) ขนาดกลาง และขนาดใหญ่แต่พองตัว (large fluffy LDL)
ประเภทแรกจะเป็น LDL ที่อันตราย เพราะจะฝังตัวอยู่ในผนังเส้นเลือด ยากที่ HDL cholesterol จะ “กวาด” ออกมาเอากลับไปเก็บเอาไว้ที่ตับ ซึ่งการประเมินว่าเราจะมี LDL ประเภทใดนั้น พอดูได้จากระดับของ Triglycerides กล่าวคือ หากระดับ Triglycerides สูงก็แปลว่า LDL cholesterol จะเป็นประเภทขนาดเล็กและแข็ง
ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจในอนาคต จึงคาดการณ์ได้จากการคำนวณสัดส่วนของ Triglycerides กับ HDL cholesterol โดยมีมาตรฐาน ดังนี้
- ดีเลิศคือ 1:1 หรือต่ำกว่า
- ความเสี่ยงต่ำ 2:1
- ความเสี่ยงระดับกลาง 3:1
- ความเสี่ยงสูง 4:1 หรือสูงกว่า
การกินน้ำตาลมาก จะนำไปสู่ปัญหาการมีไขมันมากเกินไป ทำให้เป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา (NAFLD)
ที่งานวิจัยพบว่า โรคไขมันพอกตับพบบ่อยมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน กล่าวคือ ความชุกของโรคดังกล่าวสูงถึง 70% ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และการป่วยดังกล่าวจะลามไปสู่การอักเสบในตับ ซึ่งอาจมีพังผืดเกิดขึ้น จากนั้นก็จะเกิดอาการอักเสบเรื้อรังที่สามารถพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งที่ตับได้
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Clinical and Molecular Hepatology เมื่อ ต.ค.2565 ประเมินว่าการป่วยเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จะทำให้การเป็นโรค NAFLD เพิ่มขึ้น
ประชากรที่เป็น NAFLD คิดเป็นสัดส่วนของประชากรทั้งหมดประมาณ 18.2% ในปี 2533 เพิ่มขึ้นเป็น 38.9% ในปี 2563 และจะสูงถึง 55.7% ในปี 2583 โดยกลุ่มที่จะเป็นโรค NAFLD เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือคนที่อายุเกิน 50 ปี คนเอเชีย และผู้หญิง.