สุขภาพแข็งแรง+อายุยืน (5) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ยาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้เป็น “ยารักษาโรคเบาหวาน” แต่มีผลข้างเคียงคือช่วยลดน้ำหนักตัวได้ประมาณ 15% ได้รับความนิยมมากจนขาดตลาด และยังมีขายอย่างจำกัดในประเทศ เช่น นอร์เวย์ เดนมาร์ก เยอรมนี และสหรัฐ
มีรายงานข่าวบอกว่าคุณหมอสั่งยานี้ให้กับคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่ต้องการลดน้ำหนัก ทำให้มีการสั่งยานี้สัปดาห์ละ 62,000 ใบ
ต่อมาบริษัท Novo Nordisk ผู้ผลิตยารักษาโรคเบาหวานที่ว่านี้ จึงได้ผลิตยาที่เปลี่ยนชื่อใหม่แต่ใช้ตัวยาเดิมที่มีตัวยามากกว่าและได้รับการอนุมัติเป็นยาลดความอ้วนสำหรับคนที่เป็นโรคอ้วน (obesity) แต่แน่นอนว่า คนที่อยากลดน้ำหนักก็ยิ่งไปแย่งซื้อยาดังกล่าว ทำให้มีใบสั่งยาเฉลี่ย 94,000 ใบต่อสัปดาห์
อีกบริษัทหนึ่งที่เป็นคู่แข่งของ Novo Nordisk คือ Eli Lilly ผลิตยาอีกยี่ห้อหนึ่งเพื่อรักษาโรคเบาหวาน และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ค.2565 ต่อมาในวันที่ 8 พ.ย. คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐได้รับขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ล่าสุดเพื่อรักษาโรคอ้วน
โดยยาชื่อใหม่นี้ก็ใช้ตัวยาเดียวกันกับยารักษาโรคเบาหวานเดิมของ Eli Lilly ซึ่งน่าจะได้รับความนิยมไม่แพ้กับยาของ Novo Nordisk เพราะผลงานวิจัยพบว่าช่วยลดน้ำหนักตัวได้เฉลี่ยมากถึง 21% หากใช้โดสสูงสุด บางคนน้ำหนักตัวลดลงมากถึง 21.8 กิโลกรัม
ที่ผมไม่ได้ระบุชื่อยาลงไปก็เพราะ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ระบุห้ามโฆษณายาต่อประชาชนทั่วไป หากระบุชื่อยาก็จะมีความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษปรับ จึงต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านที่อาจจะทำให้เข้าใจเรื่องยากขึ้นและได้รับข้อมูลน้อยลง
ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา Novo Nordisk ได้รายงานผลการทดลองใช้ยาลดความอ้วนดังกล่าว ว่านอกจากจะช่วยลดความอ้วนแล้วก็ยังลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้มากถึง 20% ผลของการทดลองดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นของทั้ง Eli Lilly และ Novo Nordisk ขึ้นไปประมาณ 15%
ทั้งนี้เพราะนักวิเคราะห์ JP Morgan คาดการณ์ว่ายารักษาโรคเบาหวานและลดความอ้วน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจนั้น จะมียอดขายสูงถึง 71,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2573 โดยประเมินว่าทั้งสองบริษัทจะมียอดขายยาประเภทนี้บริษัทละ 33,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันซึ่ง Novo Nordisk มียอดขายประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ยอดขายเพิ่มขึ้นไปแล้ว 700% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า)
กล่าวคือ หากประมาณการอย่างคร่าวๆ นักวิเคราะห์มองว่ายอดขายของยาประเภทนี้น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9 เท่าตัวได้ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ยารักษาโรคเบาหวานและลดความอ้วนนี้ เป็นยาที่เรียกว่า Glucagon-like peptide 1 (GLP-1) agonists แปลให้เข้าใจคือ เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากลำไส้เล็ก เมื่อฉีดเข้าไปที่ใต้ผิวหนัง (ท้อง) ร่างกายก็จะได้รับ GLP-1 เพิ่มขึ้นไปมากกว่าปกติประมาณ 5 เท่าตัว (คนที่เป็นโรคอ้วนไม่ได้มี GLP-1 ต่ำกว่าปกติ)
ผลที่ตามมาคือ จะทำให้รู้สึกอิ่ม นอกจากนั้น ระบบย่อยอาหารก็จะทำงานช้าลง จึงทำให้รู้สึกท้องเต็มจะอิ่มนานขึ้น แน่นอนว่ายานี้กระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้นด้วย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเพื่อช่วยรักษาโรคเบาหวาน
จะเห็นได้ว่า GLP-1 นั้น ส่งผลต่ออวัยวะของเราหลายอวัยวะ คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร สมอง ตับอ่อนและแม้กระทั่งหัวใจ ที่น่าสนใจคือยังได้นำเอายาประเภท GLP-1 มาทดลองดูว่าช่วยลด Amyloid Beta และ Tau โปรตีนที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้จริงหรือไม่
แน่นอนว่าเมื่อมีกระแสนิยมยาประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ก็กำลังมีการพัฒนาต่อยอดยาดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกมาก
เช่น การเติม GIP เข้าไปเสริม GLP-1 ในยารักษาโรคเบาหวานและลดความอ้วนของ Eli Lilly ที่กำลังพัฒนายารุ่นใหม่มีทั้ง GLP-1, GIP และ Glucagon รวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งจากการทดลองเฟส 2 พบว่าทำให้ลดน้ำหนักตัวได้มากถึง 24% หลังจากการใช้ยาดังกล่าว 48 สัปดาห์
ผลที่ตามมาคือ มีการผลิตยาเถื่อนเลียนแบบยาดังกล่าว Wall Street Journal รายงานว่ามีกว่า 50 เว็บที่ขายยาลอกเลียนยาดังกล่าว ทั้งๆ ที่ตามกระบวนการปกตินั้น ยาที่ว่านี้คงจะต้องรอการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องต่อไปอีก 3 ปีในปี 2569
ในขณะเดียวกัน Novo Nordisk ก็ได้พัฒนายารักษาโรคเบาหวานและลดความอ้วนชนิดเม็ด แทนการฉีดเข้าที่ใต้ผิวหนัง และปัจจุบันคาดการณ์ว่ามียาประมาณ 50 ชนิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองเพื่อรักษาโรคเบาหวาน (และลดความอ้วน)
แล้วยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงและผลเสียอะไรบ้าง? คำตอบคือประมาณ 20% เกิดอาการแพ้ยาในลักษณะต่างๆ เช่น การคลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ฯลฯ ที่ดูน่าเป็นห่วงคือการที่น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วนั้น พบว่าเกือบ 40% เป็นการลดลงของกล้ามเนื้อและกระดูก (lean mass) ที่เหลือ 60% เป็นการลดลงของไขมันในร่างกาย
กล่าวคือ การใช้ยาดังกล่าวจะต้องทำไปพร้อมกับการเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อ ตลอดจนเพิ่มการกินอาหารประเภทโปรตีน ดังนั้น ยาประเภทนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ (เกิน 65 ปีขึ้นไป) ที่มักจะมีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อและกระดูกจะเสื่อมถอยไปมากแล้ว
นอกจากนั้น ก็ยังมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 พบว่าคนเป็นโรคอ้วนที่ใช้ยาของ Novo Nordisk นั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการตับอ่อนอักเสบมากถึง 4.6 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่เป็นโรคอ้วนแต่ไม่ได้ใช้ยาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจมากที่สุดคือการที่ยารักษาโรคเบาหวานและลดความอ้วน ส่งผลดีมากมายกับการรักษาสุขภาพ ซึ่งผมจะขอขยายความเรื่องนี้ในตอนต่อไปครับ